Monday, July 4, 2022

นักษัตร

 

นักษัตร 



       คำว่า นักษัตร ( อ่านว่า นัก-สัด ) หมายถึง ชื่อรอบเวลา กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายในปีนั้น ๆ คือ 

       ปีชวด มีหนูเป็นเครื่องหมาย 

       ปีฉลู มีวัวเป็นเครื่องหมาย  

       ปีขาล มีเสือเป็นเครื่องหมาย  

       ปีเถาะ มีกระต่ายเป็นเครื่องหมาย  

       ปีมะโรง มีงูใหญ่เป็นเครื่องหมาย  

       ปีมะเส็ง มีงูเล็กเป็นเครื่องหมาย 

       ปีมะเมีย มีม้าเป็นเครื่องหมาย 

       ปีมะแม มีแพะเป็นเครื่องหมาย 

       ปีวอก มีลิงเป็นเครื่องหมาย 

       ปีระกา มีไก่เป็นเครื่องหมาย  

       ปีจอ มีหมาเป็นเครื่องหมาย 

       ปีกุน มีหมูเป็นเครื่องหมาย 


       การนับปีหรือกำหนดปีโดยมีสัตว์เป็นเครื่องหมายนี้ ส่วนใหญ่จะใช้กันในแถบเอเชีย เช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ทิเบต ส่วนทางซีกโลกตะวันตกจะใช้ตัวเลขเป็นเครื่องกำหนด 


       ที่มาที่ไปของการใช้รูปสัตว์เป็นเครื่องหมายในแต่ละปีนั้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดหรือชาติใดเป็นผู้คิดขึ้น และคิดมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ในประเทศไทยนั้น มีหลักฐานว่า ไทยใช้ปีนักษัตรมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 10 ว่า “เมืองนี้หาย 1214 ศกปีมะโรง” และด้านที่ 4 บรรทัดที่ 3 - 4 ว่า “ชาวอูชาวของมาออก 1207 ศกปีกุน”

       วิธีการคำนวณว่าพุทธศักราชใด ตรงกับปีนักษัตรใดนั้น ให้เอาปีพุทธศักราชตั้ง หารด้วย 12 แล้วเอาเศษมาเทียบดังต่อไปนี้ 

       เศษ 1 ปี ตรงกับปีมะเมีย 

       เศษ 2 ปี ตรงกับปีมะแม 

       เศษ 3 ปี ตรงกับปีวอก 

       เศษ 4 ปี ตรงกับปีระกา 

       เศษ 5 ปี ตรงกับปีจอ 

       เศษ 6 ปี ตรงกับปีกุน 

       เศษ 7 ปี ตรงกับปีชวด 

       เศษ 8 ปี ตรงกับปีฉลู 

       เศษ 9 ปี ตรงกับปีขาล 

       เศษ 10 ปี ตรงกับปีเถาะ 

       เศษ 11 ปี ตรงกับปีมะโรง 

       และถ้าลงตัวไม่เหลือเศษ ก็จะเป็นปีมะเส็ง   


- จบ -