พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด
เรื่อง การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด
ภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม มีอยู่แก่ผู้ใด เรากล่าวบุคคลผู้นั้น ว่าเป็นคนจนเข็ญใจไร้ทรัพย์สมบัติในอริยวินัย
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนั้น เมื่อไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม เขาย่อมประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขานี้ ว่าเป็นการกู้หนี้
เพื่อจะปกปิดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ของเขา เขาตั้งความปรารถนาอันเลวทราม ปรารถนาไม่ให้ใครรู้จักเขา ดําริไม่ให้ใครรู้จักเขา พูดจาเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา ขวนขวายทุกอย่างเพื่อไม่ให้ใครรู้จักเขา เรากล่าวการปกปิดความทุจริตอย่างนี้ของเขานี้ ว่าเป็นดอกเบี้ยที่เขาต้องใช้
เพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รัก พากันกล่าวปรารภเขาอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุนี้ ทําอะไรๆ ( ทุจริต ) อย่างนี้ มีปกติประพฤติกระทําอะไรๆ ( ทุจริต ) อย่างนี้” เรากล่าวการถูกกล่าวอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกทวงหนี้
เขาจะไปอยู่ป่าก็ตาม อยู่โคนไม้ก็ตาม อยู่เรือนว่างก็ตาม อกุศลวิตกอันเป็นบาปประกอบอยู่ด้วยความร้อนใจ ย่อมเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเขา เรากล่าวอาการอย่างนี้ ว่าเป็นการถูกติดตามเพื่อทวงหนี้
ภิกษุทั้งหลาย ! คนจนชนิดนี้ ครั้นประพฤติ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว ภายหลังแต่การตายเพราะการแตกทําลายแห่งกาย ย่อมถูกจองจําอยู่ในนรกบ้าง ในกําเนิดเดรัจฉานบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่มองเห็นการจองจําอื่นแม้อย่างเดียว ที่ทารุณอย่างนี้เจ็บปวดอย่างนี้ เป็นอันตรายอย่างนี้ ต่อการบรรลุโยคักเขมธรรมอันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เหมือนการถูกจองจําในนรก หรือในกําเนิดเดรัจฉาน อย่างนี้
- - - - - - - - - - - - - - -
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )
ความยากจน และการกู้หนี้ ท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ในโลก
คนจนกู้หนี้มาเลี้ยงชีวิต ย่อมเดือดร้อน เพราะเจ้าหนี้ติดตามบ้าง เพราะถูกจับกุมบ้าง
การถูกจับกุมนั้น เป็นความทุกข์ของคนบูชาการได้กาม
ถึงแม้ในอริยวินัยนี้ก็เหมือนกัน
ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ สั่งสมแต่บาปกรรม กระทํากายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ปกปิดอยู่ด้วยการกระทําทางกาย ทางวาจา ทางจิต เพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้จักเขา ผู้นั้นพอกพูนบาปกรรมอยู่เนืองนิตย์ในที่นั้น ๆ
คนชั่วทําบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน เสมือนคนยากจนกู้หนี้มาบริโภคอยู่ ย่อมเดือดร้อน
ความตริตรึกที่เกิดจากวิปฏิสาร ( เครื่องร้อนใจ ) อันเป็นเครื่องทรมานใจ ย่อมติดตามเขาทั้งในบ้านและในป่า
คนชั่วทําบาปกรรม รู้สึกแต่กรรมชั่วของตน ไปสู่กําเนิดเดรัจฉานบางอย่าง หรือว่าถูกจองจําอยู่ในนรก การถูกจองจํานั้นเป็นทุกข์ชนิดที่ธีรชนไม่เคยประสบเลย
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ / หัวข้อใหญ่ : นรก / หัวข้อย่อย : การจองจำที่ทารุณเจ็บปวด / หัวข้อเลขที่ : 27 / -บาลี ฉกฺก. อํ. 22/393/316. / หน้าที่ : 98 , 99 , 100
- END -