Wednesday, March 31, 2021

อุปมาความสุขบนสวรรค์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อุปมาความสุขบนสวรรค์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บัณฑิตนั้นนั่นแล ประพฤติสุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงสวรรค์นั้นนั่นแหละว่า เป็นสถานที่ที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจโดยส่วนเดียว

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมาถึงความสุขในสวรรค์ ก็ไม่ใช่ง่ายนัก

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่?

       ภิกษุทั้งหลาย!  อาจเปรียบได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยแก้ว 7 ประการและความสัมฤทธิผล 4 อย่าง จึงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งเหล่านั้นเป็นเหตุได้

       พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว 7 ประการ อย่างไรเล่า ? 

       ( 1 ) ภิกษุทั้งหลาย!  พระราชามหากษัตริย์ในโลกนี้ ผู้ทรงได้มุรธาภิเษกแล้ว ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ 15 ซึ่งวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพย์มีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ครั้นทอดพระเนตรแล้วได้มีพระราชดำริดังนี้ว่า

       “ก็เราได้สดับมาดังนี้แล พระราชาพระองค์ใด ผู้ทรงได้มุรธาภิเษกแล้ว ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ 15 ซึ่งวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพย์ มีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง พระราชานั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือหนอ” 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ต่อนั้น พระองค์เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงจับพระเต้าน้ำ ด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงหลั่งรดจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา รับสั่งว่า “จงพัดผันไปเถิดจักรแก้วผู้เจริญ จักรแก้ว ผู้เจริญจงพิชิตให้ยิ่งเถิด” 

       ลำดับนั้น จักรแก้ว นั้นก็พัดผันไปทางทิศตะวันออก พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคเสนาก็เสด็จตามไป จักรแก้ว ประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วทูลอย่างนี้ว่า “เชิญเสด็จเถิด มหาราช! พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราช! ข้าแต่มหาราช!แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงสั่งการเถิด”

       พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า “ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกันตามสภาพที่เป็นจริงเถิด” 

       บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นแล ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ

       ต่อนั้น จักรแก้ว นั้นได้พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันออก แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศใต้ … พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศใต้ แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศตะวันตก … พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันตก แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศเหนือ …

       ภิกษุทั้งหลาย!  ครั้งนั้นแล จักรแก้ว นั้นพิชิตยิ่งตลอดแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขต แล้วกลับมาสู่ราชธานีเดิม ประดิษฐานอยู่เป็นเสมือนลิ่มสลักพระทวาร ภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ ทำให้งดงามอย่างมั่นคงอยู่ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ย่อมปรากฏ จักรแก้ว เห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ

       ( 2 ) ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ ช้างแก้ว อันเป็นช้างหลวงชื่อ อุโบสถ เผือกทั่วสรรพางค์กาย มีที่ตั้งอวัยวะทั้ง 7 ถูกต้องดี มีฤทธิ์เหาะได้ ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้วย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปรานว่า “จะเป็นยานช้างที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญ ถ้าสำเร็จการฝึกหัด” ต่อนั้น ช้างแก้วนั้น จึงสำเร็จการฝึกหัดเหมือนช้างอาชาไนยตัวเจริญ ที่ถูกฝึกปรือดีแล้วเป็นเวลานาน

       ภิกษุทั้งหลาย!  เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลอง ช้างแก้ว นั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา

       ภิกษุทั้งหลาย!  ย่อมปรากฏช้างแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ

       ( 3 ) ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ ม้าแก้ว อันเป็นอัสวราชชื่อ วลาหก ขาวปลอด ศีรษะดำเหมือนกา เส้นผมสลวยเหมือนหญ้าปล้อง มีฤทธิ์เหาะได้ ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้ว ย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปรานว่า “จะเป็นยานม้าที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญ ถ้าสำเร็จการฝึกหัด” ต่อนั้น ม้าแก้ว นั้นจึงสำเร็จการฝึกหัดเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญ ที่ถูกฝึกปรือดีแล้วเป็นเวลานาน

       ภิกษุทั้งหลาย!  เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลอง ม้าแก้ว นั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา

       ภิกษุทั้งหลาย!  ย่อมปรากฏ ม้าแก้ว เห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ 

       ( 4 ) ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ มณีแก้ว อันเป็นแก้วไพฑูรย์ งามโชติช่วง แปดเหลี่ยม อันเจียระไนไว้อย่างดี มีแสงสว่างแผ่ไปโยชน์หนึ่งโดยรอบ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลอง มณีแก้ว นั้น จึงสั่งให้จตุรงคินีเสนา ยกมณีขึ้นเป็นยอดธง แล้วให้เคลื่อนพลไปในความมืดทึบของราตรี ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ พากันประกอบการงานด้วยแสงสว่างนั้น สำคัญว่าเป็นกลางวัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  ย่อมปรากฏมณีแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ 

       ( 5 ) ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ นางแก้ว รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงผิวพรรณของมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงผิวพรรณทิพย์ มีสัมผัสทางกายปานประหนึ่ง สัมผัสปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย นางแก้ว นั้นมีตัวอุ่นในคราวหนาว มีตัวเย็นในคราวร้อน มีกลิ่นดังกลิ่นจันทน์ฟุ้งไปแต่กาย มีกลิ่นดังกลิ่นอุบลฟุ้งไปแต่ปาก นางแก้ว นั้นมีปกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังบรรหารใช้ ( ตรัสสั่ง ) ประพฤติถูกพระทัย ทูลปราศรัยเป็นที่โปรดปรานต่อพระเจ้าจักรพรรดิ และไม่ประพฤติล่วงพระเจ้าจักรพรรดิแม้ทางใจ ไฉนเล่า จะมีการประพฤติล่วงทางกายได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ย่อมปรากฏ นางแก้ว เห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ 

       ( 6 ) ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ คหบดีแก้ว ผู้มีจักษุอันเป็นทิพย์ เกิดแต่วิบากของกรรมปรากฏ ซึ่งเป็นเหตุให้มองเห็นทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของ ทั้งที่ไม่มีเจ้าของได้ เขาเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ ! พระองค์จงทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักทำหน้าที่การคลังให้พระองค์”

       ภิกษุทั้งหลาย!  เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลอง คหบดีแก้ว นั้น จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งให้ลอยล่องกระแสน้ำ กลางแม่น้ำคงคา แล้วรับสั่งกะ คหบดีแก้ว ดังนี้ว่า “คหบดี! ฉันต้องการเงินและทอง” 

       คหบดีแก้วกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช! ถ้าเช่นนั้นโปรดเทียบเรือเข้าฝั่งข้างหนึ่งเถิด”

       พระเจ้าจักรพรรดิตรัสว่า “คหบดี! ฉันต้องการเงินและทองตรงนี้แหละ”

       ทันใดนั้น คหบดีแก้วจึงเอามือทั้ง 2 หย่อนลงในน้ำ ยกหม้อเต็มด้วยเงินและทองขึ้นมา แล้วกราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราช! พอหรือยังเพียงเท่านี้ ใช้ได้หรือยังเพียงเท่านี้ บูชาได้หรือยังเพียงเท่านี้”

       พระเจ้าจักรพรรดิจึงรับสั่งอย่างนี้ว่า “คหบดี! พอละ ใช้ได้แล้ว บูชาได้แล้วเพียงเท่านี้”

       ภิกษุทั้งหลาย !  ย่อมปรากฏ คหบดีแก้ว เห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ

       ( 7 ) ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏ ปริณายกแก้ว ปริณายกนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา สามารถถวายข้อแนะนำให้พระองค์ทรงบำรุงผู้ที่ควรบำรุง ทรงถอดถอนผู้ที่ควรถอดถอน ทรงแต่งตั้งผู้ที่ควรแต่งตั้ง เขาเข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า

       “ขอเดชะ ! ขอพระองค์จงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักสั่งการถวาย”

       ภิกษุทั้งหลาย !  ย่อมปรากฏปริณายกแก้ว เห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ

       ภิกษุทั้งหลาย!  พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงประกอบด้วยแก้ว 7 ประการนี้

       พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล 4 อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ?

       ( 1 ) ภิกษุทั้งหลาย!  พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ ย่อมทรงพระสิริโฉมงดงาม น่าดูน่าเลื่อมใส ประกอบด้วยพระฉวีวรรณอันงดงามอย่างยิ่งเกินมนุษย์อื่นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ 1 ดังนี้

       ( 2 ) ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงพระชนมายุยืน ทรงดำรงอยู่นานเกินมนุษย์อื่นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ 2 ดังนี้ 

       ( 3 ) ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ไม่ทรงลำบาก ทรงประกอบด้วยพระเตโชธาตุย่อยพระกระยาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เกินมนุษย์อื่นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ 3 ดังนี้ 

       ( 4 ) ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงเป็นที่รักใคร่พอใจ ของพราหมณ์และคหบดี เหมือนบิดาเป็นที่รักใคร่พอใจของบุตรฉะนั้น พราหมณ์และคหบดีก็เป็นที่ทรงโปรดปรานพอพระราชหฤทัยของพระเจ้าจักรพรรดิเหมือนบุตรเป็นที่รักใคร่พอใจของบิดาฉะนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย!  เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาออกประพาสพระราชอุทยาน ทันทีนั้น พราหมณ์และคหบดีเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า

       “ขอเดชะ! ขอพระองค์อย่ารีบด่วน โปรดเสด็จโดยอาการที่พวกข้าพระองค์ได้ชมพระบารมีนานๆ เถิด”

       แม้พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงสั่งสารถีว่า“สารถี ท่านอย่ารีบด่วน จงขับไปโดยอาการที่ฉันได้ชมบรรดาพราหมณ์และคหบดีนานๆ เถิด”

       ภิกษุทั้งหลาย!  พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ 4 ดังนี้ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นอย่างไรเล่า พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว 7 ประการ และความสัมฤทธิผล 4 อย่างดังนี้ พึงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้นเป็นเหตุบ้างไหมหนอ ?

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้วแม้ประการหนึ่งๆ ก็ทรงเสวยสุขโสมนัสอันมีแก้วประการนั้นเป็นเหตุได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงแก้วทั้ง 7 ประการ และความสัมฤทธิผลทั้ง 4 อย่าง

       ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไรเล่า แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้ กับภูเขาหลวงหิมพานต์อย่างไหนหนอแลมากกว่ากัน ?

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทรงถือนี้มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ความนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  ฉันนั้นเหมือนกันแล พระเจ้าจักรพรรดินี้ ทรงประกอบด้วยแก้ว 7 ประการและความสัมฤทธิผล 4 อย่าง ย่อมทรงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งเหล่านั้นเป็นเหตุได้ สุขโสมนัสนั้นเปรียบเทียบสุขอันเป็นทิพย์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้การนับ ย่อมไม่เข้าถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้

       ภิกษุทั้งหลาย!  บัณฑิตนั้นนั่นแล ถ้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราว ไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดในสกุลสูง คือ สกุลกษัตริย์มหาศาล หรือสกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคหบดีมหาศาล เห็นปานนั้น อันเป็นสกุลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงิน อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ และทรัพย์ธัญญาหารอย่างเพียงพอ และเขาจะเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง มีปกติได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป เขาจะประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ครั้นแล้วเมื่อตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

       ภิกษุทั้งหลาย!  เหมือนนักเลงการพนัน เพราะฉวยเอาชัยชนะได้ประการแรกเท่านั้น จึงบรรลุโภคสมบัติมากมาย การฉวยเอาชัยชนะของนักเลงการพนันที่บรรลุโภคสมบัติมากมายได้นั้นแลเพียงเล็กน้อย ที่แท้แล การฉวยเอาชัยชนะใหญ่หลวงกว่านั้น คือ การฉวยเอาชัยชนะที่บัณฑิตนั้น ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แล้วตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นั่นเอง

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้ภูมิของบัณฑิตครบถ้วนบริบูรณ์ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : อุปมาความสุขบนสวรรค์  /  หัวข้อเลขที่ : 74  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/324-333/488-503.  /  หน้าที่ : 276 , 277 , 278 , 279 , 280 , 281 , 282 , 283 , 284 , 285 , 286 , 287 , 288 

- END -





ความแตกต่างของผู้ให้กับผู้ไม่ให้

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ความแตกต่างของผู้ให้กับผู้ไม่ให้ 


      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ขอประทานพระวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาค 2 คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆกัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งเป็นผู้ไม่ให้ คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน จักมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ ? 

       สุมนา!  คนทั้ง 2 นั้นจักมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้ที่เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์

       สุมนา!  ผู้ให้ที่เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการนี้

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ก็ถ้าเทวดาทั้ง 2 นั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ ?

       สุมนา!  คนทั้ง 2 นั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกันคือ ผู้ให้ที่เป็นมนุษย์ ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์

       สุมนา!  ผู้ให้ที่เป็นมนุษย์ ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่ให้ ด้วยเหตุ 5 ประการนี้

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ก็ถ้าคนทั้ง 2 นั้นออกบวช แต่คนทั้ง 2 นั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ ?

       สุมนา!  คนทั้ง 2 นั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกันคือ ผู้ให้ที่เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ

       ( 1 ) เธอใช้สอยจีวร ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ใช้สอยนั้นเป็นส่วนน้อย

       ( 2 ) เธอฉันบิณฑบาต ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ฉันนั้นเป็นส่วนน้อย 

       ( 3 ) เธอใช้สอยเสนาสนะ ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ใช้สอยนั้นเป็นส่วนน้อย 

       ( 4 ) เธอบริโภคยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้บริโภคนั้นเป็นส่วนน้อย

       ( 5 ) เมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย

       สุมนา!  ผู้ให้ที่เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ 5 ประการนี้

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ก็ถ้าคนทั้ง 2 นั้นบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่คนทั้ง 2 นั้น ทั้งที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน
พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ?


       สุมนา !  ข้อนี้ เราไม่กล่าวว่า มีความพิเศษแตกต่างกันใดๆ ในวิมุตติ กับวิมุตติ

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้กำหนดได้ว่า บุคคลควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต

       อย่างนั้น สุมนา!  อย่างนั้น สุมนา!  บุคคลควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )

       ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลกด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ ( การบริจาค )

       เมฆที่ลอยไปตาม อากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอนและที่ลุ่ม ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ 5 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และเปี่ยมด้วยโภคะ ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ดังนี้

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : ความแตกต่างของผู้ให้กับผู้ไม่ให้  /  หัวข้อเลขที่ : 73  /  -บาลี ปญฺจก. อํ. 22/34/31.  /  หน้าที่ : 273 , 274 , 275 

- END - 

สัดส่วนของทาน ศีล ภาวนา

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง สัดส่วนของทาน ศีล ภาวนา 

      ภิกษุทั้งหลาย!  บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้ 3 ประการ อย่างไรเล่า ? คือ

       ( 1 ) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วย ทาน

       ( 2 ) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วย ศีล 

       ( 3 ) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วย ภาวนา

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน นิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล นิดหน่อย ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ภาวนา เลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน พอประมาณ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล พอประมาณ ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ภาวนา เลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน มีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล มีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ภาวนา เลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่า จาตุมหาราชิกา

       ภิกษุทั้งหลาย!  มหาราชทั้ง 4 นั้น เพราะทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน เป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล เป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่า จาตุมหาราชิกา โดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน มีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล มีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ภาวนา เลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่า ดาวดึงส์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ท้าว สักกะจอมเทพ ใน ดาวดึงส์ นั้น กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน เป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล เป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่า ดาวดึงส์ โดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์
เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน มีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล มีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ภาวนา เลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่า ยามา

       ภิกษุทั้งหลาย!  ท้าวสยามเทพบุตร ใน ยามา นั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน เป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล เป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่า ยามา โดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน มีประมาณยิ่ง ทบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล มีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ภาวนา เลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่า ดุสิต
 
       ภิกษุทั้งหลาย!  ท้าวสันดุสิตเทพบุตร ใน ดุสิต นั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน เป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล เป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่า ดุสิต โดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน มีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล มีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ภาวนา เลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่า นิมมานรดี

       ภิกษุทั้งหลาย !  ท้าวสุนิมมิตเทพบุตร ใน นิมมานรดี นั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน เป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล เป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่า นิมมานรดี โดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน มีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล มีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ภาวนา เลย เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่า ปรนิมมิตวสวัตตี

       ภิกษุทั้งหลาย!  ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีเทพบุตร ใน ปรนิมมิตวสวัตตี นั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ทาน เป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีล เป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาเหล่า ปรนิมมิตวสวัตตี โดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้แล บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : สัดส่วนของทาน ศีล ภาวนา  /  หัวข้อเลขที่ : 72  /  -บาลี สตฺตก. อํ. 23/245/126.  /  หน้าที่ : 267 , 268 , 269 , 270 , 271 

- END -

เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน 8 ประการ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน 8 ประการ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน 8 ประการนี้ 8 ประการ อย่างไรเล่า ? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาเห็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือ คหบดีมหาศาล ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อม ถูกบำเรออยู่ด้วยกามคุณ 5 เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล” เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาลหรือคหบดีมหาศาล แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่า เป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตบริสุทธิ์

       ภิกษุทั้งหลาย !  ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่าเทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา” เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตบริสุทธิ์

       ภิกษุทั้งหลาย !  ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ … เทวดาชั้นยามา … เทวดาชั้นดุสิต … เทวดาชั้นนิมมานรดี … เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ! เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี” เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตบริสุทธิ์

       ภิกษุทั้งหลาย !  ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้น พรหมกายิกา มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น พรหมกายิกา” เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น พรหมกายิกา แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตปราศจากราคะ

       ภิกษุทั้งหลาย! เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน 8 ประการนี้แล

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน 8 ประการ  /  หัวข้อเลขที่ : 71  /  -บาลี สตฺตก. อํ. 23/243/125.  /  หน้าที่ : 264 , 265 , 266

- END -



เหตุสำเร็จความปรารถนา

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุสำเร็จความปรารถนา

      ภิกษุทั้งหลาย!  เราจักแสดงเหตุสำเร็จความปรารถนาแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังเหตุสำเร็จความปรารถนานั้น จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาลเถิด” ดังนี้ก็มี … ว่า “โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพราหมณ์มหาศาลเถิด” ดังนี้ก็มี … ว่า “โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งคหบดีมหาศาลเถิด” ดังนี้ก็มี

       เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหาร ธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาเถิด” เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ … เทวดาชั้นยามา … เทวดาชั้นดุสิต … เทวดาชั้นนิมมานรดี … เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีเถิด” เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังมาว่า สหัสสพรหม มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข

       ภิกษุทั้งหลาย!  สหัสสพรหม ย่อมน้อมจิตแผ่ไปตลอดโลกธาตุ 1,000 อยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน สหัสสพรหม นั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ได้ เปรียบเหมือนบุรุษมีนัยน์ตาดี วางมะขามป้อมผลหนึ่งในมือแล้วพิจารณาดูได้ ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  สหัสสพรหม ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมน้อมจิตแผ่ไปตลอดโลกธาตุ 1,000 อยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในสหัสสพรหมนั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ได้ เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง สหัสสพรหม เถิด” เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังมาว่า ทวิสหัสสพรหม … ติสหัสสพรหม … จตุสหัสสพรหม … ปัญจสหัสสพรหม มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข

       ภิกษุทั้งหลาย!  ปัญจสหัสสพรหมย่อมน้อมจิตแผ่ไปตลอดโลกธาตุ 5,000 อยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน ปัญจสหัสสพรหม นั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ได้ เปรียบเหมือนบุรุษมีนัยน์ตาดี วางผลมะขามป้อม 5 ผลในมือแล้ว พิจารณาดูได้ ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ปัญจสหัสสพรหม ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมน้อมจิตแผ่ไปสู่โลกธาตุ 5,000 อยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน ปัญจสหัสสพรหม ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ได้ เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง ปัญจสหัสสพรหม เถิด” เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนา และวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไป เพื่อความสำ เร็จในภาวะนั้นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังมาว่า ทสสหัสสพรหม  มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข

       ภิกษุทั้งหลาย!  ทสสหัสสพรหม ย่อมน้อมจิตแผ่ไปตลอดโลกธาตุ 10,000 อยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน ทสสหัสสพรหม นั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ได้ เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์ งามโชติช่วง แปดเหลี่ยมอันเขาเจียระไนดีแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลเหลือง ย่อมส่องแสงเรือง ไพโรจน์ ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ทสสหัสสพรหม ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมน้อมจิตแผ่ไปตลอดโลกธาตุหมื่นหนึ่งอยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน ทสสหัสสพรหม นั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ได้ เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง ทสสหัสสพรหม เถิด” เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟัง ว่าสตสหัสสพรหม มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข

       ภิกษุทั้งหลาย!  สตสหัสสพรหม ย่อมน้อมจิตแผ่ไปตลอดโลกธาตุ 100,000 อยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน สตสหัสสพรหม นั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ได้ เปรียบเหมือนแท่งทองชมพูนุท ที่เขาหลอมด้วยความชำนาญดี ในเบ้าของช่างทองผู้ฉลาดแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงเรืองไพโรจน์ ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  สตสหัสสพรหม ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมน้อมจิตแผ่ไปตลอดโลกธาตุ 100,000 อยู่ แม้สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วใน สตสหัสสพรหม นั้น ก็น้อมจิตแผ่ไปอยู่ได้ เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ “โอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง สตสหัสสพรหม เถิด” เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นอาภา … เทวดาชั้นปริตตาภา … เทวดาชั้นอัปปมาณาภา … เทวดาชั้นอาภัสสรา … เทวดาชั้นสุภา… เทวดาชั้นปริตตสุภา… เทวดาชั้นอัปปมาณสุภา … เทวดาชั้นสุภกิณหา … เทวดาชั้นเวหัปปผลา … เทวดาชั้นอวิหา … เทวดาชั้นอตัปปา … เทวดาชั้นสุทัสสา … เทวดาชั้นสุทัสสี … เทวดาชั้นอกนิฏฐา มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น อกนิฏฐา เถิด” เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังมาว่า เทวดาผู้เข้าถึง อากาสานัญจายตนภพ  … เทวดาผู้เข้าถึง วิญญาณัญจายตนภพ … เทวดาผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ … เทวดาผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ มีอายุยืน ดำรงอยู่นาน มากด้วยความสุข เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ !  เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนภพ เถิด”  เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำ เร็จในภาวะนั้นๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ! เราพึงเข้าถึง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่ง อาสวะ ทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่” เธอจึงเข้าถึง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่ง อาสวะ ทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุนี้ ย่อมไม่เกิดในที่ไหนๆ

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : เหตุสำเร็จความปรารถนา  /  หัวข้อเลขที่ : 70  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/217/318.  /  หน้าที่ : 256 , 257 , 258 , 259 , 260 , 261 , 262 , 263

- END -







ผลของการต้อนรับบรรพชิต ด้วยวิธีที่ต่างกัน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผลของการต้อนรับบรรพชิต ด้วยวิธีที่ต่างกัน 


      ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ในราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาเป็นอันมากมีผิวพรรณงดงาม ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ แต่ไม่กราบไหว้ ข้าพระองค์เหล่านั้น มีการงานยังไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว

       ภิกษุทั้งหลาย!  เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมาก เข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้แต่ไม่ให้อาสนะ ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว

       …ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้และให้อาสนะ แต่ไม่แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง …

       …ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ และแบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง แต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม …

       …ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง และเข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม แต่ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม …

       …ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม และเงี่ยโสตลงฟังธรรม แต่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ …

       …ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตลงฟังธรรม และฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ …

       …ข้าพระองค์เหล่านั้น ลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แต่ไม่รู้ทั่วถึงอรรถ ไม่รู้ทั่วถึงธรรม และไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว

       ภิกษุทั้งหลาย!  เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมาก เข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันสิ่งของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ และรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานบริบูรณ์ ไม่มีความกินแหนงใจ ไม่มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นประณีต
 
       ภิกษุทั้งหลาย!  นั่น โคนไม้ทั้งหลาย , นั่น เรือนว่างทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย จงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลัง เหมือนเทวดาพวกต้นๆ เหล่านั้น

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : ผลของการต้อนรับบรรพชิต ด้วยวิธีที่ต่างกัน  /  หัวข้อเลขที่ : 69  /  -บาลี สตฺตก. อํ. 23/403/223.  /  หน้าที่ : 253 , 254 , 255 

- END -

ผลจากการวางจิตเมื่อให้ทาน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผลจากการวางจิตเมื่อให้ทาน 

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้น นั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก? อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้น นั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ?

       สารีบุตร!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยมีความหวังผล ให้ทานโดยมีจิตผูกพันในผล ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม ( บุญ ) ให้ทานโดยคิดว่า “เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้” เขาจึงให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ … เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

       สารีบุตร!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม ( บุญ ) ให้ทานโดยไม่คิดว่า “เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้” แต่เขาให้ทานด้วยคิดว่า “การให้ทานเป็นการดี” เขาจึงให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … แก่สมณะหรือพราหมณ์ … เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

       สารีบุตร!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า “การให้ทานเป็นการดี” แต่ให้ทานด้วยคิดว่าบิดามารดา ปู่ย่าตายาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … แก่สมณะหรือพราหมณ์ … เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่ายามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

       สารีบุตร!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าบิดามารดา ปู่ย่าตายาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … แก่สมณะหรือพราหมณ์ … เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

       สารีบุตร!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ เขาให้ทาน คือ ข้าว นำ้ … แก่สมณะหรือพราหมณ์
… เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่านิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

       สารีบุตร!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี … ภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … แก่สมณะหรือพราหมณ์ … เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

       สารีบุตร!  บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ … แก่สมณะหรือพราหมณ์ … เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าพรหมกายิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้

       สารีบุตร !  นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : ผลจากการวางจิตเมื่อให้ทาน  /  หัวข้อเลขที่ : 68  /  -บาลี สตฺตก. อํ. 23/60/49.  /  หน้าที่ : 248 , 249 , 250 , 251

- END -


ผลแห่งความประพฤติเรียบร้อย

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผลแห่งความประพฤติเรียบร้อย 


      ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !  อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต และนรก ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !  อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย ?

       พราหมณ์และคหบดี!  สัตว์บางพวกในโลกนี้เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต และนรก * * * ( 1 ) ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรม

       พราหมณ์และคหบดี!  สัตว์บางพวกในโลกนี้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม

       พวกข้าพระองค์ไม่ทราบเนื้อความอย่างพิสดารแห่งธรรม ที่พระโคดมตรัสโดยย่อ มิได้ทรงจำแนกความให้พิสดาร ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงธรรมแก่พวกข้าพระองค์ โดยอาการที่พวกข้าพระองค์จะพึงรู้เนื้อความอย่างพิสดารแห่งธรรมที่พระโคดมผู้เจริญตรัสโดยย่อ มิได้ทรงจำแนกความให้พิสดารเถิด

       พราหมณ์และคหบดี!  ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจงฟัง จงทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว

       พราหมณ์และคหบดี!  ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกายมี 3 อย่าง ทางวาจามี 4 อย่าง ทางใจมี 3 อย่าง

       พราหมณ์และคหบดี!  ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกายมี 3 อย่าง ทางวาจามี 4 อย่าง ทางใจมี 3 อย่าง * * * ( 2 )

       พราหมณ์และคหบดี!  ถ้าบุคคลผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม พึงหวังว่า “โอหนอ !  ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาลเถิด”  ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย บุคคลนั้นพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?

       เพราะว่าบุคคลนั้น เป็นผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ เป็นผู้ประพฤติธรรมอย่างนั้นแล

       พราหมณ์และคหบดี!  ถ้าบุคคลผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม พึงหวังว่า “โอหนอ !  ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพราหมณ์มหาศาล … คหบดีมหาศาล … เทวดาเหล่า จาตุมหาราชิกา … เทวดาเหล่าดาวดึงส์ … เทวดาเหล่ายามา … เทวดาเหล่าดุสิต … เทวดาเหล่านิมมานรดี … เทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัตตี … เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม … เทวดาเหล่าอาภา … เทวดาเหล่าปริตตาภา … เทวดาเหล่าอัปปมาณาภา … เทวดาเหล่าอาภัสสรา … เทวดาเหล่าปริตตสุภา … เทวดาเหล่าอัปมาณสุภา … เทวดาเหล่าสุภกิณหกะ … เทวดาเหล่าเวหัปผละ … เทวดาเหล่าอวิหา … เทวดาเหล่าอตัปปา … เทวดาเหล่าสุทัสสา … เทวดาเหล่าสุทัสสี … เทวดาเหล่าอกนิฏฐะ … เทวดาผู้เข้าถึงอากาสา นัญจายตนภพ … เทวดาผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ … เทวดาผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ … เทวดาผู้เข้าถึงเนว สัญญานาสัญญายตนภพ … .

       พราหมณ์และคหบดี!  ถ้าบุคคลผู้ประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม พึงหวังว่า “เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่เถิด” ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้  บุคคลนั้นพึงทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่

       ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะว่าบุคคลนั้น เป็นผู้ประพฤติเรียบร้อย คือเป็นผู้ประพฤติธรรมอย่างนี้แล

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

* * * ( 1 ) อบาย ทุคติวินิตบาต นรก = ภพที่ต่ำกว่ามนุษย์


* * * ( 2 ) รายละเอียด อกุศลกรรมบท 10  และ กุศลกรรมบท 10 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหน้า 45 - 46 และ 160 - 164 ของ หนังสือเล่มนี้ 

       ( ผู้ทำเว็บ - อกุศลกรรมบท 10 - ดูได้ที่หนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : นรก  /  หัวข้อย่อย : เหตุให้ทุคติปรากฏ  /  หัวข้อเลขที่ : 14  / -บาลี ทสก. อํ. 24/285-287 , 305/165 , 169.  / หน้าที่ : 42 , 43 , 44 , 45 , 46  ( ทำเป็นลิงก์เอาไว้ให้อ่านแล้วนะครับ คลิ๊กที่นี่ครับ )

       กุศลกรรมบท 10 - ดูได้ที่หนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : เหตุให้สุคติปรากฏ  /  หัวข้อเลขที่ : 46  /  -บาลี ทสก. อํ. 24/287-290 , 306/165 , 189.  /  หน้าที่ : 160 , 161 , 162 , 163 , 164  ( ทำเป็นลิงก์เอาไว้ให้อ่านแล้วนะครับ คลิ๊กที่นี่ครับ ) 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : ผลแห่งความประพฤติเรียบร้อย  /  หัวข้อเลขที่ : 65  /  -บาลี มู. ม. 12/517/483.  /  หน้าที่ : 244 , 245 , 246 , 247 

- END -


Tuesday, March 30, 2021

ข้อดีของเทวดาเทียบกับมนุษย์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ข้อดีของเทวดาเทียบกับมนุษย์ 

      ภิกษุทั้งหลาย!  เทวดาชั้นดาวดึงส์ ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาว อุตรกุรุทวีป และพวกมนุษย์ชาว ชมพูทวีป ด้วยฐานะ 3 ประการ 3 ประการ อย่างไรเล่า ? คือ

       ( 1 ) อายุทิพย์ 

       ( 2 ) วรรณะทิพย์

       ( 3 ) สุขทิพย์

       ภิกษุทั้งหลาย!  เทวดาชั้นดาวดึงส์ ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาว อุตรกุรุทวีป และพวกมนุษย์ชาว ชมพูทวีป ด้วยฐานะ 3 ประการนี้แล 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : ข้อดีของเทวดาเทียบกับมนุษย์  /  หัวข้อเลขที่ : 66  /  -บาลี สตฺตก. อํ. 23/408/225.  /  หน้าที่ : 243  

- END - 

ความเป็นไปได้ยาก

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ความเป็นไปได้ยาก 

      ภิกษุทั้งหลาย!  เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนั้น ข้างไหนจะมากกว่ากัน?

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย ฝุ่นนั้น เมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งส่วนเสี้ยว

       ภิกษุทั้งหลาย!  อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว จะกลับไปเกิดในหมู่มนุษย์มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า โดยแท้

       ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนั้นเพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้ง 4  อริยสัจ 4 อย่างไรเล่า ? 4 อย่างคือ

       อริยสัจคือทุกข์ 

       อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ 

       อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ 

       อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่าทุกข์ เป็นอย่างนี้ , เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ , ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ , ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนั้น ข้างไหนจะมากกว่ากัน?

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย ฝุ่นนั้น เมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งส่วนเสี้ยว

       ภิกษุทั้งหลาย!  อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว จะกลับไปเกิดในหมู่เทวดา มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า โดยแท้

       ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนั้นเพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้ง 4 อริยสัจ 4  อย่างไรเล่า ? 4 อย่างคือ

       อริยสัจคือทุกข์

       อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ 

       อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ 

       อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่าทุกข์ เป็นอย่างนี้ , เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ , ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ , ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ดังนี้

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : ความเป็นไปได้ยาก  /  หัวข้อเลขที่ : 65  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/576/1792-93.  /  หน้าที่ : 237 , 238 , 239 

- END -

โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก

      ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าสมมติว่า มหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้ มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียวกันทั้งหมด บุรุษคนหนึ่ง ทิ้งแอก ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น ลมตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก ลมตะวันตกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไปทางทิศใต้ ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ อยู่ดังนี้

       ในน้ำนั้น มีเต่าตัวหนึ่งตาบอด ล่วงไปร้อยๆ ปี มันจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่งๆ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร จะเป็นไปได้ไหม ที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้นสักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น ?

       ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า!  ที่เต่าตาบอดนั้น ร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย!  ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกันที่ใครๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์ ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน ที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ จะเกิดขึ้นในโลก ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองไปทั่วโลก

       ภิกษุทั้งหลาย!  แต่ว่าบัดนี้ ความเป็นมนุษย์ก็ได้แล้ว ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงกระทำโยคกรรม เพื่อให้รู้ว่า

       นี้ ทุกข์

       นี้ เหตุให้เกิดทุกข์

       นี้ ความดับแห่งทุกข์ 

       นี้ หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์

       ดังนี้เถิด

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก  /  หัวข้อเลขที่ : 64  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/568/1744.  /  หน้าที่ : 235 , 236 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับชีวิต  /  หัวข้อย่อย : โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก  /  หัวข้อเลขที่ : 2  /  -บาลี มหาวาร. สํ. 19/568/1744.  /  หน้าที่ : 4 , 5

- END - 

เหตุที่สัตว์บางพวกกลัวตาย บางพวกไม่กลัวตาย

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุที่สัตว์บางพวกกลัวตาย บางพวกไม่กลัวตาย 

       พราหมณ์!  สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัวถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่

       พราหมณ์!  ก็สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย เป็นอย่างไรเล่า?

       ( 1 ) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จะต้องละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ระทมใจ คร่ำครวญ ทุบอกร่ำไห้ ถึงความหลงใหล

       พราหมณ์!  บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย

       ( 2 ) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก… 

       พราหมณ์!  แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย

       ( 3 ) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำ แต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง คติของคนไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัว ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมองมีประมาณเท่าใด เราละไปแล้วย่อมไปสู่คตินั้น เขาย่อมเศร้าโศก… 

       พราหมณ์!  แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย

       ( 4 ) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เรามีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมเศร้าโศก… 

       พราหมณ์!  แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย

       พราหมณ์!  บุคคล 4 จำพวกนี้ มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย

       พราหมณ์!  บุคคลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย เป็นอย่างไรเล่า ?

       ( 1 ) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จักละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ระทมใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ทุบอกร่ำไห้ ไม่ถึงความหลงใหล

       พราหมณ์!  บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

       ( 2 ) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกาย มีโรคหนักอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักนี้ไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก… .

       พราหมณ์!  บุคคลแม้นี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

       ( 3 ) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้กระทำบาป ไม่ได้ทำกรรมที่หยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำความดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำกรรมอันเป็นบาป ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ คติของบุคคลผู้ไม่ได้ทำบาปไว้ ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้เพียงใด เราละไปแล้วจักไปสู่คตินั้น เขาย่อมไม่เศร้าโศก… 

       พราหมณ์!  แม้บุคคลนั้นแลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

       ( 4 ) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลงถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลงถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ระทมใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ทุบอกร่ำไห้ ไม่ถึงความหลงใหล

       พราหมณ์!  แม้บุคคลนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

       พราหมณ์!  บุคคล 4 จำพวกนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : เหตุที่สัตว์บางพวกกลัวตาย บางพวกไม่กลัวตาย  /  หัวข้อเลขที่ : 63  /  -บาลี จตุกฺก. อํ. 21/235/184.  /  หน้าที่ : 229 , 230 , 231 , 232 , 233 , 234 

- END - 



เครื่องผูกพันสัตว์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เครื่องผูกพันสัตว์ 

       ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์!  อะไรเป็นเครื่องผูกพันเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย อันมีอยู่เป็นหมู่ๆ ( ซึ่งแต่ละหมู่ ) ปรารถนาอยู่ว่า เราจักเป็นคนไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกัน แต่แล้วก็ไม่สามารถจักเป็นผู้อยู่อย่างผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีเบียดเบียนแก่กันและกันเล่า พระเจ้าข้า ?

       จอมเทพ!  ความอิจฉา( อิสสา ) และความตระหนี่ ( มัจฉริยะ ) นั่นแล เป็นเครื่องผูกพันเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย อันมีอยู่เป็นหมู่ๆ ( ซึ่งแต่ละหมู่ ) ปรารถนาอยู่ว่า เราจักเป็นคนไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกัน แต่แล้วก็ไม่สามารถจักเป็นผู้อยู่อย่างผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกันได้

       ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์!  ก็ความอิจฉาและความตระหนี่นั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ ( นิทาน ) มีอะไรเป็นเครื่องก่อขึ้น ( สมุทัย ) มีอะไรเป็นเครื่องทำให้เกิด ( ชาติกะ ) มีอะไรเป็นแดนเกิด ( ปภวะ )?

       เมื่ออะไรมีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่จึงมี? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่จึงไม่มี พระเจ้าข้า! 

       จอมเทพ !  ความอิจฉาและความตระหนี่นั้น มีสิ่งอันเป็นที่รักและสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ( ปิยาปฺปิย ) นั่นแลเป็นต้นเหตุ … เมื่อสิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักไม่มีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่ก็ไม่มี

       ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์!  ก็สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักนั้นเล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ …? เมื่ออะไรมีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักจึงมี? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักจึงไม่มีพระเจ้าข้า! 

       จอมเทพ !  สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักนั้น มีฉันทะ ( ความพอใจ ) เป็นต้นเหตุ … เมื่อฉันทะ ไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักก็ไม่มี 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : เครื่องผูกพันสัตว์  /  หัวข้อเลขที่ : 62  /  -บาลี มหา. ที. 10/310/255.  /  หน้าที่ : 227 , 228 

- END -










เหตุที่ทำให้มนุษย์จำนวนลดลง

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุที่ทำให้มนุษย์จำนวนลดลง 

      ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !  ข้าพระองค์ได้สดับมาต่อบุรพพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวไว้ว่า ได้ยินว่า แต่ก่อนโลกนี้ ย่อมหนาแน่นด้วยหมู่มนุษย์เหมือนอเวจี บ้าน นิคม ชนบท และราชธานี มีทุกระยะไก่บินตก ดังนี้

       ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ!  อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องทำให้มนุษย์ทุกวันนี้หมดไป ปรากฏว่ามีน้อย แม้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน แม้นิคมก็ไม่เป็นนิคม แม้นครก็ไม่เป็นนคร แม้ชนบทก็ไม่เป็นชนบท ?

       พราหมณ์!  ทุกวันนี้ มนุษย์กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม มนุษย์เหล่านั้น กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม ต่างก็ฉวยศัสตราอันคมเข้าฆ่าฟันกันและกัน เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงล้มตายเสียเป็นอันมาก

       พราหมณ์!  แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้มนุษย์ทุกวันนี้หมดไป ปรากฏว่ามีน้อย แม้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน แม้นิคมก็ไม่เป็นนิคม แม้นครก็ไม่เป็นนคร แม้ชนบทก็ไม่เป็นชนบท

       พราหมณ์!  อีกประการหนึ่ง ทุกวันนี้ มนุษย์กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม เมื่อมนุษย์เหล่านั้น กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฉะนั้น จึงเกิดทุพภิกขภัย ข้าวกล้าเสียหาย เป็นเพลี้ย ไม่ให้ผล เพราะเหตุนั้นมนุษย์จึงล้มตายเสียเป็นอันมาก

       พราหมณ์!  แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้มนุษย์ทุกวันนี้หมดไป ปรากฏว่ามีน้อย แม้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน แม้นิคมก็ไม่เป็นนิคม แม้นครก็ไม่เป็นนคร แม้ชนบทก็ไม่เป็นชนบท

       พราหมณ์!  อีกประการหนึ่ง ทุกวันนี้ มนุษย์กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม เมื่อมนุษย์เหล่านั้น กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดผิดธรรม ถูกความโลภอย่างแรงกล้าครอบงำ ประกอบด้วยมิจฉาธรรม พวกยักษ์ได้ปล่อยอมนุษย์ที่ร้ายกาจลงไว้ เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงล้มตายเสียเป็นอันมาก

       พราหมณ์!  แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องทำให้มนุษย์ทุกวันนี้หมดไป ปรากฏว่ามีน้อย แม้บ้านก็ไม่เป็นบ้าน แม้นิคมก็ไม่เป็นนิคม แม้นครก็ไม่เป็นนคร แม้ชนบทก็ไม่เป็นชนบท

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : เหตุที่ทำให้มนุษย์จำนวนลดลง  /  หัวข้อเลขที่ : 61  /  -บาลี เอก. อํ. 20/203/496.  /  หน้าที่ : 224 , 225 , 226 

- END -

ผลจากความไม่มีธรรมะของมนุษย์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ผลจากความไม่มีธรรมะของมนุษย์

      ภิกษุทั้งหลาย!  สมัยใด ราชา ( ผู้ปกครอง ) ทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น ราชยุตต์ ( ข้าราชการ ) ทั้งหลายก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม

       เมื่อ ราชยุตต์ทั้งหลาย ไม่ตั้งอยู่ในธรรม พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม

       เมื่อ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองและชาวชนบททั้งหลาย ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม

       เมื่อ ชาวเมืองและชาวชนบททั้งหลาย ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็มี ปริวรรต ( การเคลื่อนที่ การหมุนเวียน ) ไม่สม่ำเสมอ

       เมื่อ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มี ปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลาย ก็มี ปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ

       เมื่อ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายมี ปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ คืนและวัน ก็มี ปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ

       เมื่อ คืนและวัน มี ปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ เดือนและปักษ์ ก็มี ปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ

       เมื่อ เดือนและปักษ์ มี ปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปี ก็มี ปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ 

       เมื่อ ฤดูและปี มี ปริวรรต ไม่สม่ำเสมอ ลม ( ทุกชนิด ) ก็พัดไปไม่สม่ำเสมอ

       เมื่อ ลม ( ทุกชนิด ) พัดไปไม่สม่ำเสมอ ปัญชสา ( ระบบแห่งทิศทางลมอันถูกต้อง ) ก็แปรปรวน

       เมื่อ ปัญชสา แปรปรวน เทวดาทั้งหลาย ก็ระส่ำระสาย

       เมื่อ เทวดาทั้งหลาย ระส่ำระสาย ฝนก็ตกลงมาอย่างไม่เหมาะสม

       เมื่อ ฝนตกลงมาอย่างไม่เหมาะสม พืชพรรณ ข้าวทั้งหลาย ก็แก่และสุกไม่สม่ำเสมอ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย บริโภคพืชพรรณ ข้าวทั้งหลาย อันมีความแก่และสุกไม่สม่ำเสมอ ก็กลายเป็นผู้มีอายุสั้น ผิวพรรณทราม ทุพพลภาพและมีโรคภัยไข้เจ็บมาก

       ข้อความต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงภาวะการณ์ที่ตรงกันข้าม ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ตลอดสาย )  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : ผลจากความไม่มีธรรมะของมนุษย์  /  หัวข้อเลขที่ : 60  /  -บาลี จตุกฺก. อํ. 21/97/70.  /  หน้าที่ : 222 , 223

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับชีวิต  /  หัวข้อย่อย : ผลจากความไม่มีธรรมะของมนุษย์ ( อย่างเบา )  /  หัวข้อเลขที่ : 36  /  -บาลี จตุกฺก. อํ. 21/97/70.  /  หน้าที่ : 97 , 98 , 99 

- END -


ปัจจัยต่ออายุขัยของมนุษย์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ปัจจัยต่ออายุขัยของมนุษย์


      ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่อพระราชา มีการกระทำชนิดที่เป็นไปแต่เพียงเพื่อการคุ้มครองอารักขา แต่มิได้เป็นไปเพื่อการกระทำให้เกิดทรัพย์แก่บุคคลผู้ไม่มีทรัพย์ทั้งหลาย ดังนั้นแล้ว ความยากจนขัดสน ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด

       เพราะความยากจนขัดสนเป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด อทินนาทาน ( ลักทรัพย์ ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด

       เพราะ อทินนาทาน เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด การใช้ศัสตราวุธโดยวิธีการต่างๆ ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด

       เพราะการใช้ศัสตราวุธโดยวิธีการต่างๆ เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด ปาณาติบาต ( ซึ่งหมายถึงการฆ่ามนุษย์ด้วยกัน ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด

       เพราะ ปาณาติบาต เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด มุสาวาท ( การหลอกลวงคดโกง ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด

       ( ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาจาก 80,000 ปี เหลือเพียง 40,000 ปี ) 

       เพราะ มุสาวาท เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด ปิสุณาวาท ( การพูดจายุแหย่เพื่อการแตกกันเป็นพวก เป็นหมู่ ทำลายความสามัคคี ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด

       ( ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง 20,000 ปี )

       เพราะ ปิสุณาวาท เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด กาเมสุมิจฉาจาร ( การทำชู้ การละเมิดของรักของบุคคลอื่น ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด

       นสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง 10,000 ปี ) 

       เพราะ กาเมสุมิจฉาจาร เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด ผรุสวาทและสัมผัปปลาปะ ( การใช้คำหยาบ และคำพูดเพ้อเจ้อเพื่อความสำราญ ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด

       ( ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง 5,000 ปี ) 

       เพราะ ผรุสวาทและสัมผัปปลาปะ เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด อภิชฌาและพยาบาท ( แผนการกอบโกยและการทำลายล้าง ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด

       ( ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง 2,500 - 2,000 ปี ) 

       เพราะ อภิชฌาและพยาบาท เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด มิจฉาทิฏฐิ ( ความเห็นผิดชนิดเห็นกงจักรเป็นดอกบัว นิยมความชั่ว ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด

       ( ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง 1,000 ปี )

       เพราะ มิจฉาทิฏฐิ เป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด ( อกุศล ) ธรรมทั้ง 3 คือ อธัมมราคะ ( ความยินดีที่ไม่เป็นธรรม ) วิสมโลภะ ( ความโลภไม่สิ้นสุด ) มิจฉาธรรม ( การประพฤติตามอำนาจกิเลส ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด ( อย่างไม่แยกกัน ) 

       ( ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง 500 ปี )

       เพราะ ( อกุศล ) ธรรม ทั้ง 3  … นั้นเป็นไปอย่างกว้างขวาง แรงกล้าถึงที่สุด ( อกุศล ) ธรรมทั้งหลาย คือ ไม่ปฏิบัติอย่างถูกต้องในมารดา บิดา สมณะพราหมณ์ ไม่มีกุลเชฏฐาปจายนธรรม ( ความอ่อนน้อมตามฐานะสูงต่ำ ) ก็เป็นไปอย่างกว้างขวางแรงกล้าถึงที่สุด

       ( ในสมัยนี้ มนุษย์มีอายุขัยถอยลงมาเหลือเพียง 250 - 200 - 100 ปี ) 

       สมัยนั้น จักมีสมัยที่มนุษย์มีอายุขัยลดลงมาเหลือเพียง 10 ปี ( จักมีลักษณะแห่งความเสื่อมเสียมีประการต่างๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า )

       หญิงอายุ 5 ปี ก็มีบุตร

       รสทั้งห้า คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และรสเค็ม ก็ไม่ปรากฏ

       มนุษย์ทั้งหลาย กินหญ้าที่เรียกว่า กุท๎รูสกะ แทนการกินข้าว

       กุศลกรรมบถหายไป ไม่มีร่องรอย

       อกุศลกรรมบถ รุ่งเรืองถึงที่สุด

       ในหมู่มนุษย์ ไม่มีคำพูดว่ากุศล จึงไม่มีการทำกุศล

       มนุษย์สมัยนั้น จักไม่ยกย่องสรรเสริญ ความเคารพเกื้อกูลต่อมารดา ( มัตเตยยธรรม ) ความเคารพเกื้อกูลต่อบิดา ( เปตเตยยธรรม ) ความเคารพเกื้อกูลต่อสมณะ ( สามัญญธรรม ) ความเคารพเกื้อกูลต่อพราหมณ์ ( พรหมัญญธรรม ) และ ความประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ( กุลเชฏฐา ปจายนธรรม ) เหมือนอย่างที่มนุษย์ยกย่องกันอยู่ในสมัยนี้

       ไม่มีคำ พูดว่า แม่ น้าชาย น้าหญิง พ่อ อา ลุง ป้า ภรรยาของอาจารย์ และคำพูดว่า เมียของครู สัตว์โลกจักกระทำการสัมเภท ( สมสู่สำส่อน ) เช่นเดียวกันกับแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข สุนัขจิ้งจอก

       ความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดฆ่า เป็นไปอย่างแรงกล้า แม้ในระหว่างมารดากับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่กับน้อง น้องกับพี่ ทั้งชายและหญิง เหมือนกับที่นายพรานมีความรู้สึกต่อเนื้อทั้งหลาย

       ในสมัยนั้น จักมี สัตถันตรกัปป์ ( การใช้ศัสตราวุธติดต่อกันไม่หยุดหย่อน ) ตลอดเวลา 7 วัน  สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจักมีความสำคัญแก่กันและกัน ราวกะว่าเนื้อ แต่ละคนมีศัสตราวุธในมือ ปลงชีวิตซึ่งกันและกันราวกะว่า ฆ่าปลา ฆ่าเนื้อ

       ( มีมนุษย์หลายคน ไม่เข้าร่วมวง สัตถันตรกัปป์ ด้วยความกลัว หนีไปซ่อนตัวอยู่ในที่ที่พอจะซ่อนตัวได้ตลอด 7 วัน แล้วกลับออกมาพบกันและกัน ยินดีสวมกอดกัน กล่าวแก่กันและกันในที่นั้นว่า มีโชคดีที่รอดมาได้ แล้วก็ตกลงกันในการตั้งต้นประพฤติธรรมกันใหม่ต่อไป ชีวิตมนุษย์ก็ค่อยเจริญขึ้น จาก 10 ปี ตามลำดับๆ จนถึงสมัย 80,000 ปี อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเป็นสมัยแห่งศาสนาของพระพุทธเจ้ามีพระนามว่า เมตเตยยสัมมาสัมพุทธะ )  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : ปัจจัยต่ออายุขัยของมนุษย์  /  หัวข้อเลขที่ : 59  /  -บาลี ปา. ที. 11/70-80/39-47.  /  หน้าที่ : 217 , 218 , 219 , 220 , 221 

- END -



Monday, March 29, 2021

การเกิดสังคมมนุษย์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง การเกิดสังคมมนุษย์ 

      วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราวโดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล ที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในอาภัสสระ ( อาภสฺสร ) สัตว์เหล่านั้น ได้สำเร็จทางใจ มี ปีติ เป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน 

       วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราวโดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล ที่โลกนี้จะกลับเจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้นอยู่ โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจุติ ( เคลื่อน ) จากอาภัสสระ ( อาภสฺสรกายา ) ลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์เหล่านั้น ได้สำเร็จทางใจ มี ปีติ เป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน

       ก็ในสมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้ เป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฎ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฎ กลางวันและกลางคืนก็ยังไม่ปรากฎ เดือนและปักษ์ก็ยังไม่ปรากฏ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฎ เพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฎ สัตว์ทั้งหลายถึงซึ่งการนับเพียงว่าสัตว์ ( สตฺต ) เท่านั้น

       วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล ได้เกิดมีง้วนดิน ( รสปฐวี ) ขึ้นปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น ง้วนดินนี้ลอยอยู่ทั่วไปบนน้ำ เหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็น จับเป็นฝาอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษมิได้

       เมื่อสัตว์เหล่านั้น พากันเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ รสของง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น ต่อมาก็ได้พากันพยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ ด้วยมือแล้วบริโภค

       ในคราวที่พากันบริโภคง้วนดินอยู่ รัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็ได้หายไป

       เมื่อรัศมีกายหายไป ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมปรากฏ

       เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ปรากฏ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายย่อมปรากฏ

       เมื่อดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายปรากฏ กลางคืนและกลางวันย่อมปรากฏ

       เมื่อกลางคืนและกลางวันปรากฏ เดือนและปักษ์ย่อมปรากฏ

       เมื่อเดือนและปักษ์ปรากฏ ฤดูและปีย่อมปรากฏ

       ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงกลับเจริญขึ้นอีก 

       ครั้นต่อมา สัตว์เหล่านั้น พากันบริโภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน ด้วยเหตุที่สัตว์เหล่านั้น มัวเพลิดเพลินบริโภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม ได้พากันดูหมิ่นสัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งาม เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้น เกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินจึงหายไป

       เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว ก็ได้เกิดมีกระบิดิน ( ภูมิปปฺปฏิก ) ขึ้น สัตว์เหล่านั้นได้ใช้กระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน ผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป ด้วยเพราะมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย กระบิดินจึงหายไป

       เมื่อกระบิดินหายไปแล้ว ก็ได้เกิดมีเครือดิน ( ปทาลตา ) ขึ้น สัตว์เหล่านั้นได้ใช้เครือดินเป็นอาหาร ดำ รงอยู่สิ้นกาลช้านาน ผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป ด้วยเพราะมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารถผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดินจึงหายไป

       เมื่อเครือดินหายไปแล้ว ก็ได้เกิดมีข้าวสาลีเกิดขึ้น ในที่ที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นสัตว์เหล่านั้น นำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีนั้น ก็มีเมล็ดสุกแล้วงอกขึ้นแทนที่  ตอนเช้าสัตว์เหล่านั้น นำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็นข้าวสาลีนั้น ก็มีเมล็ดสุกแล้ว งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย  สัตว์เหล่านั้นจึงได้บริโภคข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน 

       ด้วยประการที่สัตว์เหล่านั้นมีข้าวสาลีเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป สตรีก็มีเพศหญิงปรากฏ และบุรุษก็มีเพศชายปรากฏ ด้วยว่า สตรีก็เพ่งดูบุรุษอยู่เสมอ และบุรุษก็เพ่งดูสตรีอยู่เสมอ เมื่อคนทั้งสองเพศ ต่างก็เพ่งดูกันและกันอยู่เสมอ ก็เกิดความกำหนัด เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย เพราะความเร่าร้อนเหล่านั้นเป็นปัจจัยเขาทั้งสองจึงเสพเมถุนธรรมกัน

       ในสมัยนั้น สัตว์พวกใด เห็นสัตว์พวกอื่นเสพเมถุนธรรมกันอยู่ ย่อมโปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง พร้อมกับพูดว่า “คนชาติชั่วจงฉิบหาย คนชาติชั่วจงฉิบหาย” ดังนี้ แล้วพูดต่อไปว่า “ก็ทำ ไมขึ้นชื่อว่าสัตว์ จึงทำ แก่สัตว์เช่นนี้เล่า” ข้อที่ว่ามานั้น จึงได้เป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ในชนบทบางแห่ง คนทั้งหลาย โปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง ในระหว่างที่เขาจะนำสัตว์ผู้ประพฤติชั่วร้ายไปสู่ที่ประหาร พวกพราหมณ์มาระลึกถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี อันเป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่พวกเขาไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย

       ในสมัยนั้น การโปรยฝุ่นใส่กันเป็นต้นนั้น สมมติกันว่าไม่เป็นธรรม มาในบัดนี้ กลับสมมติกันว่าเป็นธรรม

       ก็สมัยนั้น สัตว์พวกใดเสพเมถุนธรรมกัน สัตว์พวกนั้นเข้าบ้านหรือนิคมไม่ได้ สิ้นสองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายพากันเสพ อสัทธรรม นั่นอยู่เสมอ เมื่อนั้น จึงพยายามสร้างบ้านเรือนกันขึ้น เพื่อเป็นที่กำบัง อสัทธรรม นั้น

       ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งเกิดความเกียจคร้าน จึงได้เก็บข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคเสียคราวเดียวทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น

       ต่อมาสัตว์พวกอื่นก็ถือเอาแบบอย่างของสัตว์ผู้นั้น โดยเก็บข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคเสียคราวเดียวทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็นบ้าง

       เก็บไว้เพื่อบริโภคสิ้น 2 วันบ้าง เก็บไว้เพื่อบริโภคสิ้น 4 วันบ้าง เก็บไว้เพื่อบริโภคสิ้น 8 วันบ้าง

       เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น พยายามเก็บสะสมข้าวสาลีไว้เพื่อบริโภค เมื่อนั้นข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวที่มี รำ ห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นแทนที่ ปรากฏความบกพร่องให้เห็น จึงได้มีข้าวสาลีเป็นหย่อมๆ

       ต่อมาสัตว์เหล่านั้นพากันจับกลุ่มและได้ปรับทุกข์แก่กันและกัน ถึงเรื่องที่มีการปรากฏของ อกุศลธรรม อันเป็นบาป ทำให้สัตว์เหล่านี้จากที่เคยเป็นผู้ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตน แล้วก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงในสมัยที่ดำรงอยู่ด้วยการบริโภคข้าวสาลี ที่มี รำ ห่อเมล็ด มีแกลบหุ้มเมล็ด ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นแทนที่ ปรากฏความบกพร่องให้เห็น จากนั้นจึงได้มีการแบ่งส่วนข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน )

       วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลภ สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนอย่างนี้ว่า “แน่ะสัตว์ผู้เจริญ ก็ท่านกระทำกรรมชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำ กรรมชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย” สัตว์ผู้นั้นได้รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว

       แม้ครั้งที่ 2 สัตว์ผู้นั้นก็ยังขืนทำเช่นเดิมและรับคำสัตว์ทั้งหลายว่าจะไม่ทำอีก

       แม้ครั้งที่ 3 สัตว์ผู้นั้นก็ยังขืนทำเช่นเดิมอีก

       สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้วได้ตักเตือนว่า “แน่ะสัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรมอันชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วนที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำ กรรมอันชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย” สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยฝ่ามือบ้าง สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยก้อนดินบ้าง พวกหนึ่งประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ในเพราะมีเหตุเช่นนี้เป็นต้นมา การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จึงปรากฏการติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จจึงปรากฏ การถือท่อนไม้จึงปรากฏ

       ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ , การติเตียนจักปรากฏ , การพูดเท็จจักปรากฏ , การถือท่อนไม้จักปรากฏ ในเพราะ อกุศลธรรม อันเป็นบาปเหล่าใด อกุศลธรรม อันเป็นบาปเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติ ( แต่งตั้ง ) สัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น” ดังนี้

       ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นพากันเข้าไปหาสัตว์ที่สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามกว่า แล้วจึงแจ้งเรื่องนี้ว่า “มาเถิดท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ท่าน”

       สัตว์ผู้นั้นรับคำแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ ส่วนสัตว์เหล่านั้นก็แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่สัตว์ที่เป็นหัวหน้านั้น

       เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า อันมหาชนสมมติ ( แต่งตั้ง ) นั้นอักขระว่า มหาชนสมมติ มหาชนสมมติ ( มหาสมฺมต ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก

       เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลายนั้น อักขระว่า กษัตริย์ กษัตริย์ ( ขตฺติย ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 2

       เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้า ยังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม อักขระว่า ราชา ราชา ( ราช ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 3

       ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ การบังเกิดขึ้นแห่งพวกกษัตริย์นั้นจึงมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณอย่างนี้

       เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม

       ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในหมู่มหาชน ทั้งในปัจจุบัน ( ทิฏฐธรรม ) และภายหน้า ( อภิสัมปราย )

       ครั้งนั้นแล สัตว์บางจำพวก ได้มีความคิดขึ้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ จักปรากฏ , การติเตียนจักปรากฏ , การกล่าวเท็จจักปรากฏ , การถือท่อนไม้จักปรากฏ , การขับไล่จักปรากฏ

       ในเพราะ อกุศลธรรม อันเป็นบาปเหล่าใด อกุศลธรรม อันเป็นบาปเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรไป ลอย อกุศลธรรม อันเป็นบาปนี้เถิด” ดังนี้ 

       ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงได้พากัน ลอย อกุศลธรรม อันเป็นบาปทิ้งไป เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นพากัน ลอย อกุศลธรรม อันเป็นบาปอยู่ดังนี้ อักขระว่า พวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์ ( พฺราหฺมณ ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก 

       พราหมณ์เหล่านั้น พากันสร้างกระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้นั้น พวกเขาไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าวทั้งในเวลาเย็นและเวลาเช้า จึงได้พากันเที่ยวแสวงหาอาหาร ตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็นและเวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้อาหารแล้ว จึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ในกระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก

       คนทั้งหลายเห็นการกระทำของพวกพราหมณ์นั้นแล้ว จึงพากันพูดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย สัตว์พวกนี้พากันมาสร้างกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า แล้วเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้นั้น ไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าวทั้งในเวลาเย็นและเวลาเช้า จึงพากันเที่ยวแสวงหาอาหาร ตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็นและเวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้อาหารแล้ว จึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ในกระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก” ดังนี้ เพราะเหตุนั้น อักขระว่า พวกเจริญฌาน พวกเจริญฌาน ( ฌายิกา ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 2
 
       บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์บางพวกเมื่อไม่อาจสำเร็จฌานได้ ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังบ้านและนิคมที่ใกล้เคียง แล้วก็จัดทำคัมภีร์อยู่ คนทั้งหลายเห็นการกระทำ ของพวกพราหมณ์นี้นั้นแล้วจึงพูดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย ก็สัตว์เหล่านี้ ไม่อาจสำเร็จฌานได้ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เที่ยวไปยังบ้าน และนิคมที่ใกล้เคียง จัดทำคัมภีร์อยู่ บัดนี้พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ บัดนี้พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่” ดังนี้ เพราะเหตุนั้น อักขระว่า อัชฌายิกา อัชฌายิกา ( อชฺฌายิกา ) จึงเกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 3
 
       ก็สมัยนั้นการทรงจำ การสอน การบอกมนต์ ถูกสมมติว่าเลว มาในบัดนี้ สมมติกันว่าประเสริฐ ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ การเกิดขึ้นแห่งพวกพราหมณ์นั้นจึงมีขึ้นได้

       บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์บางจำพวกยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ นั้นแล อักขระว่า เวสสา เวสสา ( เวสฺสา ) จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ การเกิดขึ้นของแพศย์นั้น จึงมีขึ้นได้

       บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์บางจำพวกประพฤติตนโหดร้าย ทำงานต่ำต้อย เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นประพฤติตนโหดร้าย ทำงานต่ำต้อยนั้นแล อักขระว่า สุททา สุททา ( สุทฺทา ) จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ การเกิดขึ้นแห่งพวก ศูทร นั้น จึงมีขึ้นได้

       มีสมัยที่กษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง แพศย์บ้าง ศูทรบ้าง ตำหนิธรรมของตน จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยประสงค์ว่า เราจักเป็นสมณะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้ พวกสมณะจึงเกิดมีขึ้นได้ จากวรรณะทั้งสี่ เหล่านี้

       กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมยึดถือกรรมด้วยอำ นาจมิจฉาทิฏฐิ เพราะยึดถือกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งสิ้น

       กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฏฐิ ย่อมยึดถือกรรมด้วยอำ นาจสัมมาทิฏฐิ เพราะยึดถือกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

       กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สมณะก็ดี มีปกติกระทำกรรมทั้งสอง ( คือสุจริตและทุจริต ) ด้วยกาย มีปกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยวาจา มีปกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยใจ มีความเห็นปนกัน ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกัน เพราะยึดถือการกระทำ ด้วยอำ นาจความเห็นปนกันเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง

       กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้ง 7 แล้ว ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้ทีเดียว

       ก็บรรดาวรรณะทั้ง 4 นี้ วรรณะใด เป็นภิกษุ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว วางภาระเสียได้แล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว หมดเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายโดยธรรมแท้จริง มิใช่นอกไปจากธรรมเลย ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่มหาชน ทั้งในปัจจุบัน และภายหน้า

       กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : มนุษย์  /  หัวข้อย่อย : การเกิดสังคมมนุษย์  /  หัวข้อเลขที่ : 58  /  -บาลี ปา. ที. 11/92-107/56-72.  /  หน้าที่ : 203 , 204 , 205 , 206 , 207 , 208 , 209 , 210 , 211 , 212 , 213 , 214 , 215  

- END -