Friday, February 26, 2021

องค์ประกอบของทานที่ให้แล้วมีผลมาก ( นัยที่ 2 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง องค์ประกอบของทานที่ให้แล้วมีผลมาก ( นัยที่ 2 )


      ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี 4 อย่าง 4 อย่างเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ( ผู้ให้ ) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ( ผู้รับ )

       ( 2 ) บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

       ( 3 ) บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์

       ( 4 ) บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในข้อนี้ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันบาป อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างไร

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในข้อนี้ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเป็นบาป ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นอย่างไร

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเป็นบาป ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเป็นบาป อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา 4 อย่าง 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : องค์ประกอบของทานที่ให้แล้วมีผลมาก  /  หัวข้อย่อย : องค์ประกอบของทานที่ให้แล้วมีผลมาก ( นัยที่ 2 )  /  หัวข้อเลขที่ : 55  /  -บาลี จตุกฺก. อํ. 21/104/78.  /  หน้าที่ : 127 , 128  

- END - 

องค์ประกอบของทานที่ให้แล้วมีผลมาก ( นัยที่ 1 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง องค์ประกอบของทานที่ให้แล้วมีผลมาก ( นัยที่ 1 ) 


       ภิกษุทั้งหลาย!  อุบาสิกาชื่อนันทมารดาชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้นถวายทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ 6 ประการในภิกษุสงฆ์ มีสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นประมุข ก็ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ 6 ประการเป็นอย่างไร

       ภิกษุทั้งหลาย!  องค์ 3 ของผู้ให้ ( ทายก ) และ องค์ 3 ของผู้รับ ( ปฏิคาหก )

       องค์ 3 ของผู้ให้เป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) ก่อนให้เป็นผู้ดีใจ

       ( 2 ) กำลังให้อยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส

       ( 3 ) ครั้นให้แล้วย่อมปลื้มใจ

       นี้แล องค์ 3 ของผู้ให้

       องค์ 3 ของผู้รับเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ

       ( 2 ) เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ

       ( 3 ) เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ

       นี้แล องค์ 3  ของผู้รับ

       อย่างนี้แล องค์ 3 ของผู้ให้ และ องค์ 3 ของผู้รับ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ทักษิณาที่ประกอบด้วยองค์ 6 ประการ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล การถือประมาณบุญแห่งทักษิณาที่ประกอบด้วยองค์ 6 ประการอย่างนี้ว่า ห้วงบุญห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำสุขมาให้ มีอารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ดังนี้ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้บุญแห่งทักษิณานั้น ย่อมถึงการนับว่าเป็นห้วงบุญห้วงกุศลที่จะนับไม่ได้ประมาณไม่ได้ เป็นกองบุญใหญ่ทีเดียว เปรียบเหมือนการถือเอาประมาณแห่งน้ำในมหาสมุทรว่า เท่านี้อาฬหกะ เท่านี้ร้อยอาฬหกะ เท่านี้พันอาฬหกะ หรือเท่านี้แสนอาฬหกะ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้ น้ำในมหาสมุทรย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงน้ำที่จะนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เป็นห้วงน้ำใหญ่ทีเดียวฉะนั้น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )

       ผู้ให้ก่อนแต่จะให้เป็นผู้ดีใจ กำลังให้อยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้แล้วย่อมปลื้มใจ นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ

       ผู้รับเป็นผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คือ ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ ย่อมเป็นเขตที่สมบูรณ์แห่งการให้

       ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมากเพราะตนและเพราะผู้อื่น

       ผู้มีปัญญา มีศรัทธา เป็นบัณฑิต มีใจพ้นจากความตระหนี่ ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ไม่มีความเบียดเบียน 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : องค์ประกอบของทานที่ให้แล้วมีผลมาก  /  หัวข้อย่อย : องค์ประกอบของทานที่ให้แล้วมีผลมาก ( นัยที่ 1 )  /  หัวข้อเลขที่ : 54  /  -บาลี ฉกฺก. อํ. 22/375/308.  /  หน้าที่ : 124 , 125 , 126 

- END - 

ผู้รับทาน กับผลที่ได้ ( นัยที่ 2 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผู้รับทาน กับผลที่ได้ ( นัยที่ 2 ) 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ผ้าทอด้วยเปลือกปอ ถึงจะยังใหม่อยู่ สีก็ไม่งาม นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ ราคาก็ถูก แม้จะกลางใหม่กลางเก่าแล้ว สีก็ยังไม่งาม นุ่งห่มเข้าก็ยังเจ็บเนื้อ ราคาก็ถูกมาก แม้จะเก่าคร่ำแล้ว สีก็ยังไม่งาม นุ่งห่มเข้าก็ยังเจ็บเนื้อ ราคาก็ถูกมากอยู่นั่นเอง ผ้าเปลือกปอ ที่เก่าคร่ำแล้ว มีแต่จะถูกใช้เช็ดหม้อข้าว หรือทิ้งอยู่ตามกองขยะมูลฝอย นี้ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุที่ทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เพิ่งบวชใหม่ เราก็กล่าวว่า มีผิวพรรณไม่งาม เหมือนผ้าเปลือกปอ ที่มีสีไม่งามนั้นนั่นแหละ เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ

       อนึ่ง ชนเหล่าใด คบหา สมาคม เข้าใกล้ ทำตามเยี่ยงอย่างของภิกษุนั้น ข้อนั้น จะเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์แก่ชนเหล่านั้นเองตลอดกาลนาน

       เราจึงกล่าวภิกษุนั้นว่า ใครใกล้ชิดเข้าก็เจ็บเนื้อ เหมือนผ้าเปลือกปอ นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ ฉะนั้น เรากล่าวภิกษุนี้ว่ามีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ

       อนึ่ง ภิกษุนั้น รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรคของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อม
ไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่แก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือกปอ มีราคาถูก ฉะนั้น เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ

       ภิกษุทั้งหลาย!  แม้ภิกษุ มัชฌิมภูมิ ( ยังไม่เป็นเถระ ) เมื่อเป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็เป็นอย่างเดียวกัน เรากล่าวว่า มีผิวพรรณไม่งาม เหมือนผ้าเปลือกปอ ที่มีสีไม่งามนั้นนั่นแหละ เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ

       อนึ่ง ชนเหล่าใด คบหา สมาคม เข้าใกล้ ทำตามเยี่ยงอย่างของภิกษุนั้น ข้อนั้น จะเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์แก่ชนเหล่านั้นเอง ตลอดกาลนาน เราจึงกล่าวภิกษุนั้นว่า ใครใกล้ชิดเข้าก็เจ็บเนื้อ เหมือนผ้าเปลือกปอ นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ ฉะนั้น เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ

       อนึ่ง ภิกษุนั้น รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ ยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรคของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่แก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือกปอ มีราคาถูก ฉะนั้น เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ

       ภิกษุทั้งหลาย!  แม้ภิกษุ ผู้เป็นเถระ เมื่อเป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็เป็นอย่างเดียวกัน เรากล่าวว่า มีผิวพรรณไม่งาม เหมือนผ้าเปลือกปอ ที่มีสีไม่งามนั้นนั่นแหละ เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ

       อนึ่ง ชนเหล่าใด คบหา สมาคม เข้าใกล้ ทำตามเยี่ยงอย่างของภิกษุนั้น ข้อนั้น จะเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์แก่ชนเหล่านั้นเอง ตลอดกาลนาน เราจึงกล่าวภิกษุนั้นว่า ใครใกล้ชิดเข้าก็เจ็บเนื้อ เหมือนผ้าเปลือกปอ นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ ฉะนั้น เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ

       อนึ่ง ภิกษุนั้น รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรคของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่แก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือกปอ มีราคาถูก ฉะนั้น เรากล่าวภิกษุนี้ว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ

       อนึ่ง ภิกษุเถระชนิดนี้ กล่าวอะไรขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็จะว่าให้ว่า “ประโยชน์อะไรด้วยคำพูดของท่าน ซึ่งเป็นคนพาล คนเขลา คนอย่างท่านหรือจะรู้จักสิ่งที่ควรพูด” ดังนี้ ภิกษุเถระนั้น ถูกเขาว่าให้ก็โกรธ แค้นใจ กล่าววาจาหยาบออกมา โดยอาการที่ทำให้ตนต้องถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมในภายหลัง จึงเป็นเหมือนผ้าเปลือกปอเก่าคร่ำ ที่เขาทิ้งเสียตามกองขยะมูลฝอย ฉะนั้นแล 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ควรให้ทานที่ใด  /  หัวข้อย่อย : ผู้รับทาน กับผลที่ได้ ( นัยที่ 2 )  /  หัวข้อเลขที่ : 52  /  -บาลี ติก. อํ. 20/317/539.  /  หน้าที่ : 119 , 120 , 121   

- END - 

ผู้รับทาน กับผลที่ได้ ( นัยที่ 1 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผู้รับทาน กับผลที่ได้ ( นัยที่ 1 )

       ลำดับนั้น สัจจกนิครนถ์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงบอกพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า เจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า พระโคดม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ข้าพเจ้านิมนต์แล้วเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ พวกท่านจะนำอาหารใดมาเพื่อข้าพเจ้า จงเลือกอาหารที่ควรแก่พระโคดมเถิด.

       เมื่อล่วงราตรีนั้นแล้ว เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ได้นำภัตตาหารประมาณห้าร้อยสำรับไปให้แก่สัจจกนิครนถ์ สัจจกนิครนถ์ให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีตในอารามของตนเสร็จแล้ว จึงให้ทูลบอกกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม เวลานี้เป็นกาลอันควร ภัตตาหารสำเร็จแล้ว

       ครั้งนั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตรจีวรเสด็จไปสู่อารามแห่งสัจจกนิครนถ์ ประทับบนอาสนะที่ปูลาดไว้ถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์

       ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์ถวายภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยมือของตน ให้อิ่มหนำสำราญแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ นำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว สัจจกนิครนถ์จึงถือเอาอาสนะต่ำ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดม ! ขอบุญและผลบุญในทานนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายกทั้งหลายเถิด

       อัคคิเวสสนะ !  บุญและผลบุญในทานนี้ อาศัยทักขิเณยยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับท่าน จักมีแก่ทายกทั้งหลาย ส่วนบุญและผลบุญอาศัยทักขิเณยยบุคคลที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับเรา จักมีแก่ท่าน ฉะนี้แล 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ควรให้ทานที่ใด  /  หัวข้อย่อย : ผู้รับทาน กับผลที่ได้ ( นัยที่ 1 )  /  หัวข้อเลขที่ : 52  /  -บาลี มู. ม. 12/433/403.  /  หน้าที่ : 118 

- END - 

นาดี หรือ นาเลว

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง นาดี หรือ นาเลว 


      ภิกษุทั้งหลาย!  พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยลักษณะ 8 อย่าง ย่อมไม่ให้ผลมาก ไม่ให้ความพอใจมาก ไม่ให้กำไรมาก ประกอบด้วยลักษณะ 8 อย่างเป็นอย่างไร คือ

       นาในกรณีนี้ พื้นที่ลุ่มๆ ดอนๆ เต็มไปด้วยก้อนหินและก้อนกรวด ดินเค็ม ไถให้ลึกไม่ได้ ไม่มีทางน้ำเข้า ไม่มีทางน้ำออก ไม่มีเหมือง ไม่มีหัวคันนา นี้ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ 8 อย่างเหล่านี้ เป็นทานไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก ประกอบด้วยองค์ 8 อย่างเป็นอย่างไร คือ

       สมณพราหมณ์ในกรณีนี้ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาสังกัปปะ มีมิจฉาวาจา มีมิจฉากัมมันตะ มีมิจฉาอาชีวะ มีมิจฉาวายามะ มีมิจฉาสติ มีมิจฉาสมาธิ

       ภิกษุทั้งหลาย! ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ 8 อย่างอย่างนี้ เป็นทานไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก

       ภิกษุทั้งหลาย!  พืชที่หว่านลงในนาที่ประกอบด้วยลักษณะ 8 อย่าง ย่อมให้ผลมาก ให้ความพอใจมาก ให้กำไรมาก ประกอบด้วยลักษณะ 8 อย่างเป็นอย่างไร คือ

       นาในกรณีนี้ พื้นที่ไม่ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เต็มไปด้วยก้อนหินและก้อนกรวด ดินไม่เค็ม ไถให้ลึกได้ มีทางน้ำเข้า มีทางน้ำออก มีเหมือง มีหัวคันนา นี้ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ 8 อย่างเหล่านี้ เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก แผ่ไพศาลมาก ประกอบด้วยองค์ 8 อย่างเป็นอย่างไร คือ

       สมณพราหมณ์ในกรณีนี้ เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาอาชีวะ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ

       ภิกษุทั้งหลาย! ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ที่ประกอบด้วยองค์ 8 อย่างอย่างนี้เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก แผ่ไพศาลมาก

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ควรให้ทานที่ใด  /  หัวข้อย่อย : นาดี หรือ นาเลว  /  หัวข้อเลขที่ : 51  /  -บาลี อฏฐฺก. อํ. 23/241/124.  /  หน้าที่ : 116 , 117 

- END - 

ไม่ควรห้ามผู้อื่นให้ทาน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ไม่ควรห้ามผู้อื่นให้ทาน 

      วัจฉะ!  ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็น อมิตร ผู้ทำอันตรายต่อสิ่ง 3 สิ่ง คือ

       ( 1 ) ทำอันตรายต่อบุญของทายก ( ผู้ให้ )

       ( 2 ) ทำอันตรายต่อลาภของปฏิคาหก ( ผู้รับ )

       ( 3 ) และตัวเองก็ขุดรากตัวเอง กำจัดตัวเองเสียตั้งแต่แรกแล้ว

       วัจฉะ!  ผู้ที่ห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ชื่อว่าเป็นอมิตร ผู้ทำอันตรายสิ่ง 3 สิ่ง ดังนี้แล

       วัจฉะ!  เราเองย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า “ผู้ใด เทน้ำล้างหม้อหรือน้ำล้างชามก็ตาม ลงในหลุมน้ำครำ หรือทางน้ำโสโครกซึ่งมีสัตว์มีชีวิตเกิดอยู่ในนั้น ด้วยคิดว่าสัตว์ในนั้นจะได้อาศัยเลี้ยงชีวิต ดังนี้แล้ว เราก็ยังกล่าวว่า นั่นเป็นทางมาแห่งบุญ เพราะการทำแม้เช่นนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่มนุษย์ด้วยกัน” ดังนี้

       อีกอย่างหนึ่ง เรากล่าวว่าทานที่ให้แก่ผู้มีศีล เป็นทานมีผลมาก ทานที่ให้แก่ผู้ทุศีล หาเป็นอย่างนั้นไม่ และผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละเสียซึ่งองค์ 5 และประกอบอยู่ด้วยองค์ 5 

       ละองค์ 5 คือ

       ( 1 ) ละกามฉันทะ

       ( 2 ) ละพยาบาท

       ( 3 ) ละถีนมิทธะ ( หดหู่ซึมเซา ) 

       ( 4 ) ละอุทธัจจกุกกุจจะ ( ฟุ้งซ่านรำคาญ )

       ( 5 ) ละวิจิกิจฉา ( ลังเลสงสัย ) 

       ประกอบด้วยองค์ 5 คือ

       ( 1 ) ประกอบด้วยกองศีลชั้นอเสขะ ( คือชั้นพระอรหันต์ )

       ( 2 ) ประกอบด้วยกองสมาธิชั้นอเสขะ

       ( 3 ) ประกอบด้วยกองปัญญาชั้นอเสขะ 

       ( 4 ) ประกอบด้วยกองวิมุตติชั้นอเสขะ

       ( 5 ) ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะชั้นอเสขะ

       เรากล่าวว่าทานที่ให้ในบุคคลผู้ละองค์ 5 และประกอบด้วยองค์ 5 ด้วยอาการอย่างนี้ มีผลมาก ดังนี้

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ควรให้ทานที่ใด  /  หัวข้อย่อย : ไม่ควรห้ามผู้อื่นให้ทาน  /  หัวข้อเลขที่ : 50  /  -บาลี ติก. อํ. 20/205/497.  /  หน้าที่ : 114 , 115

- END - 


ควรให้ทานในที่ใด ( นัยที่ 2 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ควรให้ทานในที่ใด ( นัยที่ 2 ) 

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ทานประจำสกุลวงศ์ข้าพระองค์ยังให้อยู่ แต่ว่าทานนั้นข้าพระองค์ให้เฉพาะหมู่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือปฏิบัติอรหัตตมรรค ที่อยู่ป่า ที่ถือบิณฑบาต ที่ถือผ้าสุกุลเป็นวัตร

       คหบดี!  ข้อที่จะรู้ว่าคนเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือปฏิบัติอรหัตตมรรคนั้น เป็นสิ่งที่รู้ได้ยากสำหรับท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม ผู้ยังมีการนอนเบียดบุตร บริโภคใช้สอยกระแจะจันทน์และผ้าจากเมืองกาสี ทัดทรงมาลาเครื่องกลิ่นและเครื่องผัดทา ยินดีอยู่ด้วยทองและเงิน

       คหบดี!  ถึงแม้ภิกษุจะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถ้าเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว กลับกลอก พูดมาก มีวาจาไม่แน่นอน มีสติลืมหลง ปราศจากสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด มีอินทรีย์อันปล่อยแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น ควรถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ

       คหบดี!  ถึงแม้ภิกษุจะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถ้าเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่กลับกลอก ไม่พูดมาก มีวาจาแน่นอน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ มีเอกัคคตาจิต ( จิตมีอารมณ์เดียว ) สำรวมอินทรีย์ ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น อันใครๆ ควรสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

       คหบดี!  ถึงแม้ภิกษุจะเป็นผู้อยู่ใกล้บ้านก็ดี ... บิณฑบาตเป็นวัตรก็ดี ... ฉันในที่นิมนต์ก็ดี ... ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรก็ดี ... นุ่งห่มคหบดีจีวรก็ดี ถ้าเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว กลับกลอก พูดมาก มีวาจาไม่แน่นอน มีสติลืมหลง ปราศจากสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด มีอินทรีย์อันปล่อยแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น ควรถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ

       คหบดี!  ถึงแม้ภิกษุจะเป็นผู้อยู่ใกล้บ้านก็ดี ... บิณฑบาตเป็นวัตรก็ดี ... ฉันในที่นิมนต์ก็ดี ... ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรก็ดี ... นุ่งห่มคหบดีจีวรก็ดี ถ้าเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่กลับกลอก ไม่พูดมาก มีวาจาแน่นอน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ มีเอกัคคตาจิต สำรวมอินทรีย์ ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้นอันใครๆ ควรสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ

       เอาละ คหบดี!  ท่านจงถวายทานในสงฆ์เถิด เมื่อท่านถวายทานในสงฆ์อยู่ จิตจักเลื่อมใส ท่านเป็นผู้มีจิตอันเลื่อมใสแล้ว ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  จำเดิมแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์จะถวายทานในสงฆ์ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ควรให้ทานที่ใด  /  หัวข้อย่อย : ควรให้ทานในที่ใด ( นัยที่ 2 )  /  หัวข้อเลขที่ : 49  /  -บาลี ฉกฺก. อํ. 22/436-438/330.  /  หน้าที่ : 112 , 113 

- END - 



ควรให้ทานในที่ใด ( นัยที่ 1 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ควรให้ทานในที่ใด ( นัยที่ 1 ) 

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ทาน บุคคลพึงให้ในที่ไหนหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ทาน บุคคลพึงให้ในที่ไหนหนอ

       มหาราช!  จิตย่อมเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ในที่นั้น

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก

       มหาราช!  ทานพึงให้ในที่ไหนนั่นเป็นข้อหนึ่ง และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง

       มหาราช!  ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแล มีผลมาก  ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหามีผลมากไม่

       มหาราช!  ด้วยเหตุนั้น เราจักย้อนถามพระองค์ในปัญหากรรมข้อนั้นบ้าง พระองค์พอพระทัยอย่างใด พึงตอบอย่างนั้น

       มหาราช !  พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ณ ที่นี้การยุทธพึงปรากฏเฉพาะหน้าแด่พระองค์ สงครามพึงปะทะกัน ถ้าว่ากุมารที่เป็นกษัตริย์ ... ที่เป็นพราหมณ์ ... ที่เป็นแพศย์ ... ที่เป็นศูทร เป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้หัดมือ ไม่ได้รับความชำนาญ ไม่ได้ประลองการยิง เป็นคนขลาด เป็นคนมักสั่น เป็นคนมักสะดุ้ง เป็นคนมักวิ่งหนี พึงมาอาสาไซร้ พระองค์ พึงทรงชุบเลี้ยงบุรุษนั้นหรือ และพระองค์พึงทรงต้องการบุรุษเช่นนั้นหรือ

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ข้าพระองค์ไม่พึงชุบเลี้ยงบุรุษนั้น และข้าพระองค์ไม่พึงต้องการบุรุษเช่นนั้นแล

       มหาราช!  พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ณ ที่นี้การยุทธพึงปรากฏแก่พระองค์ สงครามพึงปะทะกัน ถ้าว่ากุมารที่เป็นกษัตริย์ ... ที่เป็นพราหมณ์ ... ที่เป็นแพศย์ ... ที่เป็นศูทร เป็นผู้ศึกษาดีแล้ว ได้หัดมือแล้ว ได้รับความชำนาญแล้ว ได้ประลองการยิงมาแล้ว ไม่เป็นคนขลาด ไม่เป็นคนสั่น ไม่เป็นคนสะดุ้ง ไม่เป็นคนมักวิ่งหนี พึงมาอาสาไซร้ พระองค์พึงทรงชุบเลี้ยงบุรุษนั้นหรือ และพระองค์พึงทรงมีพระประสงค์บุรุษเช่นนั้นหรือ

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  หม่อมฉันพึงชุบเลี้ยงบุรุษนั้น และหม่อมฉันพึงต้องการบุรุษเช่นนั้น

       มหาราช!  ฉันนั้นก็เหมือนกัน แม้หากว่า กุลบุตรออกจากเรือน ตระกูลไรๆ เป็นผู้บวชหาเรือนมิได้ และกุลบุตรนั้น เป็นผู้มีองค์ 5 อันละได้แล้ว เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยองค์ 5  ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรนั้น ย่อมเป็นทานมีผลมาก

       องค์ 5 อันกุลบุตรนั้นละได้แล้วเป็นอย่างไร

       ( 1 ) กามฉันทะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว

       ( 2 ) พยาบาทอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว

       ( 3 ) ถีนมิทธะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว

       ( 4 ) อุทธัจจกุกกุจจะอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว

       ( 5 ) วิจิกิจฉาอันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว

       เหล่านี้แล องค์ 5 อันกุลบุตรนั้นละได้แล้ว

       กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างไร

       ( 1 ) เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ

       ( 2 ) เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ

       ( 3 ) เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ

       ( 4 ) เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยกองวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ

       ( 5 ) เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ

       กุลบุตรนั้น เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยองค์ 5 เหล่านี้ ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรผู้มีองค์ 5 อันละได้แล้วและเป็นผู้ประกอบแล้วด้วยองค์ 5 อย่างนี้ ย่อมมีผลมาก

- - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )

       ศิลปะการยิงแม่น กำลังเข้มแข็ง และความกล้าหาญ มีอยู่ในชายหนุ่มผู้ใด พระราชาผู้ทรงพระประสงค์ด้วยการยุทธ พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มเช่นนั้น ไม่พึงทรงชุบเลี้ยงชายหนุ่มผู้ไม่กล้าหาญ เพราะเหตุแห่งชาติฉันใด

       ธรรมะคือขันติและโสรัจจะ ตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด บุคคลพึงบูชาบุคคลนั้น ผู้มีปัญญา มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะแม้มีชาติทราม ฉันนั้นเหมือนกัน

       พึงสร้างอาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์ ยังผู้พหูสูตทั้งหลาย ให้สำนักอยู่ ณ ที่นั้น พึงสร้างบ่อนำไว้ในป่าที่กันดารน้ำ และสะพานในที่เป็นหล่ม พึงถวายข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะในท่านผู้ซื่อตรงทั้งหลายด้วยน้ำใจอันผ่องใส

       เมฆมีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ มียอดตั้งร้อยกระหึ่มอยู่ ยังแผ่นดินให้โชกชุ่มอยู่ ย่อมยังที่ดอนและที่ลุ่มให้เต็ม แม้ฉันใด

       ทายกผู้มีศรัทธา เป็นบัณฑิตได้ฟังแล้ว ย่อมจัดหาโภชนาหารมาเลี้ยงวณิพก ด้วยข้าว น้ำให้อิ่มหนำ บันเทิงใจ เที่ยวไปในโรงทาน สั่งว่าท่านทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้ดังนี้ และทายกนั้นบันลือเสียงเหมือนเสียงกระหึ่มแห่งเมฆเมื่อฝนกำลังตก ฉะนั้น ธารแห่งบุญอันไพบูลย์นั้น ย่อมยังทายกให้ชุ่มชื่น

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ควรให้ทานที่ใด  /  หัวข้อย่อย : ควรให้ทานในที่ใด ( นัยที่ 1 )  /  หัวข้อเลขที่ : 48  /  -บาลี สคาถ. สํ. 15/143/405.  /  หน้าที่ : 108 , 109 , 110 , 111  

- END - 




Thursday, February 25, 2021

กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน 

      เรื่องมีอยู่ว่าภิกษุ 2 รูปทะเลาะกัน คือรูปหนึ่งหาว่าอีกรูปหนึ่งต้องอาบัติแล้วไม่เห็นอาบัติ จึงพาพวกมาประชุมสวดประกาศลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น แต่ละรูปต่างก็มีเพื่อนฝูงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย และต่างก็หาว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ถูก ถึงกับสงฆ์แตกกันเป็นสองฝ่าย และแยกทำอุโบสถ แม้พระผู้พระภาคจะทรงแนะนำ ตักเตือนให้ประนีประนอมกันก็ไม่ฟัง ในที่สุดถึงกับทะเลาะวิวาทและแสดงอาการทางกายทางวาจาที่ไม่สมควรต่อกัน พระผู้มีพระภาคจึงทรงตักเตือน

       ภิกษุทั้งหลาย!  พอที พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย อย่าทะเลาะกันเลย อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย

       มีภิกษุบางรูปทูลขึ้นว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า!  ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรมอยู่เถิดพระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วยการโต้เถียงกัน ด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง”

       พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำ นี้แก่ภิกษุเหล่านั้นเป็นคำรบ 2 ว่า 

       ภิกษุทั้งหลาย!  พอที พวกเธอทั้งหลาย อย่าหมายมั่นกันเลย อย่าทะเลาะกันเลย อย่าโต้เถียงกันเลย อย่าวิวาทกันเลย

       มีภิกษุบางรูปทูลคำนี้ขึ้นเป็นคำรบ 2 ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมสามี! ขอพระองค์จงหยุดไว้ก่อนเถิดพระเจ้าข้า ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิดพระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า! ขอจงทรงประกอบในสุขวิหารในทิฏฐธรรมอยู่เถิดพระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจักทำให้เห็นดำเห็นแดงกัน ด้วยการหมายมั่นกัน ด้วยการทะเลาะกัน ด้วยการโต้เถียงกัน ด้วยการวิวาทกัน อันนี้เอง”

       พระผู้มีพระภาคจึงทรงสั่งสอนให้ดูตัวอย่างทีฆาวุกุมาร แห่งแคว้นโกศลผู้คิดแก้แค้นพระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาสีในการที่จับพระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าทีฆีติไปทรมานประจานและประหารชีวิต เมื่อมีโอกาสจะแก้แค้นได้ก็ยังระลึกถึงโอวาทของบิดา ที่ไม่ให้เห็นแก่ยาว ( คือไม่ให้ผูกเวรจองเวรไว้นาน ) ไม่ให้เห็นแก่สั้น ( คือไม่ให้ตัดไมตรี ) และให้สำนึกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร จึงไว้ชีวิตพระเจ้าพรหมทัต แล้วกลับได้ราชสมบัติที่เสียไปคืนพร้อมทั้งได้พระราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัตด้วย

       ทรงสรุปว่า พระราชาที่จับศัสตราวุธยังทรงมีขันติและโสรัจจะได้ จึงควรที่ภิกษุทั้งหลายผู้บวชในธรรมวินัยนี้จะมีความอดทนและความสงบเสงี่ยม แต่ภิกษุเหล่านั้นก็มิได้เชื่อฟัง

       กาลนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองจีวร ถือบาตร เสด็จเข้าไปสู่เมืองโกสัมพี เพื่อบิณฑบาต ครั้นทรงเที่ยวบิณฑบาตในเมืองโกสัมพีแล้ว ภายหลังภัตตกาล กลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บบริขารขึ้นมาถือไว้ แล้วประทับยืน ตรัสคาถานี้ว่า

       คนไพร่ๆ ด้วยกัน ส่งเสียงเอ็ดตะโร แต่หามีคนไหนสำคัญตัวว่า เป็นพาลไม่ เมื่อหมู่แตกกัน ก็หาได้มีใครรู้สึกเป็นอย่างอื่น ให้ดีขึ้นไปกว่านั้นได้ไม่

       พวกบัณฑิตลืมตัว สมัครที่จะพูดตามทางที่ตนปรารถนาจะพูดอย่างไร ก็พูดพล่ามไปอย่างนั้น หาได้นำพาถึงกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกันไม่

       พวกใด ยังผูกใจเจ็บอยู่ว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ เวรของพวกนั้นย่อมระงับไม่ลง

       พวกใด ไม่ผูกใจเจ็บว่า ‘ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้เอาชนะเรา ได้ลักทรัพย์ของเรา’ เวรของพวกนั้นย่อมระงับได้

       ในยุคไหนก็ตาม เวรทั้งหลาย ไม่เคยระงับได้ด้วยการผูกเวรเลย แต่ระงับได้ด้วยไม่มีการผูกเวร ธรรมนี้เป็นของเก่าที่ใช้ได้ตลอดกาล

       คนพวกอื่น ไม่รู้สึกว่า ‘พวกเราจะแหลกลาญก็เพราะเหตุนี้’ พวกใด สำนึกตัวได้ในเหตุที่มีนั้น ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับได้ เพราะความรู้สึกนั้น

       ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยังมีได้ แม้แก่พวกคนกักขฬะเหล่านั้น ที่ปล้นเมืองหักแข้งขาชาวบ้าน ฆ่าฟันผู้คน แล้วต้อนม้า โค และขนเอาทรัพย์ไป แล้วทำไมจะมีแก่พวกเธอไม่ได้เล่า

       ถ้าหากไม่ได้สหายที่พาตัวรอด เป็นปราชญ์ที่มีความเป็นอยู่ดี เป็นเพื่อนร่วมทางแล้วไซร้ ก็จงทำตัวให้เหมือนพระราชาที่ละแคว้นซึ่งพิชิตได้แล้วไปเสีย แล้วเที่ยวไปคนเดียวดุจช้างมาตังคะ เที่ยวไปในป่าตัวเดียว ฉะนั้น

       การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันได้กับคนพาล พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่ทำบาป เป็นคนมักน้อย ดุจช้างมาตังคะ เป็นสัตว์มักน้อย เที่ยวไปในป่า ฉะนั้น

       ครั้นแล้วจึงเสด็จไปจากที่นั้นสู่พาลกโลณการกคาม สู่ป่าชื่อ ปาจีนวังสะโดยลำดับ ได้ทรงพบปะกับพระเถระต่างๆในที่ที่เสด็จไปนั้น ในที่สุดได้เสด็จไปพำนักอยู่ ณ โคนไม้สาละอันร่มรื่น ณ ป่าชื่อปาริเลยยกะ และได้มีพญาช้างชื่อปาริเลยยกะ มาอุปัฏฐากดูแลพระผู้มีพระภาค ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี

       ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีได้หารือกันดังนี้ว่า พระคุณเจ้าเหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพีนี้ ทำความพินาศใหญ่โตให้พวกเรา พระผู้มีพระภาคถูกท่านเหล่านี้รบกวนจึงเสด็จหลีกไปเสีย เอาละ พวกเราไม่ต้องอภิวาท ไม่ต้องลุกรับ ไม่ต้องทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่ต้องทำสักการะ ไม่ต้องเคารพ ไม่ต้องนับถือ ไม่ต้องบูชาซึ่งพระคุณเจ้า เหล่าภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาต ก็ไม่ต้องถวายบิณฑบาต ท่านเหล่านี้ถูกพวกเราไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะอย่างนี้ จักหลีกไปเสีย หรือจักสึกเสีย หรือจักให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรด ครั้นแล้วไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ ไม่ทำ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ซึ่งพวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี แม้เข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ถวายบิณฑบาต

       ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวพระนครโกสัมพี ถูกอุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพีไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา เป็นผู้ไม่มีสักการะ จึงพูดกันอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย! มิฉะนั้น พวกเราพึงไปพระนครสาวัตถี แล้วระงับอธิกรณ์นี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้ว เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตร จีวร พากันเดินทางไปพระนครสาวัตถี

       ภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากก็รู้สึกสำนึกผิด จึงพากันเดินทางไปกรุงสาวัตถีและยอมตกลงระงับข้อวิวาทแตกแยกกัน โดยภิกษุรูปที่เป็นต้นเหตุยอมแสดงอาบัติ ภิกษุฝ่ายที่สวดประกาศลงโทษ ยอมถอนประกาศ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ประชุมสงฆ์สวดประกาศระงับเรื่องนั้น เป็นสังฆสามัคคีด้วยทุติยกรรมวาจา เสร็จแล้วให้สวดปาติโมกข์  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผลกระทบทั้งดีและไม่ดีจากการให้ทานมีไหม  /  หัวข้อย่อย : กรณีศึกษาเรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกสามัคคีกัน  /  หัวข้อเลขที่ : 47  /  -บาลี มหา. วิ. 5/312/238.  /  หน้าที่ : 102 , 103 , 104 , 105 , 106  

- END - 


หลักการกำจัดเสี้ยนหนาม ( คนไม่ดี )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง หลักการกำจัดเสี้ยนหนาม ( คนไม่ดี )

      ( พระพุทธเจ้าตรัสกับกูฏทันตพราหมณ์ เล่าถึงเรื่องของพระเจ้ามหาวิชิตราชที่เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาเฝ้าเพื่อให้สอนวิธีการบูชามหายัญญ์ )

       พราหมณ์!  ปุโรหิตได้ทูลสนองพระดำรัสนั้นว่า แว่นแคว้นของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน การปล้นฆ่าในหมู่บ้านก็ยังปรากฏ การปล้นฆ่าในนิคมก็ยังปรากฏ การปล้นฆ่าในนครก็ยังปรากฏ การแย่งชิงตามระยะหนทางก็ยังปรากฏ และถ้าพระองค์จะให้เลิกเก็บส่วย ในขณะที่แว่นแคว้นเป็นไปด้วยเสี้ยนหนาม เต็มไปด้วยการเบียดเบียนเช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่าทำกิจไม่ควรทำ

       อีกประการหนึ่ง พระองค์อาจทรงพระดำริว่า เรากำจัดเสี้ยนหนาม คือ โจร ผู้ร้ายเสียได้ด้วยการประหาร การจองจำ การริบทรัพย์ การประจาน หรือการเนรเทศดังนี้ ข้อนี้ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการกำจัดได้ราบคาบด้วยดี เพราะผู้ที่ยังเหลือจากการถูกประหารก็ยังมี ชนพวกนี้จะเบียดเบียนชนบทของพระองค์ในภายหลัง

       แต่ว่ามีอุบายที่จะกำจัดเสี้ยนหนามเหล่านั้นให้ราบคาบด้วยดีได้ คือ

       ( 1 ) ชนเหล่าใดอุตสาหะในการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ขอพระองค์จงประทานพืชพันธุ์และอาหารแก่ชนเหล่านั้น

       ( 2 ) ชนเหล่าใดอุตสาหะในพาณิชยกรรม ขอพระองค์จงเพิ่มทุนให้ชนเหล่านั้น

       ( 3 ) ข้าราชการเหล่าใดอุตสาหะ ขอพระองค์จงประทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนแก่ชนเหล่านั้นในโอกาสอันสมควร

       ชนเหล่านั้นนั่นแหละ จักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตน ไม่เบียดเบียนแว่นแคว้นของพระองค์ และพระคลังก็จะเพิ่มพูนมากมาย แว่นแคว้นจะตั้งอยู่ด้วยความเกษม ปราศจากเสี้ยนหนามและการเบียดเบียน พวกมนุษย์จะร่าเริงบันเทิง นอนชูบุตรให้เต้นฟ้อนอยู่บนอก แม้จักไม่ปิดประตูเรือนในเวลาคำก็เป็นอยู่ได้

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผลกระทบทั้งดีและไม่ดีจากการให้ทานมีไหม  /  หัวข้อย่อย : หลักการกำจัดเสี้ยนหนาม ( คนไม่ดี )  /  หัวข้อเลขที่ : 46  /  -บาลี สี. ที. 9/171/206.  /  หน้าที่ : 100 , 101 

- END - 

สังคมเลว เพราะคนดีอ่อนแอ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง สังคมเลว เพราะคนดีอ่อนแอ

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด พวกโจรมีกำลัง สมัยนั้นพระราชาย่อมเสื่อมกำลัง คราวนั้นทั้งพระราชาเองก็หมดความผาสุกที่จะเข้าใน ออกนอก หรือที่จะออกคำสั่งไปยังชนบทชายแดน ถึงแม้พวกพราหมณ์และคหบดีก็หมดความสะดวกที่จะเข้าใน ออกนอก หรือที่จะอำนวยการงานนอกเมือง ข้อนี้ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด พวกภิกษุเลวทรามมีกำลัง สมัยนั้น หมู่ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ย่อมเสื่อมกำลัง คราวนั้นหมู่ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก จำต้องเป็นผู้นิ่ง เงียบเชียบอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือถึงกับต้องไปอยู่ตามชนบทชายแดน ฉันนั้นเหมือนกัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนี้ย่อมไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย ไม่เป็นไปเพื่อความสุข เป็นความเสียหายแก่มหาชนเป็นอันมาก และไม่เป็นไปเพื่อความเกื้อกูล เพื่อความทุกข์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด พระราชามีกำลัง สมัยนั้นพวกโจรย่อมเสื่อมกำลัง คราวนั้นทั้งพระราชาเองก็มีความผาสุกที่จะเข้าใน ออกนอก หรือที่จะออกคำสั่งไปยังชนบทชายแดน แม้พวกพราหมณ์และคหบดี ก็มีความสะดวกที่จะเข้าในออกนอก หรือที่จะอำนวยการงานนอกเมือง ข้อนี้ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด หมู่ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักมีกำลัง สมัยนั้นพวกภิกษุเลวทรามย่อมเสื่อมกำลัง คราวนั้น พวกภิกษุเลวทราม จำต้องเป็นผู้นิ่ง เงียบเชียบอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือเป็นพวกที่ต้องหล่นไปเอง ฉันนั้นเหมือนกัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย ให้มหาชนมีความสุข เป็นความเจริญแก่มหาชนเป็นอันมาก และเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผลกระทบทั้งดีและไม่ดีจากการให้ทานมีไหม  /  หัวข้อย่อย : สังคมเลว เพราะคนดีอ่อนแอ  /  หัวข้อเลขที่ : 45  /  -บาลี ทุก. อํ. 20/87/284.  /  หน้าที่ : 98 , 99  

- END - 

กลิ่นที่หอมทวนลม

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง กลิ่นที่หอมทวนลม 

      อานนท์!  สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมใดในโลกนี้ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน

       สมณพราหมณ์ทุกทิศย่อมกล่าวสรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา
คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน... เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน

       แม้เทวดาทั้งหลายก็กล่าวสรรเสริญคุณของเขาว่า สตรีหรือบุรุษในบ้านหรือนิคมแห่งโน้น ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน

       อานนท์!  กลิ่นหอมนี้นั้นแล ฟุ้งไปตามลมก็ได้ ฟุ้งไปทวนลมก็ได้ ฟุ้งไปทั้งตามลมและทวนลมก็ได้

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )

       กลิ่นดอกไม้ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้

       กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นกระลำพัก ก็ฟุ้งทวนลมไปไม่ได้

       ส่วนกลิ่นสัปบุรุษ ฟุ้งทวนลมไปได้ เพราะสัปบุรุษ ฟุ้งไปทุกทิศ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ทานของอสัปบุรุษและสัปบุรุษ  /  หัวข้อย่อย : กลิ่นที่หอมทวนลม  /  หัวข้อเลขที่ : 44  /  -บาลี เอก. อํ. 20/290/519.  /  หน้าที่ : 94 , 95 

- END -   

ประโยชน์เกื้อกูลของสัปบุรุษ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ประโยชน์เกื้อกูลของสัปบุรุษ 

      ภิกษุทั้งหลาย!  สัปบุรุษเมื่อเกิดในตระกูล ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก คือ ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มารดาบิดา แก่บุตรภรรยา แก่หมู่คนผู้เป็นทาสกรรมกร แก่มิตรอำมาตย์ แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แก่พระราชา แก่เทวดาทั้งหลาย แก่สมณพราหมณ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  มหาเมฆเมื่อตกให้ข้าวกล้าเจริญงอกงาม ย่อมตกเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ฉันใด สัปบุรุษก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดในตระกูล ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก คือ ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มารดาบิดา แก่บุตรภรรยา แก่หมู่คนผู้เป็นทาสกรรมกร แก่มิตรอำมาตย์ แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แก่พระราชา แก่เทวดาทั้งหลาย แก่สมณพราหมณ์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )

       สัปบุรุษผู้มีปัญญาอยู่ครองเรือน เป็นผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก

       ในชั้นต้นระลึกถึงอุปการะที่ท่านทำไว้ก่อน ย่อมบูชามารดาบิดาโดยชอบธรรม

       สัปบุรุษผู้มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว และมีศีลเป็นที่รัก ทราบธรรมแล้ว

       ย่อมบูชาบรรพชิตผู้ไม่ครองเรือน ผู้ไม่มีบาป ประพฤติพรหมจรรย์

       สัปบุรุษนั้นเป็นผู้เกื้อกูลต่อพระราชา ต่อเทวดา ต่อญาติและสหายทั้งหลาย

       ตั้งมั่นแล้วในสัทธรรม เป็นผู้เกื้อกูลแก่คนทั้งปวง

       สัปบุรุษนั้น กำจัดมลทินคือความตระหนี่ได้แล้ว ย่อมประสบโลกอันเกษม

       เทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวถึงนรชน ผู้เป็นบุคคลเลี้ยงมารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวแต่คำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้ นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษ ดังนี้ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ทานของอสัปบุรุษและสัปบุรุษ  /  หัวข้อย่อย : ประโยชน์เกื้อกูลของสัปบุรุษ  /  หัวข้อเลขที่ : 43  /  -บาลี สคาถ. สํ. 15/335/907., -บาลี สตฺตก. อํ. 23/248/128.  /  หน้าที่ : 92 , 93 

- END - 


ทานของคนดี ( นัยที่ 2 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทานของคนดี ( นัยที่ 2 )


      ภิกษุทั้งหลาย!  สัปปุริสทาน 5 ประการนี้มีอยู่

       5 ประการเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) ย่อมให้ทานด้วยศรัทธา

       ( 2 ) ย่อมให้ทานโดยเคารพ

       ( 3 ) ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร

       ( 4 ) เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน

       ( 5 ) ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและไม่กระทบผู้อื่น

       ภิกษุทั้งหลาย!  สัปบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใสประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นให้ผล

       ภิกษุทั้งหลาย!  สัปบุรุษครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตรภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงฟังคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นให้ผล

       ภิกษุทั้งหลาย!  สัปบุรุษครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ที่ทานนั้นให้ผล

       ภิกษุทั้งหลาย!  สัปบุรุษครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ 5 สูงยิ่งขึ้น ในที่ที่ทานนั้นให้ผล

       ภิกษุทั้งหลาย!  สัปบุรุษครั้นให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือ
จากทายาท ในที่ที่ทานนั้นให้ผล

       ภิกษุทั้งหลาย!  เหล่านี้แล สัปปุริสทาน 5 ประการ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

( คาถาผนวกท้ายพระสูตร)

       ธรรม 3 ประการนี้ คือ การให้ทานด้วยศรัทธา การให้ทานด้วยหิริ การให้ทานอันหาโทษมิได้

       อันสัปบุรุษดำเนินตามแล้ว บัณฑิตกล่าวว่า เป็นทางไปสู่สวรรค์ ชนทั้งหลายย่อมไปสู่เทวโลกด้วยทางนี้ แล 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ทานของอสัปบุรุษและสัปบุรุษ  /  หัวข้อย่อย : ทานของคนดี ( นัยที่ 2 )  /  หัวข้อเลขที่ : 42  /  -บาลี ปญฺจก. อํ. 22/192/148., -บาลี สตฺตก. อํ. 23/240/122.  /  หน้าที่ : 90 , 91 

- END - 





ทานของคนดี ( นัยที่ 1 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทานของคนดี ( นัยที่ 1 )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สัปปุริสทาน 8 ประการนี้มีอยู่

       8 ประการเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) ให้ของสะอาด

       ( 2 ) ให้ของประณีต

       ( 3 ) ให้ตามกาล

       ( 4 ) ให้ของสมควร

       ( 5 ) เลือกให้ 

       ( 6 ) ให้เนืองนิตย์ 

       ( 7 ) เมื่อให้จิตผ่องใส 

       ( 8 ) ให้แล้วดีใจ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เหล่านี้แล สัปปุริสทาน 8  ประการ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )

       สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีต ตามกาลสมควร เนืองนิตย์ ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี สละของมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วอย่างนี้

       ผู้มีปัญญา มีศรัทธา เป็นบัณฑิต มีใจพ้นจากความตระหนี่ ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ไม่มีความเบียดเบียน

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ทานของอสัปบุรุษและสัปบุรุษ  /  หัวข้อย่อย : ทานของคนดี ( นัยที่ 1 )  /  หัวข้อเลขที่ : 41  /  -บาลี อฏฐฺก. อํ. 23/248/127.  /  หน้าที่ : 89 

- END - 


ทานของคนไม่ดี หรือ ทานของคนดี

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทานของคนไม่ดี หรือ ทานของคนดี 

       ภิกษุทั้งหลาย!  อสัปปุริสทาน 5 ประการนี้มีอยู่

       5 ประการเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) ให้โดยไม่เคารพ

       ( 2 ) ให้โดยไม่อ่อนน้อม

       ( 3 ) ไม่ให้ด้วยมือตนเอง

       ( 4 ) ให้ของที่เป็นเดน

       ( 5 ) ให้โดยไม่คำนึงผลที่จะมาถึง ( อนาคมนทิฏฐิ )

       ภิกษุทั้งหลาย!  เหล่านี้แล อสัปปุริสทาน 5 ประการ


       ภิกษุทั้งหลาย!  สัปปุริสทาน 5 ประการนี้มีอยู่

       5 ประการเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) ให้โดยเคารพ

       ( 2 ) ให้โดยอ่อนน้อม

       ( 3 ) ให้ด้วยมือตนเอง

       ( 4 ) ให้ของไม่เป็นเดน

       ( 5 ) ให้โดยคำนึงผลที่จะมาถึง ( อาคมนทิฏฐิ )

       ภิกษุทั้งหลาย!  เหล่านี้แล สัปปุริสทาน 5 ประการ

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ทานของอสัปบุรุษและสัปบุรุษ  /  หัวข้อย่อย : ทานของคนไม่ดี หรือ ทานของคนดี  /  หัวข้อเลขที่ : 40  /  บาลี ปญฺจก. อํ. 22/192/147.  /  หน้าที่ : 88 


- END - 

Saturday, February 20, 2021

ทานที่ให้แล้วมีผลน้อย

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทานที่ให้แล้วมีผลน้อย 

      สตรีใดให้ข้าวและน้ำ มีใจเบิกบาน สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่ บริจาคทาน อันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้นอาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วใจ ย่อมได้กำลังและอายุที่เป็นทิพย์ สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีสุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย ย่อมปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน

       บุคคลแม้ใด ย่อมประพฤติธรรม ประพฤติสะอาด เป็นผู้เลี้ยงภริยา และเมื่อของมีน้อยก็ให้ได้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น

       บุคคลเหล่าหนึ่ง ตั้งอยู่ในกรรมปราศจากความสงบ ( ปราศจากธรรม ) โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศกแล้วให้ทาน
ทานนั้นจัดว่าทานมีหน้าอันนองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับด้วยอาชญา จึงย่อมไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ ( ประพฤติธรรม ) เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น โดยนัยอย่างนี้ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผล / อานิสงส์ของทานแบบต่างๆ  /  หัวข้อย่อย : ทานที่ให้แล้วมีผลน้อย  /  หัวข้อเลขที่ : 39  /  -บาลี มหาวิ. วิ. 5/207/154., -บาลี สคาถ. สํ. 15/26,27/91,93.  /  หน้าที่ : 85 

- END - 


ผลของการต้อนรับบรรพชิตด้วยวิธีที่ต่างกัน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผลของการต้อนรับบรรพชิตด้วยวิธีที่ต่างกัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ในราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาเป็นอันมากมีผิวพรรณงดงาม ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้น ให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับแต่ไม่กราบไหว้ ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานยังไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว”

       ภิกษุทั้งหลาย!  เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมาก เข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับกราบไหว้ แต่ไม่ให้อาสนะ ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว”

       “...ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับกราบไหว้และให้อาสนะ แต่ไม่แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง ...”

       “...ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับกราบไหว้ ให้อาสนะ และแบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง แต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ...”

       “...ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับกราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง และเข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม แต่ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม ...”

       “...ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม และเงี่ยโสตลงฟังธรรม แต่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ ...”

       “...ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตลงฟังธรรม และฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ...”

       “...ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แต่ไม่รู้ทั่วถึงอรรถ ไม่รู้ทั่วถึงธรรม และไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว”

       ภิกษุทั้งหลาย!  เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมาก เข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันสิ่งของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ และรู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานบริบูรณ์ ไม่มีความกินแหนงใจ ไม่มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นประณีต”

       ภิกษุทั้งหลาย!  นั่น โคนไม้ทั้งหลาย นั่น เรือนว่างทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย จงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท  อย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเหมือนเทวดาพวกต้นๆ เหล่านั้น 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผล / อานิสงส์ของทานแบบต่างๆ  /  หัวข้อย่อย : ผลของการต้อนรับบรรพชิตด้วยวิธีที่ต่างกัน  /  หัวข้อเลขที่ : 38  /  -บาลี สตฺตก. อํ. 23/403/223.  /  หน้าที่ : 82 , 83 , 84  

- END - 




ผู้ประสบบุญเป็นอันมาก

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผู้ประสบบุญเป็นอันมาก


       ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชผู้มีศีล เข้าไปสู่สกุลใด มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมากด้วยฐานะ 5 อย่าง 5 อย่างเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) ในสมัยใด จิตของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเลื่อมใสเพราะได้เห็นนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล ในสมัยนั้นสกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสวรรค์

       ( 2 ) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย พากันต้อนรับกราบไหว้ ให้อาสนะแก่นักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล ในสมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการเกิดในสกุลสูง

       ( 3 ) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย กำจัดมลทินคือความตระหนี่เสียได้ในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล ในสมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้เกียรติศักดิ์อันใหญ่

       ( 4 ) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมแจกจ่ายทานตามสติ ตามกำลังในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล ในสมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้โภคทรัพย์ใหญ

       ( 5 ) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไต่ถามสอบสวน ย่อมฟังธรรมในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล  ในสมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้ปัญญาใหญ่ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชผู้มีศีล เข้าไปสู่สกุลใด มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ด้วยฐานะ 5 อย่างเหล่านี้แล 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผล / อานิสงส์ของทานแบบต่างๆ  /  หัวข้อย่อย : ผู้ประสบบุญเป็นอันมาก  /  หัวข้อเลขที่ : 37  /  -บาลี ปญฺจก. อํ. 22/271/199.  /  หน้าที่ : 80 , 81

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : ผู้ประสบบุญใหญ่  /  หัวข้อเลขที่ : 56  /  -บาลี ปญฺจก. อํ. 22/271/199.  /  หน้าที่ : 154 , 155 

- END - 


ความสงสัยในทานของเทวดา

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ความสงสัยในทานของเทวดา

      เทวดาทูลถามว่า บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

       พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่อยู่อาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พรำสอนธรรมชื่อว่าให้อมตะ

       เทวดาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์

       พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดสร้างอารามปลูกหมู่ไม้ สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทานและบ่อน้ำ ทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผล / อานิสงส์ของทานแบบต่างๆ  /  หัวข้อย่อย : ความสงสัยในทานของเทวดา  /  หัวข้อเลขที่ : 36  /  -บาลี สคาถ. สํ. 15/44/137-138., -บาลี สคาถ. สํ. 15/46/145-146.  /  หน้าที่ : 79 

- END - 



สัดส่วนของทาน ศีล ภาวนา

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง สัดส่วนของทาน ศีล ภาวนา

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้มีอยู่ 3 ประการเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน

       ( 2 ) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล

       ( 3 ) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลพอประมาณ ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา

       ภิกษุทั้งหลาย!  มหาราชทั้ง 4 นั้น เพราะทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกาโดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่งไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดาวดึงส์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ท้าวสักกะจอมเทพในดาวดึงส์นั้น กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่าดาวดึงส์โดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ … โผฏฐัพพทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่งไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่ายามา 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ท้าวสุยามเทพบุตรในยามานั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่ายามาโดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ … โผฏฐัพพทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดุสิต

       ภิกษุทั้งหลาย!  ท้าวสันดุสิตเทพบุตรในดุสิตนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่าดุสิตโดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ ... โผฏฐัพพทิพย์ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่งไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่านิมมานรดี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ท้าวสุนิมมิตเทพบุตรในนิมมานรดีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่านิมมานรดีโดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ ...  โผฏฐัพพทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตตี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีเทพบุตรในปรนิมมิตวสวัตตีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตตีโดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ ... โผฏฐัพพทิพย์ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้แล บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผล / อานิสงส์ของทานแบบต่างๆ  /  หัวข้อย่อย : สัดส่วนของทาน ศีล ภาวนา  /  หัวข้อเลขที่ : 35  /  -บาลี สตฺตก. อํ. 23/245/126.  /  หน้าที่ :  75 , 76 , 77 , 78 

- END - 


มหาทาน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง มหาทาน 

       กษุทั้งหลาย!  ห้วงบุญห้วงกุศล 8 ประการนี้นำสุขมาให้ มีอารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ห้วงบุญห้วงกุศล 8 ประการเป็นอย่างไร

       ภิกษุทั้งหลาย !  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 1 นำสุขมาให้ มีอารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

       อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 2 ...

       อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 3 ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ทาน 5 ประการนี้ เป็นมหาทาน อันบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ทาน 5 ประการเป็นอย่างไร

       ภิกษุทั้งหลาย!  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย  ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน หาประมาณมิได้ ภิกษุทั้งหลาย!  นี้เป็นทานประการที่ 1 ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ภิกษุทั้งหลาย!  นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 4 ... .

       อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ... นี้เป็นทานประการที่ 2 ... เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 5 ... .

       อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ... นี้เป็นทานประการที่ 3 ... เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 6 ... . 

       อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท ... นี้เป็นทานประการที่ 4 ... เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 7 ... .

       อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละการดื่มนำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ภิกษุทั้งหลาย!  อริยสาวกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทแล้ว ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้ ภิกษุทั้งหลาย! นี้เป็นทานประการที่ 5 ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจายอันบัณฑิตไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด  ภิกษุทั้งหลาย! นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ 8 นำสุขมาให้ มีอารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

       ภิกษุทั้งหลาย!  ห้วงบุญห้วงกุศล 8 ประการนี้แล นำสุขมาให้ มีอารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผล / อานิสงส์ของทานแบบต่างๆ  /  หัวข้อย่อย : มหาทาน  /  หัวข้อเลขที่ : 34  /  -บาลี สตฺตก. อํ. 23/249/129.  /  หน้าที่ :  71 , 72 , 73 , 74 

- END - 

ผลแห่งทาน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผลแห่งทาน

       คหบดี!  บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ให้ด้วยความนอบน้อม ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือ ให้โดยไม่คำนึงผลที่จะมาถึง 

       ผลของทานนั้น บังเกิดในที่ใดๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ 5 อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้นคือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ส่งจิตไปที่อื่นเสีย

       ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพ

       คหบดี!  บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ให้ด้วยความนอบน้อม ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ ให้โดยคำนึงผลที่จะมาถึง

       ผลของทานนั้น บังเกิดในที่ใดๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ 5 อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น

       ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ

       คหบดี!  เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ 84,000 ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง 84,000 ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน 84,000 ถาด ให้ช้าง 84,000 เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทองคลุมด้วยข่ายทอง ให้รถ 84,000 คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม 84,000 ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว 84,000 คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ 84,000 ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า 84,000 โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด จะป่วยการกล่าวไปไยถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่ให้ดุจไหลไปเหมือนแม่น้ำ

       คหบดี!  ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นเป็นเวลามพราหมณ์ผู้ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น

       คหบดี!  แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราเป็นเวลามพราหมณ์ เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้น ไม่มีใครเป็นทักขิเณยยบุคคล ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด

       คหบดี!  ทานที่บุคคลถวายให้ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ( โสดาบัน ) ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว

       ทานที่บุคคลถวายให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ 100 ท่านบริโภค

       ทานที่บุคคลถวายให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระสกทาคามี 100 ท่านบริโภค

       ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอนาคามี 100 ท่านบริโภค

       ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ 100 รูปบริโภค

       ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า 100 รูปบริโภค

       ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค

       การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง 4 มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค

       การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ อันมาจากทิศทั้ง 4

       การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คืองดเว้นจากปาณาติบาต ... งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

       การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ... งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

       และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ผล / อานิสงส์ของทานแบบต่างๆ  /  หัวข้อย่อย : ผลแห่งทาน  /  หัวข้อเลขที่ : 33  /  -บาลี นวก. อํ. 23/405/224.  /  หน้าที่ :  66 , 67 , 68 , 69 , 70 

- END - 

เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 4 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 4 ) 

      ภิกษุทั้งหลาย!  เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน 8 ประการนี้ มีอยู่ 8 ประการเป็นอย่างไร คือ

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์  เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาเห็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมถูกบำเรออยู่ด้วยกามคุณ 5 เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ !  เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล”

       เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตบริสุทธิ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ... และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ !  เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา”

       เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการ
ทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตบริสุทธิ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ... และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ !  เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี”

       เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น  เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตบริสุทธิ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ... และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่าเทวดาชั้นพรหมกายิกา มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ !  เมื่อตายไปขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมกายิกา”

       เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมกายิกา แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตปราศจากราคะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้แล เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน 8 ประการ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน  /  หัวข้อย่อย : เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 4 )  /  หัวข้อเลขที่ : 32  /  -บาลี สตฺตก. อํ. 23/403/223.  /  หน้าที่ :  60 , 61 , 62 , 63 

- END - 

เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 3 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 3 ) 


       ภิกษุทั้งหลาย!  กาลทาน 5 ประการเหล่านี้มีอยู่ 5 ประการเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) ให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน

       ( 2 ) ให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป

       ( 3 ) ให้ทานแก่ผู้ป่วยไข้ 

       ( 4 ) ให้ทานในสมัยข้าวยากหมากแพง 

       ( 5 ) ให้ข้าวใหม่และผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีลก่อน

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้แล กาลทาน 5 ประการ 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

   ( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )

       ผู้มีปัญญารอบรู้และปราศจากความตระหนี่ 

       ย่อมถวายทานตามกาลสมัยในพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ประพฤติตรงคงที่

       เมื่อมีใจเลื่อมใสศรัทธาแล้ว ทักษิณาย่อมมีผลอันไพบูลย์

       ชนทั้งหลายเหล่าใดร่วมอนุโมทนา หรือช่วยกระทำการขวนขวายในทานนี้

       ทักษิณานั้นมิได้พร่องไปด้วยเหตุแห่งอนุโมทนานั้นเลย แม้ชนผู้ร่วมอนุโมทนา ก็มีส่วนแห่งบุญด้วย 

       เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลไม่มีจิตท้อถอยในทาน ทานนั้นย่อมมีผลมาก

       บุญที่ทำแล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในกาลข้างหน้าได้แล


( ในคาถาผนวกท้ายพระสูตรนั้น มีบาลีอย่างนี้ )

       กาเล ทะทันติ สัปปัญญา วะทัญญู วีตะมัจฉะรา,

       กาเลนะ ทินนัง อะริเยสุ อุชุภูเตสุ ตาทิสุ, 

       วิปปะสันนะมะนา ตัสสะ วิปุลา โหติ ทักขิณา, 

       เย ตัตถะ อนุโมทันติ เวยยาวัจจัง กะโรนติ วา,

       นะ เตนะ ทักขิณา โอนา, 

       เตปิ ปุญญัสสะ ภาคิโน,

       ตัส๎มา ทะเท อัปปะฏิวาณะจิตโต

       ยัตถะ ทินนัง มะหัปผะลัง,

       ปุญญานิ ปะระโลกัส๎มิง ปะติฏฐา โหนติ ปาณินันติ  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน  /  หัวข้อย่อย : เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 3 )  /  หัวข้อเลขที่ : 31  /  -บาลี ปญฺจก. อํ. 22/44/36.  /  หน้าที่ :  58 , 59  

- END - 


เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 2 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 2 ) 

       ภิกษุทั้งหลาย!  กาลทาน 5 ประการเหล่านี้มีอยู่ 5 ประการเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) ให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน

       ( 2 ) ให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป

       ( 3 ) ให้ทานแก่ผู้ป่วยไข้

       ( 4 ) ให้ทานในสมัยข้าวยากหมากแพง

       ( 5 ) ให้ข้าวใหม่และผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีลก่อน

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้แล กาลทาน 5 ประการ 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )

       ผู้มีปัญญารอบรู้และปราศจากความตระหนี่

       ย่อมถวายทานตามกาลสมัยในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ประพฤติตรงคงที่

       เมื่อมีใจเลื่อมใสศรัทธาแล้ว ทักษิณาย่อมมีผลอันไพบูลย์

       ชนทั้งหลายเหล่าใดร่วมอนุโมทนา หรือช่วยกระทำการขวนขวายในทานนี้

       ทักษิณานั้นมิได้พร่องไปด้วยเหตุแห่งอนุโมทนานั้นเลย แม้ชนผู้ร่วมอนุโมทนา ก็มีส่วนแห่งบุญด้วย

       เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลไม่มีจิตท้อถอยในทาน ทานนั้นย่อมมีผลมาก

       บุญที่ทำแล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในกาลข้างหน้าได้แล


( ในคาถาผนวกท้ายพระสูตรนั้น มีบาลีอย่างนี้ )

       กาเล ทะทันติ สัปปัญญา วะทัญญู วีตะมัจฉะรา,

       กาเลนะ ทินนัง อะริเยสุ อุชุภูเตสุ ตาทิสุ,

       วิปปะสันนะมะนา ตัสสะ วิปุลา โหติ ทักขิณา,

       เย ตัตถะ อนุโมทันติ เวยยาวัจจัง กะโรนติ วา,

       นะ เตนะ ทักขิณา โอนา,

       เตปิ ปุญญัสสะ ภาคิโน, 

       ตัส๎มา ทะเท อัปปะฏิวาณะจิตโต

       ยัตถะ ทินนัง มะหัปผะลัง,

       ปุญญานิ ปะระโลกัส๎มิง ปะติฏฐา โหนติ ปาณินันติ 


* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน  /  หัวข้อย่อย : เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 2 )  /  หัวข้อเลขที่ : 31  /  -บาลี อฏฺฐก. อํ. 23/240/123.  /  หน้าที่ :  58  ,  59  

- END - 




เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 1 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 1 ) 

      ภิกษุทั้งหลาย!  การให้ 8 ประการเหล่านี้มีอยู่  8 ประการเป็นอย่างไร คือ

       ( 1 ) บางคนหวังได้จึงให้ทาน

       ( 2 ) บางคนให้ทานเพราะกลัว

       ( 3 ) บางคนให้ทานเพราะนึกว่าเขาให้แก่เราแล้ว

       ( 4 ) บางคนให้ทานเพราะนึกว่าเขาจักให้ตอบแทน

       ( 5 ) บางคนให้ทานเพราะนึกว่าทานเป็นการดี 

       ( 6 ) บางคนให้ทานเพราะนึกว่าเราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้ไม่หุงหากินไม่สมควร

       ( 7 ) บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทาน กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป 

       ( 8 ) บางคนให้ทานเพื่อประดับจิต ปรุงแต่งจิต


       ภิกษุทั้งหลาย!  เหล่านี้แล การให้ 8 ประการ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน  /  หัวข้อย่อย : เหตุในการให้ทาน ( นัยที่ 1 )  /  หัวข้อเลขที่ : 29  /  -บาลี อฏฺญฐก. อํ. 23/240/121.  /  หน้าที่ :  56  

- END - 


Friday, February 19, 2021

อานิสงส์แห่งกายคตาสติ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อานิสงส์แห่งกายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลงในภายในของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งถูกต้องด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายในของผู้นั้นฉะนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อความสังเวชมาก เป็นไปเพื่อประโยชน์มาก เป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะมาก เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือวิชชาและวิมุตติ

       ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสังเวชมาก ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์มาก ย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะมาก ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ย่อมเป็นไปเพื่อทำ ให้แจ้งซึ่งผลคือ วิชชาและวิมุตติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญบริบูรณ์

       ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้น ก็ถึงความเจริญบริบูรณ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลย และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละเสียได้

       ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลย และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละเสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง

       ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัส๎มิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้

       ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัส๎มิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน

       ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากหลาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากหลาย

       ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากหลาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากหลาย

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง

       ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว

       ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ( ปญฺญาปฏิลาภาย )

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ( ปญฺญาวุฑฺฒิยา )

       ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา ( ปญฺญาเวปุลฺลาย )

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ ( มหาปญฺญตาย )

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา ( ปุถุปญฺญตาย )

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไพบูลย์ ( วิปุลปญฺญตาย )

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง ( คมฺภีรปญฺญตาย ) 
 
       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาสามารถยิ่ง ( อสมตฺถปญฺญตาย )

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ( ภูริปญฺญตาย )

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก ( ปญฺญาพาหุลฺลาย ) 

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเร็ว ( สีฆปญฺญตาย ) 

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเบา ( ลหุปญฺญตาย ) 

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาร่าเริง ( หาสปญฺญตาย ) 

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไว ( ชวนปญฺญตาย ) 

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาคม ( ติกฺขปญฺญตาย ) 

       ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ( นิพฺเพธิกปญฺญตาย )

       ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมข้อหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส

       ภิกษุทั้งหลาย!  ชนเหล่าใด ไม่บริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมไม่บริโภคอมตะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ชนเหล่าใด บริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมบริโภคอมตะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่บริโภคแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่บริโภคแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดบริโภคแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นบริโภคแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติของชนเหล่าใดเสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าเสื่อมแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติของชนเหล่าใดไม่เสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่เสื่อมแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดเบื่อแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเบื่อแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดชอบใจแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นชอบใจแล้ว 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ชนเหล่าใดประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าประมาทอมตะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ชนเหล่าใดไม่ประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่ประมาทอมตะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดหลงลืม อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นหลงลืม

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่หลงลืม อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่หลงลืม

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ส้องเสพแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ส้องเสพแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดส้องเสพแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นส้องเสพแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่เจริญแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่เจริญแล้ว 

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดเจริญแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเจริญแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย !  กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้มากแล้ว 

       ภิกษุทั้งหลาย !  กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้มากแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

       ภิกษุทั้งหลาย !  กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่กำหนดรู้แล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่กำหนดรู้แล้ว 

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติอันชนเหล่าใดกำหนดรู้แล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นกำหนดรู้แล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย !  กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้แจ้งแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้แจ้งแล้ว 

       ภิกษุทั้งหลาย !  กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้แจ้งแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้แจ้งแล้ว ดังนี้ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อานาปานสติ  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะแวดล้อม  /  หัวข้อย่อย : อานิสงส์แห่งกายคตาสติ  /  หัวข้อเลขที่ : 32  /  -บาลี เอก. อํ. 20/55-60/225-246.  /  หน้าที่ : 141 , 142 , 143 , 144 , 145 , 146 , 147 , 148 , 149 

- END -