Tuesday, July 5, 2022

ปริปุจฉา

 

ปริปุจฉา


       ปริปุจฉา หมายถึง ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ความหมายของคำว่า “ปริปุจฺฉา”  


       ในกลุ่มคำที่มาคู่กันเสมอๆ จะพบศัพท์ชุดนี้ คือ อุทเทส และ ปริปุจฉา โดยทั่วไปคำว่า อุทเทส จะหมายถึง ตัวพระบาฬีเอง การเรียน การสอน พระบาฬีนั้นบ้าง

       ส่วน ปริปุจฉา จะหมายถึง อรรถกถา ซึ่งได้แก่ อรรถถาธิบายพระบาฬีนั้น บ้าง การเรียนเอาซึ่งอรรถาธิบายนั้น บ้าง โดยมีรากศัพท์มาจากว่า “สอบถาม” 

       เมื่อสืบค้นในคัมภีร์ต่างๆแล้ว กลับพบว่า คำว่า ปริปุจฉา ยังมีสาระที่นอกเหนือจากที่รู้กันว่า ได้แก่ อรรถกถา ซึ่งแตกต่างกันไปตามควรแก่อาคตสถานอันเป็นบริบทที่พบ 

       เนื่องจาก ปริปุจฉา เป็นคำที่เกี่ยวเนื่องกับการถามเป็นมูลเหตุ จึงควรทราบคำจำกัดความเสียก่อน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 นัย คือ โดยทั่วไป ซึ่งครอบคลุมความหมายทั้งหมด และ โดยเฉพาะบริบท 

       1 ) คำจำกัดความโดยทั่วไป 

       ศัพท์ว่า ปริปุจฺฉา ในที่นี้ หมายถึง การไต่ถาม ซึ่งอรรถแห่งพระบาฬีทุกแง่ทุกมุม เช่น บาฬีนี้คืออะไร และความหมายของบาฬีนี้คืออะไร และ อรรถาธิบาย กล่าวคือ อรรถกถา อัตถวัณณนา ของพระบาฬี อรรถาธิบาย 

       ( ก ) การไต่ถามโดยรอบ

       ปริ = ปุนปฺปุนํ หรือ สมนฺต + ปุจฺฉา มีวิเคราะห์เป็นฉัฏฐีกัมมตัปปุริสสมาส ว่า 

       ปุนปฺปุนํ , สมนฺตโต วา ปาฬิยา อตฺถสฺส ปุจฺฉนํ = ปริปุจฺฉา ( ปาจิตฺ.โย. ) การถาม ซึ่งอรรถแห่งพระบาฬีโดยรอบ  กรณีนี้ เป็นการไต่ถามโดยตรง 


       ( ข ) อรรถาธิบายของพระบาฬี 

       ปริ = ปรา, ปรโต ภายหลัง + ปุจฺฉา มีวิเคราะห์เป็นอัพยยีภาวสมาส ว่า 

       ปุจฺฉาย ปรโต ปวตฺตา กถา = ปริปุจฺฉา 

       กถาอันเป็นไปภายหลังจากการไต่ถาม ชื่อว่า ปริปุจฺฉา.( ปฏิสัมภิทาวิภังคมูลฏี 718 ) 

       ปริปุจฺฉาเหตุ ปวตฺตา กถา ปริปุจฺฉาติ วุตฺตาติ อาห ‘‘ปุจฺฉาย…เป.… ปริปุจฺฉาติ วุตฺตา’’ติฯ 

       ปริปุจฺฉา หมายถึง กถาที่เป็นไปเพราะเหตุแห่งปริปุจฉา ( ปฏิสัมภิทาวิภังคอนุฏี 718 ) 

       ปรา ปุจฺฉาย ปรโต ปวตฺตา ปริปุจฺฉา อฏฺฐกถา  

       กถาอันเป็นไปภายหลังการไต่ถาม ชื่อว่า ปริปุจฉา ( สมนฺต.โยชนา. 2/48/38 ) 

       วิเคราะห์นี้ ได้แก่ อรรถกถา ซึ่งเป็นคำสรุปใจความได้หลังจากที่ไต่ถามคำอรรถาธิบายของบาฬีแล้ว ใคร่ครวญสอบสวน กระทั่งได้ข้อสรุปเป็นข้อวินิจฉัยนั่นเอง    



- จบ -