Thursday, January 28, 2021

อุปมาความทุกข์ในนรก

 

  

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อุปมาความทุกข์ในนรก


       ภิกษุทั้งหลาย! ลักษณะเครื่องหมาย เครื่องอ้างว่าเป็นพาลของคนพาลนี้ มี 3 อย่าง

       3 อย่าง อย่างไรเล่า ?

       ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลในโลกนี้

       มักคิดความคิดที่ชั่ว

       มักพูดคําพูดที่ชั่ว

       มักทําการทําที่ชั่ว

       ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคําพูดที่ชั่ว และทําการทําที่ชั่ว บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่าผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ เพราะคนพาลมักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคําพูดที่ชั่ว และมักทําการทําที่ชั่ว ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า นี่เป็นคนพาล เป็นสัตบุรุษ.

       ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแล ย่อมเสวยทุกขโทมนัส 3 อย่างในปัจจุบัน

       ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ริมถนนก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี ชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคําที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าคนพาลมักเป็นผู้ทําชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มีปกติตั้งอยู่ในความประมาทเพราะดื่มน้ําเมาคือสุราและเมรัย ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคําที่พอเหมาะพอสมแก่เขานั้นแล คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย

       ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสข้อที่ 1 ดังนี้ในปัจจุบัน

       ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก คนพาลเห็นพระราชาทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ

       ( 1 ) โบยด้วยแส้บ้าง

       ( 2 ) โบยด้วยหวายบ้าง

       ( 3 ) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง

       ( 4 ) ตัดมือบ้าง

       ( 5 ) ตัดเท้าบ้าง

       ( 6 ) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง

       ( 7 ) ตัดหูบ้าง

       ( 8 ) ตัดจมูกบ้าง

       ( 9 ) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง

       ( 10 ) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ําส้ม บ้าง

       ( 11 ) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง

       ( 12 ) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง

       ( 13 ) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง

       ( 14 ) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง

       ( 15 ) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง

       ( 16 ) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง

       ( 17 ) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง

       ( 18 ) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง 

       ( 19 ) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง

       ( 20 ) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง

       ( 21 ) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง

       ( 22 ) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั้งฟาง บ้าง

       ( 23 ) ราดด้วยน้ํามันเดือด ๆ บ้าง

       ( 24 ) ให้สุนัขทิ้งบ้าง

       ( 25 ) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็น ๆ บ้าง 

       ( 26 ) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง


       ในขณะที่เห็นนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล พระราชาทั้งหลายจึงจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ก็ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้นด้วย ถ้าแม้พระราชาทั้งหลายรู้จักเรา ก็จะจับเราแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ โบยด้วยแส้บ้าง ... ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง

       ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัส ข้อที่ 2 แม้ดังนี้ในปัจจุบัน

       ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก กรรมอันเป็นบาปที่คนพาลทําไว้ในกาลก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงําคนพาลผู้อยู่บนตั๋ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ครอบงําแผ่นดินในสมัยเวลาเย็น ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมอันเป็นบาปที่คนพาลทําไว้ในก่อน คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงําคนพาลผู้อยู่บนตั๋ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดินในสมัยนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้น คนพาลจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่าเราไม่ได้ทําความดี ไม่ได้ทํากุศล ไม่ได้ทําเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทําแต่ความชั่ว ทําแต่ความร้าย ทําแต่ความเลว ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคนที่ไม่ได้ทําความดี ไม่ได้ทํากุศล ไม่ได้ทําเครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ทําแต่ความชั่ว ความร้าย และความเลว เป็นกําหนด คนพาลนั้นย่อมเศร้าโศก ระทมใจ คร่ําครวญ ทุบอกให้ ถึงความหลงใหลอยู่

       ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัส ข้อที่ 3 แม้ดังนี้ในปัจจุบัน


       ภิกษุทั้งหลาย ! คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก

       ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงนรกนั้นนั่นแหละว่า เป็นสถานที่ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจโดยส่วนเดียว

       ภิกษุทั้งหลาย ! เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมา ถึงความทุกข์ในนรก ก็ไม่ใช่ง่ายนัก 


       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่ ?

       ภิกษุทั้งหลาย ! อาจเปรียบได้

       ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนพวกราชบุรุษจับโจร ผู้ประพฤติผิดมาแสดงแด่พระราชาว่า “ขอเดชะ ! ผู้นี้เป็นโจรประพฤติผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์โปรดลงอาชญาที่ทรงพระราชประสงค์แก่มันเถิด” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่ม แทงบุรุษนี้ในเวลาเช้า” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่ม แทงบุรุษนั้นในเวลาเช้า

       ครั้นเวลากลางวัน พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจําเริญ ! บุรุษนั้นเป็นอย่างไร ?” พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “ขอเดชะ! ยังเป็นอยู่อย่างเดิม พระเจ้าข้า !” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลากลางวัน” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้น ในเวลากลางวัน

       ครั้นเวลาเย็น พระราชาตรัสถามอย่างนี้ว่า “พ่อมหาจําเริญ! บุรุษนั้นเป็นอย่างไร ?” พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “ขอเดชะ! ยังเป็นอยู่อย่างเดิมพระเจ้าข้า !” พระราชาทรงสั่งการนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ไปเถิด พวกท่านจงเอาหอกร้อยเล่มแทงมันในเวลาเย็น” พวกราชบุรุษจึงเอาหอกร้อยเล่มแทงบุรุษนั้นในเวลาเย็น


       ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสําคัญความข้อนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? บุรุษนั้น ถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่ม พึงเสวยทุกขโทมนัสเพราะการที่ถูกแทงนั้นเป็นเหตุบ้าง หรือหนอ?

       ข้าแต่พระองค์ผู้จริญ! บุรุษนั้นถูกแทงด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็เสวยทุกขโทมนัสเพราะเหตุที่ถูกแทงนั้นได้ ป่วยการกล่าวถึงหอกตั้งสามร้อยเล่ม

       ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อม ๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

       ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไรเล่า ? แผ่นหินย่อม ๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้ กับภูเขาหลวงหิมพานต์อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน?

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทรงถือนี้ มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ความนับ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้

       ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันนั้นเหมือนกันแล ทุกขโทมนัสที่บุรุษกําลังเสวยเพราะการถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่มเป็นเหตุ เปรียบเทียบทุกข์ของนรกยังไม่ถึงแม้ความนับ ยังไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ยังไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ 
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - -

* * * ข้างล่างนี้ มีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฏกด้วย แต่ไม่ได้เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า  เป็นคำแต่งใหม่ที่ใส่เพิ่มเข้าไป

* * * ในหระไตรปิฏก ระบุไว้ว่าเป็นกฎหมายตราสามดวง เล่ม 4 ( พิมพ์ตามต้นฉบับกฎหมายตราสามดวง ฉบับหลวง )

       หมวด พระไอยการกระบดศึก พิมพ์ครั้งที่ 2 สํานักพิมพ์คุรุสภา

       ปีที่พิมพ์ พ.ศ.2536


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -   

       1.หม้อเดี๋ยวน้ําส้ม คือ ให้ต่อยกระบานศีศะเลิกออกเสีย แล้ว เอาคีมคีบก้อนเหลกแดงใหญ่ใส่ลง ให้มันสะหมองศีศะพลุ่งฟูขึ้น ดั่งม่อเคี่ยวน้ําส้มพะอูม 

       2.ขอดสังข์ คือ ให้ตัดแต่หนังจำระเบื้องหน้า ถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเปนกําหนด ถึงหมวกหูทั้งสองข้างเปนกําหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเปนกําหนด แล้วให้มุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคนโยกถอนคลอนสั่น เพิกหนังทั้งผมนั้นออกเสียแล้ว เอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชําระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์

       3.ปากราหู คือ เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้แล้วตามประทีปไว้ในปาก ไนยหนึ่งเอาปากสิ่วอันคมนั้น แสะแหวะผ่าปากจนหมวกหูทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเตมปาก

       4.มาลัยไฟ คือ เอาผ้าชุ่มน้ํามันพันให้ทั่วกายแล้วเอาเพลิงจุด

       5.คบมือ คือ เอาผ้าชุบน้ํามันพันนิ้วมือสิ้นทั้ง 10 นิ้วแล้วเอาเพลิงจุด 

       6.ริ้วส่าย คือ เชือดเนื้อให้เปนแร่ง เปนริ้ว อย่าให้ขาด ให้เนื่องด้วยหนังตั้งแต่ใต้ตอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจําให้เดิรเหยียบย้ําริ้วเนื้อ ริ้วหนังแห่งตนให้ฉุดคร่าตีจําให้เดิรไปจนกว่าจะตาย 

       7.น่งเปลือกไม้ คือ เชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเปนแร่ง เปนริ้ว แต่ใต้คอลงมาถึงเอวแล้วเชือดแต่เอวให้เป็นแร่ง เปนริ้วลงมาถึงข้อเท้า กระทําเนื้อเบื้องบนนั้นให้เปนริ้วตกปกคลุมลงมา เหมือนนุ่งผ้าคากรอง

       8.ยืนกวาง คือ เอาห่วงเหลกสวมข้อสอกทังสองข้อเข่าทังสองข้างให้หมั้นแล้วเอาหลักเหลกสอดลงในวงเหลกแย่งขึงตรึงลงไว้กับแผ่นดินอย่าให้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงลนให้รอบตัวกว่าจะตาย

       9.เกี่ยวเหยื่อเบ็ด คือ เอาเบดใหญ่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วกาย เพิกหนังเนื้อแลเอนน้อยใหญ่ให้หลุดขาดออกมากว่าจะตาย 

       10.เหรียญกษาปณ์ คือ ให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกมาจากกาย แต่ที่ละตําลึงกว่าจะสิ้นมังสะ

       11.แปรงแสบ คือ ให้แล่สับฟันทั่วกาย แล้วเอาแปรงหวีชุบน้ําแสบกรีดครูดขุดเซาะหนังแลเนื้อแลเอนน้อยใหญ่ ให้ลอกออกมาให้สิ้น ให้อยู่แต่ร่างกระดูก

       12.กางเวียน คือ ให้นอนลงโดยข้าง ๆ หนึ่งแล้ว ให้เอาหลาวเหลกตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดิน แล้วจับเท้าทังสองหันเวียนไปดังบุทคลทําบังเวียน

       13.ดั่งฟาง คือ ทํามิให้เนื้อพังหนังขาด เอาลูกศีลาบดทุบกระดูกให้แหลกย่อยแล้วรวบผมเข้าทั้งสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทําให้เนื้อเปนกองเปนลอม แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทังกระดูกนั้นทอดวางไว้ ทําดั่งตั้งอันทําด้วยฟางซึ่งไว้เชดเท้า

       14.ราดด้วยน้ํามันเดือด ๆ คือ เคี่ยวน้ํามันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วรดสาดลงมาแต่ศีศะกว่าจะตาย

       15.ให้สุนัขทึ้ง คือ ให้กักขังสูนักขร้ายทังหลายไว้ ให้อดอาหารหลายวันให้เตมหยาก แล้วปล่อยออกให้กัดทิ้งเนื้อหนังกิน ให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า


* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : นรก  /  หัวข้อย่อย : อุปมาความทุกข์ในนรก  /  หัวข้อเลขที่ : 22  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/311-315/468-474.  /  หน้าที่ : 63 , 64 , 65 , 66 , 67 , 68 , 69 , 70 , 71 , 72    


- END -