Friday, April 30, 2021

อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ชนเหล่าใด ไม่บริโภคกายคตาสติ

       ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมไม่บริโภคอมตะ 

       ภิกษุทั้งหลาย!   ชนเหล่าใด บริโภคกายคตาสติ

       ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมบริโภคอมตะ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  

       กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ส้องเสพแล้ว

       อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ส้องเสพแล้ว 

       ภิกษุทั้งหลาย!  

       กายคตาสติอันชนเหล่าใดส้องเสพแล้ว

       อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นส้องเสพแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  

       กายคตาสติอันชนเหล่าใดเบื่อแล้ว

       อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเบื่อแล้ว 

       ภิกษุทั้งหลาย!  

       กายคตาสติอันชนเหล่าใดชอบใจแล้ว 

       อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นชอบใจแล้ว 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ  /  หัวข้อเลขที่ : 83  /  -บาลี เอก. อํ. 20/59/235 , 239.  /  หน้าที่ : 223  

- END -

ลักษณะของผู้เจริญกายคตาสติ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ลักษณะของผู้เจริญกายคตาสติ  

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้ออื่นยังมีอีก

       ภิกษุ เมื่อเดินอยู่ ย่อมรู้ชัด ว่า “เราเดินอยู่”

       เมื่อยืน ย่อมรู้ชัด ว่า “เรายืนอยู่”

       เมื่อนั่ง ย่อมรู้ชัด ว่า “เรานั่งอยู่”

       เมื่อนอน ย่อมรู้ชัด ว่า “เรานอนอยู่”

       เธอ ตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ย่อมรู้ทั่วถึงกายนั้น ด้วยอาการอย่างนั้นๆ … 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยกลับข้างหลัง

       เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการแลดู ในการเหลียวดู

       เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการคู้ ในการเหยียด ( อวัยวะ )

       เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร

       เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม

       เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

       เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง

       เมื่อภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ ย่อมละความระลึกและความดำริอันอาศัยเรือนเสียได้

       เพราะละความระลึกและความดำรินั้นได้ จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ในภายในนั่นเทียว

       ภิกษุทั้งหลาย!  แม้อย่างนี้ ภิกษุนั้นก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ …

       ภิกษุทั้งหลาย!  กายคตาสติ อันภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว

       กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลงในภายในของภิกษุนั้น

       เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งถูกต้องด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายในของผู้นั้นฉะนั้น 

       ( นอกจากนี้ยังได้ตรัสถึงการเจริญอสุภะ ตามที่มีปรากฏในมหาสติปัฏฐานสูตร ( มหา. ที. 10/325-328/277-288. ) และการเจริญฌานทั้ง 4 โดยตรัสว่าการกระทำเช่นนี้ ก็เป็นเจริญกายคตาสติเช่นกัน ) 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : ลักษณะของผู้เจริญกายคตาสติ  /  หัวข้อเลขที่ : 79  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/204-211/295-307.  /  หน้าที่ : 211 , 212 

- END -

ลมหายใจก็คือ “กาย”

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ลมหายใจก็คือ “กาย” 

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุ

       เมื่อหายใจเข้ายาว  ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว

       เมื่อหายใจออกยาว  ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว 

       เมื่อหายใจเข้าสั้น  ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น 

       เมื่อหายใจออกสั้น  ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น 

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก” 

       เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก” 

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้
 
       ภิกษุทั้งหลาย!  เราย่อมกล่าวลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นกายอันหนึ่งๆ ในกายทั้งหลาย 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : ลมหายใจก็คือ “กาย”  /  หัวข้อเลขที่ : 77  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/195/289.  /  หน้าที่ : 207 , 208  

- END -


Thursday, April 29, 2021

ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน

      ภิกษุทั้งหลาย !  คงคานที ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศตะวันออก เทไปทางทิศตะวันออก ข้อนี้ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุเจริญฌานทั้ง 4 อยู่ กระทำฌานทั้ง 4 ให้มากอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน ฉันนั้นก็เหมือนกัน

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุเจริญฌานทั้ง 4 อยู่ กระทำฌานทั้ง 4 ให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน เป็นอย่างไรเล่า ? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่

       เพราะความที่วิตก วิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอก ผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่

       อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่

       เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัส และโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึง จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  อย่างนี้แล ภิกษุเจริญฌานทั้ง 4 อยู่ กระทำฌานทั้ง 4 ให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน  /  หัวข้อเลขที่ : 73  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/392/1301-1302.  /  หน้าที่ : 198 , 199  

- END -

ความสำคัญของสมถะและวิปัสสนา

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ความสำคัญของสมถะและวิปัสสนา

       ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรม 2 อย่างเหล่านี้ เป็นส่วนแห่งวิชชา ( ความรู้แจ้ง )

       2 อย่าง อะไรเล่า ? 2 อย่าง คือ สมถะ และ วิปัสสนา 

       ภิกษุทั้งหลาย! สมถะ เมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? 

       อบรมแล้ว จิตจะเจริญ 

       จิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? 

       เจริญแล้ว จะละราคะได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  

       วิปัสสนาเล่า เมื่อเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? 

       เจริญแล้ว ปัญญาจะเจริญ

       ปัญญาเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? 

       เจริญแล้ว จะละอวิชชาได้ แล

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : ความสำคัญของสมถะและวิปัสสนา  /  หัวข้อเลขที่ : 72  /  -บาลี ทุก. อํ. 20/77/257.  /  หน้าที่ : 197  

- END -


สมาธิระงับความรัก-เกลียด ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง สมาธิระงับความรัก-เกลียด ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ 


      ภิกษุทั้งหลาย!  ธรรมารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเกิดอยู่เป็น 4 ประการ 

       4 ประการอย่างไรเล่า ? 4 ประการ คือ

       ความรักเกิดจากความรัก

       ความเกลียดเกิดจากความรัก

       ความรักเกิดจากความเกลียด

       ความเกลียดเกิดจากความเกลียด  * * * ( 1 ) 

       ภิกษุทั้งหลาย !  สมัยใด ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่

       สมัยนั้น ความรักใดที่เกิดจากความรัก ความรักนั้นก็ไม่มี

       ความเกลียดใดที่เกิดจากความรัก ความเกลียดนั้นก็ไม่มี

       ความรักใดที่เกิดจากความเกลียด ความรักนั้นก็ไม่มี

       ความเกลียดใดที่เกิดจากความเกลียด ความเกลียดนั้นก็ไม่มี

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ภิกษุ เข้าถึงทุติยฌาน ... ตติยฌาน ... จตุตถฌาน ... แล้วแลอยู่

       สมัยนั้น ความรักใดที่เกิดจากความรัก ความรักนั้นก็ไม่มี

       ความเกลียดใดที่เกิดจากความรัก ความเกลียดนั้นก็ไม่มี

       ความรักใดที่เกิดจากความเกลียด ความรักนั้นก็ไม่มี

       ความเกลียดใดที่เกิดจากความเกลียด ความเกลียดนั้นก็ไม่มี  

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

* * * ( 1 ) ดูรายละเอียดได้ในเรื่อง “ว่าด้วยความรัก 4 แบบ” หน้า 23 ( ทำเป็นลิงก์เอาไว้ให้อ่านแล้วนะครับ คลิ๊กที่นี่ครับ )  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : สมาธิระงับความรัก-เกลียด ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  /  หัวข้อเลขที่ : 71  /  -บาลี จตุกฺก. อํ. 21/290-292/200.  /  หน้าที่ : 195 , 196 

- END -

แม้เพียงปฐมฌาน ก็ชื่อว่าเป็นที่หลบพ้นภัยจากมาร

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง แม้เพียงปฐมฌาน ก็ชื่อว่าเป็นที่หลบพ้นภัยจากมาร

       ( พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสข้อความปรารภการสงครามระหว่างเทวดากับอสูร ... ถ้าฝ่ายใดแพ้ถูกไล่ติดตามไปจนถึงภพเป็นที่อยู่แห่งตน ก็จะพ้นจากการถูกไล่ติดตาม แล้วตรัสต่อไปอีกว่า )

       ภิกษุทั้งหลาย !  ฉันใดก็ฉันนั้น  ในสมัยใด ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกแล้วแลอยู่

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมคิดอย่างนี้ว่า

       “ในการนี้ เรามีตนอันถึงแล้ว ซึ่งที่ต้านทานสำหรับสัตว์ผู้กลัวอยู่ มารจะไม่ทำอะไรได้”

       ภิกษุทั้งหลาย! แม้มารผู้มีบาป ก็คิดอย่างนี้ว่า

       “ในการนี้ ภิกษุมีตนอันถึงแล้ว ซึ่งที่ต้านทานสำหรับสัตว์ผู้กลัวอยู่ เราจะทำอะไรไม่ได้”....

       ( ในกรณีแห่งทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ก็ได้ตรัสข้อความทำ นองเดียวกัน )

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : แม้เพียงปฐมฌาน ก็ชื่อว่าเป็นที่หลบพ้นภัยจากมาร  /  หัวข้อเลขที่ : 70  /  -บาลี นวก. อํ. 23/450-453/243.  /  หน้าที่ : 194 

- END -

อานุภาพของสมาธิ ( นัยที่ 2 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อานุภาพของสมาธิ ( นัยที่ 2 )

      ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้มีจิตเป็นสมาธิตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริง

       ก็ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงซึ่งอะไรเล่า ? 

       ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริง ซึ่งความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งรูป ...แห่งเวทนา ...แห่งสัญญา ...แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่งวิญญาณ.

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็การเกิดขึ้นแห่งรูป ...แห่งเวทนา ...แห่งสัญญา ...แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่งวิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่

       ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งอะไรเล่า?

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งรูป

       เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ซึ่งรูป ความเพลิน ( นันทิ ) ย่อมเกิดขึ้น

       ความเพลินใด ในรูป ความเพลินนั้นคือ อุปาทาน

       เพราะอุปาทานของภิกษุนั้น เป็นปัจจัย จึงมีภพ

       เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมีชาติ

       เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน

       ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งเวทนา ... ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งสัญญา ...

       ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลาย ...

       ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งวิญญาณ

       เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ซึ่งวิญญาณ

       ความเพลิน ( นันทิ ) ย่อมเกิดขึ้น

       ความเพลินใด ในวิญญาณ ความเพลินนั้น คือ อุปาทาน

       เพราะอุปาทานของภิกษุนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ

       เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

       เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน

       ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ 

       ภิกษุทั้งหลาย !  นี้คือ ความเกิดขึ้นแห่งรูป ...แห่งเวทนา ...แห่งสัญญา ...แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่งวิญญาณ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ความดับแห่งรูป ...แห่งเวทนา ...แห่งสัญญา ...แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่งวิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ? 

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่

       ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ ซึ่งอะไรเล่า ? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งรูป

       เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ซึ่งรูป

       ความเพลิน ( นันทิ ) ใด ในรูป ความเพลินนั้น ย่อมดับไป 

       เพราะความดับแห่งความเพลินของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน

       เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ

       เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ

       เพราะมีความดับแห่งชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น

       ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งเวทนา ...

       ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งสัญญา ... 

       ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลาย ...

       ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งวิญญาณ

       เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ซึ่งวิญญาณ

       ความเพลิน ( นันทิ ) ใด ในวิญญาณ ความเพลินนั้น ย่อมดับไป

       เพราะความดับแห่งความเพลินของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน

       เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ

       เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ

       เพราะมีความดับแห่งชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น  

       ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้คือ ความดับแห่งรูป ...แห่งเวทนา ...แห่งสัญญา ...แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่งวิญญาณ ดังนี้ แล

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : อานุภาพของสมาธิ ( นัยที่ 2 )  /  หัวข้อเลขที่ : 69  /  -บาลี ขนฺธ. สํ. 17/18/27.  /  หน้าที่ : 189 , 190 , 191 , 192 , 193  

- END -

อานุภาพของสมาธิ ( นัยที่ 1 )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อานุภาพของสมาธิ ( นัยที่ 1 )

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วย่อมรู้ได้ตามที่เป็นจริง ซึ่งอะไรเล่า ?

       รู้ได้ตามเป็นจริงซึ่งความจริงอันประเสริฐว่า

       “นี้เป็นทุกข์

       นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

       นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

       และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้ได้ตามที่เป็นจริง

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงกระทำความเพียรเพื่อให้รู้ว่า

       “นี้เป็นทุกข์

       นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

       นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

       และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : อานุภาพของสมาธิ ( นัยที่ 1 )  /  หัวข้อเลขที่ : 68  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/520/1654.  /  หน้าที่ : 188  

- END -




สมาธิภาวนา 4 ประเภท

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง สมาธิภาวนา 4 ประเภท

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมาธิภาวนา 4 อย่าง เหล่านี้ มีอยู่

       4 อย่าง อย่างไรเล่า ? 4 อย่าง คือ

       ภิกษุทั้งหลาย!  มี สมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญ กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ

       1.ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ( ทิฏฐธมฺมสุขวิหาร )

       2.การได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ ( ญาณทสฺสนปฏิลาภ ) 

       3.สติสัมปชัญญะ ( สติสมฺปชญฺญ )

       4.ความสิ้นแห่งอาสวะ ( อาสวกฺขย )

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่

       เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่

       อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่

       เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสองในกาลก่อน เข้าถึง จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้คือสมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม 

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่ง ญาณทัสสนะ นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ กระทำไว้ในใจซึ่ง อาโลกสัญญา อธิษฐานทิวา  สัญญา ว่ากลางวันฉันใด กลางคืนฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันฉันนั้น

       เธอมีจิตอันเปิดแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ยังจิตที่มีแสงสว่างทั่วพร้อม ให้เจริญอยู่

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่ง ญาณทัสสนะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ สติสัมปชัญญะ นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้

       เวทนา เกิดขึ้น ( หรือ ) ตั้งอยู่ ( หรือ ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ

       สัญญา เกิดขึ้น ( หรือ ) ตั้งอยู่ ( หรือ ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ

       วิตก เกิดขึ้น ( หรือ ) ตั้งอยู่ ( หรือ ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้คือสมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ สติสัมปชัญญะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ ความสิ้นแห่งอาสวะ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ มีปกติตามเห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไปใน อุปาทานขันธ์ทั้งห้า ว่า

       รูปเป็นอย่างนี้

       ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้

       ความดับไปแห่งรูปเป็นอย่างนี้

       เวทนาเป็นอย่างนี้

       ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้

       ความดับไปแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ 

       สัญญาเป็นอย่างนี้

       ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้  

       ความดับไปแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้

       สังขารเป็นอย่างนี้ 

       ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้

       ความดับไปแห่งสังขารเป็นอย่างนี้

       วิญญาณเป็นอย่างนี้

       ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้

       ความดับไปแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้

       ดังนี้ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เหล่านี้แลคือ สมาธิภาวนา 4 อย่าง

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : สมาธิภาวนา 4 ประเภท  /  หัวข้อเลขที่ : 67  /  -บาลี จตุกฺก. อํ. 21/57/41.  /  หน้าที่ : 184 , 185 , 186 , 187 

- END -

วิธีแก้ความฟุ้งซ่าน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง วิธีแก้ความฟุ้งซ่าน

       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น

       มิใช่กาลเพื่อเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

       มิใช่กาลเพื่อเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์

       มิใช่กาลเพื่อเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์

       ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะจิตฟุ้งซ่าน

       จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

       เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และไม่โรยฝุ่นลงไปในกองไฟใหญ่นั้น

       บุรุษนั้นสามารถจะดับไฟกองใหญ่ได้หรือหนอ ?

       “ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า !”

       ฉันนั้นเหมือนกัน…


       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น

       เป็นกาลเพื่อเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ 

       เป็นกาลเพื่อเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ 

       เป็นกาลเพื่อเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ 

       ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะจิตฟุ้งซ่าน

       จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

       เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงในกองไฟใหญ่นั้น

       บุรุษนั้นจะสามารถดับกองไฟกองใหญ่นั้นได้หรือหนอ ?

       “ได้ พระเจ้าข้า !”

       ฉันนั้นเหมือนกัน...

       ภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าว “สติ” แลว่ามีประโยชน์ในที่ทั้งปวง

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับการสอบ  /  หัวข้อย่อย : วิธีแก้ความฟุ้งซ่าน  /  หัวข้อเลขที่ : 66  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/155/568.  /  หน้าที่ : 180 , 181 

- END -


วิธีแก้ความหดหู่

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง วิธีแก้ความหดหู่ 

        ภิกษุทั้งหลาย!  ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น

       มิใช่กาลเพื่อเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

       มิใช่กาลเพื่อเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์

       มิใช่กาลเพื่อเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

       ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะจิตหดหู่

       จิตที่หดหู่นั้นยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

       เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะสามารถก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ ?

       “ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า !”

       ฉันนั้นเหมือนกัน...


       ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น

       เป็นกาลเพื่อเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ 

       เป็นกาลเพื่อเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์

       เป็นกาลเพื่อเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ 

       ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะจิตหดหู่

       จิตที่หดหู่นั้นให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

       เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และไม่โรยฝุ่นในไฟนั้น บุรุษนั้นสามารถจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ ?

       “ได้ พระเจ้าข้า !”

       ฉันนั้นเหมือนกัน... 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับการสอบ  /  หัวข้อย่อย : วิธีแก้ความหดหู่  /  หัวข้อเลขที่ : 65  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/155/568.  /  หน้าที่ : 178 , 179 

- END -

ทำความเพียรแข่งกับอนาคตภัย

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทำความเพียรแข่งกับอนาคตภัย 

      ภิกษุทั้งหลาย !  ภัยในอนาคตเหล่านี้ มีอยู่ 5 ประการ ซึ่งภิกษุผู้มองเห็นอยู่ ควรแท้ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้น อยู่ตลอดไป เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว

       ภัยในอนาคต 5 ประการนั้น คืออะไรบ้างเล่า ? 5 ประการ คือ 

       ( 1 ) ภิกษุในกรณีนี้ พิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ เรายังหนุ่ม ยังเยาว์วัย ยังรุ่นคะนอง มีผมยังดำสนิท ตั้งอยู่ในวัยกำลังเจริญ คือปฐมวัย

       แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ความแก่ จะมาถึงร่างกายนี้

       ก็คนแก่ ถูกความชราครอบงำแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย และจะเสพเสนาสนะอันเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าชัฏ ก็ไม่ทำได้ง่ายๆเลย

       ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ( คือความแก่ ) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว แม้จะแก่เฒ่า ก็จักอยู่เป็นผาสุก” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้ออื่นยังมีอีก

       ( 2 ) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ เรามีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟธาตุให้ความอบอุ่นสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก พอปานกลาง ควรแก่การทำความเพียร 

       แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ความเจ็บไข้จะมาถึงร่างกายนี้

       ก็คนที่เจ็บไข้ถูกพยาธิครอบงำแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย และจะเสพเสนาสนะอันเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าชัฏ ก็ไม่ทำ ได้ง่ายๆ เลย

       ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ( คือความเจ็บไข้ ) นั้น จะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว แม้จะเจ็บไข้ ก็จักอยู่เป็นผาสุก” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย! ข้ออื่นยังมีอีก

       ( 3 ) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ ข้าวกล้างามดี บิณฑะ ( ก้อนข้าว ) หาได้ง่าย เป็นการสะดวกที่จะยังชีวิตให้เป็นไปด้วยความพยายามแสวงหาบิณฑบาต

       แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ภิกษาหายาก ข้าวกล้าเสียหาย บิณฑะหาได้ยาก ไม่เป็นการสะดวกที่จะยังชีวิตให้เป็นไปด้วยความพยายามแสวงหาบิณฑบาต

       เมื่อภิกษาหายาก ที่ใดภิกษาหาง่าย คนทั้งหลายก็อพยพกันไปที่นั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ความอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คนก็จะมีขึ้น

       เมื่อมีการคลุกคลีปะปนกันในหมู่คน จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย

       ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ( คือภิกษาหายาก ) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวที่เกิดทุพภิกขภัย” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย! ข้ออื่นยังมีอีก

       ( 4 ) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ คนทั้งหลายสมัครสมานชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้ดุจดั่งนมผสมกับน้ำ มองแลกันด้วยสายตาแห่งคนที่รักใคร่กัน เป็นอยู่

       แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่ภัย คือโจรป่ากำเริบ ชาวชนบทผู้ขึ้นอยู่ในอาณาจักรแตกกระจัดกระจายแยกย้ายกันไป

       เมื่อมีภัยเช่นนี้ ที่ใดปลอดภัย คนทั้งหลายก็อพยพกันไปที่นั้น

       เมื่อเป็นเช่นนั้น ความอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คนก็จะมีขึ้น

       เมื่อมีการอยู่คลุกคลีปะปนกันในหมู่คน จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย

       ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ( คือโจรภัย ) นั้น จะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว จักอยู่เป็นผาสุก แม้ในคราวที่เกิดโจรภัย” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย! ข้ออื่นยังมีอีก

       ( 5 ) ภิกษุพิจารณาเห็นชัดแจ้งว่า “บัดนี้ สงฆ์สามัคคีปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน อยู่เป็นผาสุก แต่จะมีสักคราวหนึ่งที่สงฆ์แตกกัน

       เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว จะมนสิการถึงคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลายนั้น ไม่ทำได้สะดวกเลย

       ก่อนแต่สิ่งอันไม่เป็นที่ต้องการ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ( คือสงฆ์แตกกัน ) นั้นจะมาถึงเรา เราจะรีบทำความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถึงแล้ว จักอยู่เป็นผาสุกแม้ในคราวเมื่อสงฆ์แตกกัน” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย! ภัยในอนาคต 5 ประการเหล่านี้แล ซึ่งภิกษุผู้มองเห็นอยู่ ควรแท้ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ตลอดไป เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้งเสียโดยเร็ว 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับการสอบ  /  หัวข้อย่อย : ทำความเพียรแข่งกับอนาคตภัย  /  หัวข้อเลขที่ : 64  /  -บาลี ปญฺจก. อํ. 22/117/78.  /  หน้าที่ : 173 , 174 , 175 , 176 , 177 

- END -

การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ( สจฺจานุปตฺติ )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ( สจฺจานุปตฺติ )

       “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ( สจฺจานุปตฺติ ) มีได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร? บุคคลชื่อว่าย่อมตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร? ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมผู้เจริญถึงการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง”

       ภารท๎วาชะ ! การเสพคบ การทำให้เจริญ การกระทำให้มาก ซึ่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นแหละ ( ทั้ง 12 ข้อข้างต้น) เป็นการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง

       ภารท๎วาชะ ! การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ย่อมมีด้วยการกระทำเพียงเท่านี้

       บุคคลชื่อว่า ย่อมตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้

       และเราบัญญัติการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับการสอบ  /  หัวข้อย่อย : การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ( สจฺจานุปตฺติ )  /  หัวข้อเลขที่ : 63  /  -บาลี ม. ม. 13/605/657.  /  หน้าที่ : 172   

- END - 

การตามรู้ซึ่งความจริง ( สจฺจานุโพโธ )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง การตามรู้ซึ่งความจริง ( สจฺจานุโพโธ )

     “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามรู้ซึ่งความจริง ( สจฺจานุโพโธ ) มีได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร? บุคคลชื่อว่าตามรู้ซึ่งความจริง ด้วยการกระท�ำเพียงเท่าไร? ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมผู้เจริญถึงการตามรู้ซึ่งความจริง”

       ภารท๎วาชะ ! ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านหรือในนิคมแห่งใดแห่งหนึ่ง

       คหบดีหรือคหบดีบุตร ได้เข้าไปใกล้ภิกษุนั้นแล้วใคร่ครวญดูอยู่ในใจเกี่ยวกับธรรม 3 ประการ คือ

       ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ 

       ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ 

       ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ...

       เมื่อเขาใคร่ครวญดูอยู่ซึ่งภิกษุนั้น ย่อมเล็งเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ

       ต่อแต่นั้น เขาจะพิจารณาใคร่ครวญภิกษุนั้นให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ… ในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ…

       เมื่อเขาใคร่ครวญดูอยู่ซึ่งภิกษุนั้น ย่อมเล็งเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ... ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ

       ลำดับนั้นเขา

       ( 1 ) ปลูกฝังศรัทธาลงไปในภิกษุนั้น ครั้นมีศรัทธาเกิดแล้ว 

       ( 2 ) ย่อมเข้าไปหา ครั้นเข้าไปหาแล้ว

       ( 3 ) ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ครั้นเข้าไปนั่งใกล้แล้ว

       ( 4 ) ย่อมเงี่ยโสตลง ครั้นเงี่ยโสตลง

       ( 5 ) ย่อมฟังซึ่งธรรม ครั้นฟังซึ่งธรรมแล้ว

       ( 6 ) ย่อมทรงไว้ซึ่งธรรม 

       ( 7 ) ย่อมใคร่ครวญซึ่งเนื้อความแห่งธรรมทั้งหลาย อันตนทรงไว้แล้ว เมื่อใคร่ครวญซึ่งเนื้อความแห่งธรรมอยู่ 

       ( 8 ) ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อความเพ่งพินิจ เมื่อการทนต่อการเพ่งพินิจของธรรมมีอยู่

       ( 9 ) ฉันทะย่อมเกิดขึ้น ผู้มีฉันทะเกิดขึ้นแล้ว

       ( 10 ) ย่อมมีอุสสาหะ ครั้นมีอุสสาหะแล้ว

       ( 11 ) ย่อมพิจารณาหาความสมดุลย์แห่งธรรม ครั้นมีความสมดุลย์แห่งธรรมแล้ว

       ( 12 ) ย่อมตั้งตนไว้ในธรรมนั้น

       เขาผู้มีตนส่งไปแล้วอย่างนี้อยู่ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ ( ความจริงโดยความหมายสูงสุด ) ด้วยนามกายด้วย ย่อมแทงตลอดซึ่งธรรมนั้น แล้วเห็นอยู่ด้วยปัญญาด้วย 

       ภารท๎วาชะ ! การตามรู้ซึ่งความจริง ย่อมมีด้วยการกระทำเพียงเท่านี้

       บุคคลชื่อว่า ย่อมตามรู้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ และเราบัญญัติการตามรู้ซึ่งความจริงด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ 

       แต่ว่านั่นยังไม่เป็นการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับการสอบ  /  หัวข้อย่อย : การตามรู้ซึ่งความจริง ( สจฺจานุโพโธ )  /  หัวข้อเลขที่ : 62  /  -บาลี ม. ม. 13/602/656.  /  หน้าที่ : 169 , 170 , 171  

- END -

วิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ( สจฺจานุรกฺขณา )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง วิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ( สจฺจานุรกฺขณา ) 


      “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ( สจฺจานุรกฺขณา ) นั้น มีได้ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร? บุคคลจะตามรักษาไว้ซึ่งความจริงนั้นได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร? ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมผู้เจริญถึงวิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง”

       ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ความเชื่อ ของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” ดังนี้ 

       เขาก็อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ...

       ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ความชอบใจ ของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความชอบใจอย่างนี้” ดังนี้ 

       เขาก็อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ...

       ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้เรื่องที่ ฟังตามๆกันมา ของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีเรื่องที่ฟังตามๆ กันมาอย่างนี้” ดังนี้

       เขาก็อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ... 

       ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ความตริตรึกไปตามเหตุผลที่แวดล้อม ของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความตริตรึกไปตามเหตุผลที่แวดล้อมอย่างนี้” ดังนี้  

       เขาก็อย่าพึงถึงการสันนิษฐานโดยส่วนเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ... 

       ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ข้อยุติที่ทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็น ของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีข้อยุติที่ทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็นอย่างนี้” ดังนี้

       เขาก็อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน ... 


       ภารท๎วาชะ ! ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้แล การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ย่อมมีบุคคลชื่อว่า ย่อมตามรักษาไว้ซึ่งความจริงด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ 

       และเราบัญญัติการตามรักษาไว้ซึ่งความจริงด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ แต่ว่านั่นยังไม่เป็นการตามรู้ซึ่งความจริง 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับการสอบ  /  หัวข้อย่อย : วิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ( สจฺจานุรกฺขณา )  /  หัวข้อเลขที่ : 61  /  -บาลี ม. ม. 13/601/655.  /  หน้าที่ : 165 , 166 , 167  

- END - 

ผู้เห็นแก่นอน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผู้เห็นแก่นอน

      ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายจะเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างไร ? 

       พวกเธอเคยได้เห็นได้ฟังมาบ้างหรือว่า พระราชา ผู้เป็นกษัตริย์ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบความสุขในการประทม หาความสุขในการเอนพระวรกาย หาความสุขในการประทมหลับ ตามแต่พระประสงค์อยู่เนืองนิจ

       ยังคงทรงปกครองราชสมบัติให้เป็นที่รักใคร่ถูกใจพลเมือง จนตลอดพระชนม์ชีพได้อยู่หรือ ? 

       “อย่างนี้ ไม่เคยได้เห็นได้ฟังเลย พระเจ้าข้า !”

       ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อที่กล่าวนี้ แม้เราเองก็ไม่เคยได้เห็นได้ฟังอย่างนั้นเหมือนกัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลาย จะเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างไร ? 

       พวกเธอเคยได้เห็นได้ฟังมาบ้างหรือว่า ผู้ครองรัฐก็ดี ทายาทผู้สืบมรดกก็ดี เสนาบดีก็ดี นายบ้านก็ดี และหัวหน้าหมู่บ้านก็ดี ประกอบความสุขในการนอน หาความสุขในการเอนกาย หาความสุขในการหลับ ตามสบายใจอยู่เนืองนิจ

       ยังคงดำรงตำแหน่งนั้นๆ ให้เป็นที่รักใคร่ถูกใจของ ( ประชาชนทุกเหล่า ) กระทั่งลูกหมู่ จนตลอดชีวิตได้อยู่หรือ ? 

       “อย่างนี้ ไม่เคยได้เห็นได้ฟังเลย พระเจ้าข้า !”

       ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อที่กล่าวนี้ แม้เราเองก็ไม่เคยได้เห็นได้ฟังอย่างนั้นเหมือนกัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลาย จะเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างไร ?

       พวกเธอเคยได้เห็นได้ฟังมาบ้างหรือว่า สมณะหรือพราหมณ์ ที่เอาแต่ประกอบความสุขในการนอน หาความสุขในการเอนกาย หาความสุขในการหลับ ตามสบายใจอยู่เสมอๆ ทั้งเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในการบริโภค ไม่ตามประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น ไม่เห็นแจ่มแจ้งซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ตามประกอบการทำ เนืองๆ ในโพธิปักขิยธรรม ทั้งในยามต้นและยามปลาย

       แล้วยังจะกระทำให้แจ้งได้ซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันประเสริฐยิ่งเองในทิฏฐธรรมเทียว เข้าถึงแล้วแลอยู่?

       “ข้อนั้น ก็ยังไม่เคยได้เห็นได้ฟังเลย พระเจ้าข้า !”

       ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อที่กล่าวถึงนี้ แม้เราเองก็ไม่เคยได้เห็นได้ฟังอย่างนั้นเหมือนกัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า

       “เราทั้งหลาย จักคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค ตามประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น เป็นผู้เห็นแจ่มแจ้งซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย และจักตามประกอบอนุโยคภาวนาในโพธิปักขิยธรรม ทั้งในยามต้นและยามปลายอยู่เสมอๆ” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจอย่างนี้แล 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับการสอบ  /  หัวข้อย่อย : ผู้เห็นแก่นอน  /  หัวข้อเลขที่ : 58  /  -บาลี ฉกฺก. อํ. 22/333/288.  /  หน้าที่ : 160 , 161 , 162 

- END -


ต้องขึงสายพิณพอเหมา

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ต้องขึงสายพิณพอเหมา

       โสณะ ! เธอมีความคิดในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร เมื่อก่อนแต่ครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์ เธอเชี่ยวชาญในเรื่องเสียงแห่งพิณ มิใช่หรือ ? 

       “เป็นเช่นนี้ พระเจ้าข้า !”

       โสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อใดสายพิณของเธอขึงตึงเกินไป เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ จะใช้การได้หรือ ?

       “ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า !”

       โสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อใดสายพิณของเธอขึงหย่อนเกินไป เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ จะใช้การได้หรือ ?

       “ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า !”  

       โสณะ ! แต่ว่า เมื่อใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงนัก หรือไม่หย่อนนัก ขึงได้ระเบียบเสมอๆกันแต่พอดี เมื่อนั้น พิณของเธอย่อมมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือใช้การได้ดี มิใช่หรือ ? 

       “เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า !” 

       โสณะ ! ข้อนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล กล่าวคือ 

       ความเพียรที่บุคคลปรารภจัดเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน 

       ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน

       โสณะ ! เหตุผลนั้นแล เธอจงตั้งความเพียรแต่พอดี จงเข้าใจความที่อินทรีย์ทั้งหลาย ต้องเป็นธรรมชาติที่เสมอๆ กัน จงกำหนดหมายในความพอดีนั้นไว้เถิด

       “พระเจ้าข้า ! ข้าพระองค์จักปฏิบัติอย่างนั้น”  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับการสอบ  /  หัวข้อย่อย : ต้องขึงสายพิณพอเหมา  /  หัวข้อเลขที่ : 57  /  -บาลี ฉกฺก. อํ 22/418/326.  /  หน้าที่ : 158 , 159 

- END - 


Wednesday, April 28, 2021

ทานที่ให้แล้วในสงฆ์แบบใด จึงมีผลมาก

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทานที่ให้แล้วในสงฆ์แบบใด จึงมีผลมาก 

      ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคล 8 จำพวกเหล่านี้ เป็นผู้ควรแก่ของบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

       8 จำพวกอะไรบ้างเล่า ?  8 จำพวก คือ

       ( 1 ) พระโสดาบัน

       ( 2 ) พระผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล

       ( 3 ) พระสกทาคามี

       ( 4  ) พระผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล

       ( 5 ) พระอนาคามี

       ( 6  ) พระผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล 

       ( 7  ) พระอรหันต์ 

       ( 8 ) พระผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นอรหันต์


       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคล 8 จำพวกเหล่านี้แล เป็นผู้ควรแก่ของบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

       “ผู้ปฏิบัติแล้ว 4 จำพวก และผู้ตั้งอยู่ในผลแล้ว 4 จำพวกนี่แหละ ! สงฆ์ที่เป็นคนตรง เป็นผู้ตั้งมั่นแล้วในปัญญาและศีล ย่อมกระทำให้เกิดบุญอื่นเนื่องด้วยอุปธิแก่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีความต้องการด้วยบุญ กระทำการบูชาอยู่ ทานที่ให้แล้วในสงฆ์ จึงมีผลมาก” 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : ทานที่ให้แล้วในสงฆ์แบบใด จึงมีผลมาก  /  หัวข้อเลขที่ : 55  /  -บาลี อฏฐก. อํ. 23/301/149.  /  หน้าที่ : 152 , 153  

- END -

ธรรมดาของโลก

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ธรรมดาของโลก 

       มีลาภ เสื่อมลาภ

       มียศ เสื่อมยศ

       นินทา สรรเสริญ

       สุข และ ทุกข์

       8 อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงในหมู่มนุษย์

       ไม่ยั่งยืนมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

       ผู้มีปัญญา มีสติ รู้ความข้อนี้แล้ว

       ย่อมเพ่งอยู่ในความแปรปรวน 

       เป็นธรรมดาของโลกธรรมนั้น 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : ธรรมดาของโลก  /  หัวข้อเลขที่ : 53  /  -บาลี อฏฐก. อํ. 23/159/96.  /  หน้าที่ : 149  

- END -



ทำดี ได้ดี

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทำดี ได้ดี 

      มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศัสตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่

       เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้

       หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน  

       มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศัสตรา

       เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้

       หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย 

       มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์

       เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้

       หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคทรัพย์มาก 

       มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ

       เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้

       หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส 

       มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น

       เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้

       หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดามาก 

       มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา

       เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้

       หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง 

       มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน

       เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้

       หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : ทำดี ได้ดี  /  หัวข้อเลขที่ : 52  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/377-384/583-595.  /  หน้าที่ : 145 , 146 , 147 , 148  

- END -

อานิสงส์สำหรับผู้ทำศีลให้บริบูรณ์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อานิสงส์สำหรับผู้ทำศีลให้บริบูรณ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  เธอทั้งหลาย จงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่เถิด พวกเธอทั้งหลาย จงสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายที่มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นที่รัก ที่เจริญใจ ที่เคารพ ที่ยกย่อง ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันทั้งหลาย” ดังนี้แล้ว เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย พึงตามประกอบในธรรมเป็นเครื่องสงบแห่งจิตในภายใน เป็นผู้ไม่เหินห่างในฌาน เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยวิปัสสนา และให้วัตรแห่งผู้อยู่สุญญาคารทั้งหลาย เจริญงอกงามเถิด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นผู้มีลาภด้วยบริขารคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย” ดังนี้ก็ดี ...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช บริขารของทายกเหล่าใด การกระทำเหล่านั้น พึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่ทายกเหล่านั้น” ดังนี้ก็ดี ...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “ญาติสายโลหิตทั้งหลาย ซึ่งตายจากกันไปแล้ว มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงเราอยู่ ข้อนั้นจะพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แก่เขาเหล่านั้น” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงอดทนได้ซึ่งความไม่ยินดีและความยินดี อนึ่ง ความไม่ยินดีอย่าเบียดเบียนเรา เราพึงครอบงำย่ำยีความไม่ยินดี ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้วอยู่เถิด” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงอดทนความขลาดกลัวได้ อนึ่ง ความขลาดกลัวอย่าเบียดเบียนเรา เราพึงครอบงำ ย่ำยีความขลาดกลัวที่บังเกิดขึ้นแล้วอยู่เถิด” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงได้ตามต้องการ ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งฌานทั้งสี่ อันเป็นไปในจิตอันยิ่ง เป็น ทิฏฐธรรมสุขวิหาร” ดังนี้ก็ดี ...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา ผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน มีการตรัสรู้ อยู่ข้างหน้า” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นสกทาคามี เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความเบาบางแห่งราคะ โทสะ และโมหะ พึงมาสู่เทวโลกอีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วพึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ... 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นโอปปาติกะ ( พระอนาคามี ) เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 พึงปรินิพพานในภพนั้น ไม่กลับจากโลกนั้น เป็นธรรมดา” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงแสดงอิทธิวิธีมีอย่างต่างๆ ได้” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ... 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงมีทิพยโสต” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราใคร่ครวญแล้ว พึงรู้จิตของสัตว์เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่น ด้วยจิตของตน” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ... 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงตามระลึกถึงภพที่เคยอยู่ในกาลก่อนได้หลายๆ อย่าง...”  ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ.. 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเห็นสัตว์ทั้งหลายด้วยจักษุทิพย์ อันหมดจดเกินจักษุสามัญของมนุษย์” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ... 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมเทียว เข้าถึงแล้วแลอยู่” ดังนี้ก็ดี 

       เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย พึงตามประกอบในธรรมเป็นเครื่องสงบแห่งจิตในภายใน เป็นผู้ไม่เหินห่างในฌานประกอบพร้อมแล้วด้วยวิปัสสนา และให้วัตรแห่งผู้อยู่สุญญาคารทั้งหลายเจริญงอกงามเถิด

       คำใดที่เราผู้ตถาคตกล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย!  เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่เถิด เธอทั้งหลาย จงสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายที่มีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด” ดังนี้

       คำนั้นอันเราตถาคต อาศัยเหตุผลดังกล่าวนี้แล จึงได้กล่าวแล้ว 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : อานิสงส์สำหรับผู้ทำศีลให้บริบูรณ์  /  หัวข้อเลขที่ : 49  /  -บาลี มู. ม. 12/58/73.  /  หน้าที่ : 135 , 136 , 137 , 138 , 139  

- END - 


อุโบสถ ( ศีล )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อุโบสถ ( ศีล )

      ( ปาณาติปาตา เวรมณี ) เธอนั้น ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต ( ฆ่าสัตว์ ) วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่

       ( อทินนาทานา เวรมณี ) เธอนั้น ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ( ลักทรัพย์ ) ถือเอาแต่ของที่เขาให้แล้ว หวังอยู่แต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย มีตนเป็นคนสะอาดเป็นอยู่ 

       ( อพรฺหมฺจริยา เวรมณี ) เธอนั้น ละกรรมอันไม่ใช่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์โดยปกติ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากการเสพเมถุนอันเป็นของชาวบ้าน 

       ( มุสาวาทา เวรมณี ) เธอนั้น ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่ความจริง รักษาความสัตย์ มั่นคงในคำพูด มีคำพูดควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลก

       ( สุราเมระยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี ) เธอนั้น เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท 

       ( วิกาละโภชนา เวรมณี ) เธอนั้น เป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว เว้นจากการฉันในราตรีและวิกาล 

       ( นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวรมณี ) เธอนั้น เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคม และการดูการเล่นชนิดเป็นข้าศึกแก่กุศล

       ( มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวรมณี ) เธอนั้น เป็นผู้เว้นขาดจากการประดับประดา คือทัดทรงตกแต่งร่างกายด้วยมาลา ของหอม และเครื่องลูบทา 

       ( อุจจาสะยะนะมหาสะยะนา เวรมณี ) เธอนั้น เป็นผู้เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : อุโบสถ ( ศีล )  /  หัวข้อเลขที่ : 46  /  -บาลี ติก. อํ. 20/271/510.  /  หน้าที่ : 122 , 123  

- END - 


ทาน ที่จัดว่าเป็น มหาทาน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทาน ที่จัดว่าเป็น มหาทาน 

      ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวก ในกรณีนี้ ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต

       ภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกเว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว ย่อมชื่อว่า ให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณ

       ครั้นให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อันไม่มีประมาณ

       ภิกษุทั้งหลาย! นี้เป็นทานชั้นปฐม เป็นมหาทาน รู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนี้เป็นท่อธารแห่งบุญ เป็นที่ไหลออกแห่งกุศล นำมาซึ่งสุข เป็นไปเพื่อยอดสุดอันดี มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขอันพึงปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ 

       ( ในกรณีศีล 5 อีกสี่ข้อที่เหลือ คือ การเว้นขาดจาก อทินนาทาน การเว้นขาดจาก กาเมสุมิฉาจาร การเว้นขาดจาก มุสาวาท และการเว้นขาดจาก การดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ก็ตรัสอย่างเดียวกัน ) 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ทาน 5 ประการนี้แล เป็นมหาทานรู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : ทาน ที่จัดว่าเป็น มหาทาน  /  หัวข้อเลขที่ : 45  /  -บาลี อฏฺฐก. อํ. 23/250/129.  /  หน้าที่ : 120 , 121 

- END -



ศีล 5

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ศีล 5

      ( ปาณาติปาตา เวรมณี ) เธอนั้น ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต ( ฆ่าสัตว์ ) วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่ 

       ( อทินนาทานา เวรมณี ) เธอนั้น ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ( ลักทรัพย์ ) ถือเอาแต่ของที่เขาให้แล้ว หวังอยู่แต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย มีตนเป็นคนสะอาดเป็นอยู่ 

       ( กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ) เธอนั้น ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ( คือเว้นขาดจากการประพฤติผิด ) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ ( ด้วยการคล้องพวงมาลัย ) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น

       ( มุสาวาทา เวรมณี ) เธอนั้น ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่ความจริง รักษาความสัตย์ มั่นคงในคำพูด มีคำพูดควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลก

       ( สุราเมระยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี ) เธอนั้น เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : ศีล 5  /  หัวข้อเลขที่ : 44  /  -บาลี ปา. ที. 11/247/286. , -บาลี สี. ที. 9/83/103. , -บาลี ทสก. อํ. 24/285/165.  /  หน้าที่ : 118 , 119  

- END -



Tuesday, April 27, 2021

งูเปื้อนคูถ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง งูเปื้อนคูถ 

      ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชชนิดไร ที่ทุกๆคนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้?

       ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชบางคนในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย

       ภิกษุทั้งหลาย!  นักบวชชนิดนี้แล ที่ทุกๆคนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ 

       ข้อนั้นเพราะอะไร ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุว่า ถึงแม้ผู้ที่เข้าใกล้ชิด จะไม่ถือเอานักบวชชนิดนี้เป็นตัวอย่างก็ตาม แต่ว่าเสียงร่ำลืออันเสื่อมเสีย จะระบือไปว่า

       “คนๆนี้ มีมิตรเลว มีเพื่อนทราม มีเกลอลามก” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนงูที่ตกลงไปจมอยู่ในหลุมคูถ กัดไม่ได้ก็จริงแล แต่มันอาจทำคนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นจากหลุมคูถให้เปื้อนด้วยคูถได้ ( ด้วยการดิ้นของมัน ) นี้ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  แม้ผู้เข้าใกล้ชิด จะไม่ถือเอานักบวชชนิดนี้เป็นตัวอย่างก็จริงแล แต่ว่า เสียงร่ำลืออันเสื่อมเสียจะระบือไปว่า

       “คนๆนี้ มีมิตรเลว มีเพื่อนทราม มีเกลอลามก” ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน 

       เพราะเหตุนั้น นักบวชชนิดนี้ จึงเป็นคนที่ทุกๆคนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับชีวิต  /  หัวข้อย่อย : งูเปื้อนคูถ  /  หัวข้อเลขที่ : 41  /  -บาลี ติก. อํ. 20/158/466.  /  หน้าที่ : 110 , 111  

- END -


ไม่โกหกกัน แม้เพียงเพื่อหัวเราะเล่น

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ไม่โกหกกัน แม้เพียงเพื่อหัวเราะเล่น

       “ราหุล ! นักบวชที่ไม่มีความละอายในการแกล้งกล่าวเท็จ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จ ก็มีความเป็นสมณะ เท่ากับความว่างเปล่าของน้ำในภาชนะนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ..ฯลฯ..”

       “ราหุล ! เรากล่าวว่า กรรมอันเป็นบาปหน่อยหนึ่ง ซึ่งนักบวชที่ไม่มีความละอายในการแกล้งกล่าวเท็จ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จ จะทำไม่ได้ หามีไม่

       เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า

       “เราทั้งหลายจักไม่กล่าวมุสาแม้แต่เพื่อหัวเราะกันเล่น” ดังนี้

       ราหุล ! เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้” 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับชีวิต  /  หัวข้อย่อย : ไม่โกหกกัน แม้เพียงเพื่อหัวเราะเล่น  /  หัวข้อเลขที่ : 40  /  -บาลี ม. ม. 13/123/126.  /  หน้าที่ : 109  

- END -




คุณสมบัติของทูต

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง คุณสมบัติของทูต 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 8 ควรทำหน้าที่ทูต 

       องค์ 8 เป็นอย่างไรเล่า ? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

       1.รับฟัง

       2.ให้ผู้อื่นฟัง

       3.กำหนด 

       4.ทรงจำ 

       5.เข้าใจความ 

       6.ให้ผู้อื่นเข้าใจความ

       7.ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ 

       8.ไม่ก่อความทะเลาะ 

       ภิกษุใด เข้าไปสู่บริษัทที่พูดคำหยาบ ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ยังคำพูดให้เสีย ไม่ปกปิดข่าวสาส์น พูดจนหมดความสงสัย และถูกถามก็ไม่โกรธ

       ภิกษุผู้เช่นนั้นแล ย่อมควรทำหน้าที่ทูต  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับชีวิต  /  หัวข้อย่อย : คุณสมบัติของทูต  /  หัวข้อเลขที่ : 39  /  -บาลี จุลฺล. วิ. 7/201/398.  /  หน้าที่ : 108   

- END -


ข้อควรทราบเกี่ยวกับอกุศลมูล ( ราคะ โทสะ โมหะ )

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ข้อควรทราบเกี่ยวกับอกุศลมูล ( ราคะ โทสะ โมหะ )

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าพวกปริพพาชกเดียรถีย์เหล่าอื่นจะพึงถามอย่างนี้ว่า

       “อาวุโส ! ธรรม 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือ ราคะ โทสะ โมหะ

       อาวุโส ! อะไรเป็นความผิดแปลก อะไรเป็นความแตกต่าง อะไรเป็นเครื่องแสดงความต่าง ระหว่างธรรม 3 อย่างเหล่านั้น ?” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่เขาว่า

       “อาวุโส ! ราคะมีโทษน้อย คลายช้า โทสะมีโทษมาก คลายเร็ว โมหะมีโทษมาก คลายช้า”

       ถ้าเขาถามว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ราคะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือราคะที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ ?” ดังนี้

       คำตอบพึงมีว่า สุภนิมิต ( สิ่งที่แสดงให้รู้สึกว่างาม ) คือเมื่อเขาทำในใจซึ่งสุภนิมิตโดยไม่แยบคาย ราคะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และราคะที่เกิดอยู่แล้ว ก็เป็นไปเพื่อวามเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์

       อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย

       ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้โทสะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือโทสะที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์?” ดังนี้

       คำตอบพึงมีว่า ปฏิฆนิมิต ( สิ่งที่แสดงให้รู้สึกกระทบกระทั่ง ) คือเมื่อเขาทำในใจซึ่ง ปฏิฆนิมิต โดยไม่แยบคาย โทสะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และโทสะที่เกิดอยู่แล้ว ก็เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์

       อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย

       ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้โมหะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือโมหะที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์?” ดังนี้

       คำตอบพึงมีว่า อโยนิโสมนสิการ ( การกระทำในใจดยไม่แยบคาย ) คือเมื่อทำในใจโดยไม่แยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และโมหะที่เกิดอยู่แล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์

       อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย

       ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ราคะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือราคะที่เกิดขึ้นแล้ว ละไป?” ดังนี้ 

       คำตอบพึงมีว่า อสุภนิมิต ( สิ่งที่แสดงให้รู้สึกว่าไม่งาม ) คือเมื่อเขาทำในใจซึ่ง อสุภนิมิต โดยแยบคาย ราคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น และราคะที่เกิดอยู่แล้วก็ละไป 

       อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย 

       ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้โทสะที่ยังไม่เกิดไม่เกิดขึ้น หรือโทสะที่เกิดขึ้นแล้ว ละไป ?” ดังนี้ 

       คำตอบพึงมีว่า เมตตาเจโตวิมุตติ ( ความหลุดพ้นแห่งจิตอันประกอบอยู่ด้วยเมตตา ) คือเมื่อเขาทำ ในใจซึ่ง เมตตาเจโตวิมุตติ โดยแยบคาย โทสะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น และโทสะที่เกิดอยู่แล้วก็ละไป 

       อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย

       ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้โมหะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือโมหะที่เกิดขึ้นแล้ว ละไป?” ดังนี้ 

       คำตอบพึงมีว่า โยนิโสมนสิการ คือเมื่อทำในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น และโมหะที่เกิดอยู่แล้วก็ละไป

       อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับชีวิต  /  หัวข้อย่อย : ข้อควรทราบเกี่ยวกับอกุศลมูล ( ราคะ โทสะ โมหะ )  /  หัวข้อเลขที่ : 38  /  -บาลี ติก. อํ. 20/256/508.  /  หน้าที่ : 105 , 106 , 107 

- END -