Friday, July 1, 2022

เถรานุเถระ-ภิกษุเถรานุเถระ

 

เถรานุเถระ-ภิกษุเถรานุเถระ



       เถรานุเถระ - พระเถระผู้ใหญ่ผู้น้อย 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

เถรานุเถระ 

       อ่านว่า เถ-รา-นุ-เถ-ระ 

       ประกอบด้วย เถร + อนุเถระ 

* * * ( 1 ) “เถร” (เถ-ระ) รากศัพท์มาจาก – 

       (1) ฐา ( ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่ ) + อิร ปัจจัย, ลบ อา ที่ ฐา ( ฐา > ฐ ) , แปลง ฐ เป็น ถ , แผลง อิ ที่ อิ- ( ร ) เป็น เอ  

       : ฐา > ฐ + อิร = ฐิร > ถิร > เถร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคงอยู่” ( ถ้าเป็นพระก็คือยังไม่มรณภาพ หรือยังไม่ลาสิกขา )  


       ( 2 ) ถิร ( ธาตุ = มั่นคง ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ถิ-( ร ) เป็น เอ

       : ถิร + ณ = ถิรณ > ถิร > เถร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มั่นคง” ( ดำรงเพศภิกษุอยู่อย่างมั่นคง , มีจิตใจมั่นคง )  


       ( 3 ) ถุ ( ธาตุ = สรรเสริญ , ชมเชย ) + อิร ปัจจัย , ลบ อุ ที่ ถุ , แผลง อิ ที่ อิ- ( ร ) เป็น เอ 

       : ถุ > ถ + อิร = ถิร > เถร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้น่าสรรเสริญยกย่อง” 

       “เถร” ( เป็นคำนาม ) หมายถึง พระเถระ , พระผู้ใหญ่ , พระภิกษุผู้มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ; ( เป็นคำคุณศัพท์ ) หมายถึง ผู้เป็นพระเถระ , ผู้แก่ , ผู้เฒ่า , ผู้ใหญ่ 



* * * ( 2 ) “อนุเถร” ( อะ-นุ-เถ-ระ ) มาจาก อนุ ( น้อย , ภายหลัง , ตาม ) + เถร = อนุเถร แปลตามศัพท์ว่า “พระเถระชั้นรอง” หมายถึง เป็นพระเถระตามเกณฑ์ เช่นมีพรรษา 10 แล้ว แต่เมื่ออยู่ในหมู่พระเถระด้วยกันยังมีพระเถระที่อาวุโสมากกว่า 

       เถร + อนุเถร = เถรานุเถร แปลทับศัพท์ว่า “พระเถระและพระอนุเถระ”

       พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “เถรานุเถร” เป็นอังกฤษว่า senior monks in general 

       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “เถรานุเถร” ว่า seniors & those next to them in age dating not from birth, but from admission to the Order ( ภิกษุชั้นพระเถระและอนุเถระ โดยนับพรรษาที่บวชมา มิใช่นับอายุ ) 

       เถรานุเถร เขียนแบบไทยเป็น “เถรานุเถระ” 

       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

       “เถรานุเถระ : ( คำนาม ) พระเถระผู้ใหญ่ผู้น้อย. ( ป. )” 

       พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [ 322 ] แสดง เถรธรรม – คุณสมบัติที่ทำให้เป็นพระเถระ 10 ประการ ดังนี้ : 

       1. เถโร รตฺตญฺญู ( เป็นผู้ใหญ่ บวชนาน รู้เห็นกิจการ ทรงจำเรื่องราวไว้ได้มาก — Thero rattaññū: to be an elder monk of long experience ) 

       2. สีลวา ( มีศีล เคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย — Sīlavā: to be virtuous; to have good conduct ) 

       3. พหุสฺสุโต ( เป็นพหูสูตทรงความรู้ — Bahussuto: to be much learned ) 

       4. สฺวาคตปาฏิโมกฺโข ( ทรงปาฏิโมกข์ รู้หลักแห่งวินัย แคล่วคล่อง ชำนิชำนาญ สามารถวินิจฉัยได้ด้วยดี — Svāgatapāṭimokkho: to be well versed in the codes of discipline ) 

       5. อธิกรณสมุปฺปาทวูปสมกุสโล ( ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น — Adhikaraṇasamuppādavūpasamakusalo: to be skilled in settling a legal question that has arisen ) 

       6. ธมฺมกาโม ( เป็นผู้ใคร่ธรรม รักความรู้ รักความจริง รู้จักรับฟังและรู้จักพูด ทำให้เป็นที่ชื่นชมสนิทสนมสบายใจ น่าเข้าไปปรึกษาสนทนา และชอบศึกษา ยินดีปรีดาในหลักธรรมหลักวินัยที่ยิ่งๆ ขึ้นไป — Dhammakāmo: to love the Dhamma , be pleasant to consult and converse with, and find joy in the advanced teaching of both the Doctrine and the Discipline )

       7. สนฺตุฏฺโฐ ( เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยสี่ตามมีตามได้ — Santuṭṭho: to be content with whatsoever supply of the four requisites he may get ) 

       8. ปาสาทิโก ( จะไปจะมา มีอาการกิริยาน่าเลื่อมใส แม้เข้าไปในละแวกบ้าน ก็สำรวมเป็นอันดี — Pāsādiko: to be charming and perfectly composed in his goings out and comings in and in sitting in the house ) 

       9. ฌานลาภี ( ได้แคล่วคล่องในฌาน 4 ที่เป็นเครื่องอยู่สุขสบายในปัจจุบัน — Jhānalābhī: to be able to gain pleasure of the Four Absorptions ) 

       10. วิมุตฺโต ( บรรลุเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ สิ้นอาสวะ — Vimutto: to have gained the Deliverance )  


———

       ในงานที่มีพระสงฆ์ไปชุมนุมกันอยู่ด้วย ผู้ประกาศในพิธีมักเอ่ยคำ เช่น “นมัสการพระเถรานุเถระที่เคารพ” เป็นต้น ในคำเช่นนี้มิได้หมายความว่าในสถานที่นั้นมีแต่พระภิกษุที่มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไปเท่านั้น ที่มีพรรษาต่ำกว่านั้นไม่มี หรือผู้พูดตั้งใจนมัสการเฉพาะพระภิกษุที่มีพรรษา 10 ขึ้นไปเท่านั้น ที่ต่ำกว่านั้นไม่นมัสการก็หาไม่

       คำว่า “พระเถรานุเถระ” ในที่เช่นนั้นย่อมหมายถึง “พระภิกษุทั้งปวง” โดยเอ่ยถึงพระภิกษุระดับพระเถระเป็นประธาน ละพระภิกษุระดับต่ำกว่าไว้ในฐานเข้าใจ 

       คือเถระ :

       อายุเป็นเพียงตัวเลข 

       ชั้นโทชั้นเอกเป็นหัวโขน 

       คุณธรรมประจำใจไม่เอนโอน 

       ตรงตลอดยอดถึงโคน-คือเถระ 


- จบ -