Sunday, January 31, 2021

อวิชฺชา / ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ธมฺมา

 

คำเทศน์ของ พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

เรื่อง อวิชฺชา / ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ธมฺมา

เทศน์เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2564


/ ( เวลา 00.17.30 น. ) 

       สังขาร การปรุงแต่งนั้น มีขึ้นมาได้อย่างไร? พระองค์บอกว่า มีเพราะ "ไม่รู้"

       "ไม่รู้" ว่าระบบนี้ ระบบการปรุงแต่ง สังขตาธาตุ ธาตุที่มันถูกปรุงแต่งได้ มันเกิดจากการปรุงแต่ง มันไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เพราะไม่รู้ตรงนี้ เท่านั้นเอง ก็เลยทำให้เราเข้ามายึด

       แต่ความเป็นตัวนี้เกิดขึ้นได้จากอะไร? / จากการที่เรามันพอใจในธาตุนี้ พระองค์จึงบอกเรามี ฉันทะ มีราคะ มีนันทิ มีตัณหา ในธรรมธาตุเหล่านี้ ความยึดถือว่าตัวตนจึงเกิดขึ้น

       ก็เกิดความพอใจ เกิดความยึดถือ ว่านี่เรา นี่ความเห็นเรา นี่ตัวเรา นี่ความจำเรา นี่วิญญาณของเรา เห็นวิญญาณเป็นตน ตนเป็นวิญญาณ วิญญาณมีในตน ตนมีในวิญญาณ ความรู้สึกถึงความเป็นตัวเป็นตน มีอยู่ในธาตุนั้นๆ

       นี้คนไม่ภาวนาก็ดูไม่ออก หรือภาวนายังไม่ถึงที่ ก็ดูไม่ออกอีก เมื่อดูไม่ออก ก็เลยใช้ธาตุเหล่านี้ โดยความเป็นตัวตน
       พอมีตัวตน ก็มีของตน แล้วเวลาสิ่งเหล่านี้ มันเสื่อม มันแตกสลาย มันไม่ได้ดั่งใจ ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้น เพราะปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

       ความปรารถนาของคนในโลกมีมากมาย มันไม่ได้มีเรื่องเดียว อยากเรื่องนั้นั อยากเรื่องนี้ ต้องการเรื่องนั้น ต้องการสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ ต้องการสิ่งนั้น เป็นอย่างนั้น วันๆนึงมีความปรารถนาเกิดขึ้นไม่รู้จบ เต็มไปหมดเลย

       ถ้าเราพิจารณาไม่เป็น ความทุกข์ก็มีมาก เราจะมีแต่ความทุกข์ในชีวิต วันๆก็มีแต่ความทุกข์ความเครียด เพราะว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ อยากจะกินแต่ไม่ได้กิน อยากจะไปแต่ไม่ได้ไป อยากจะทำงานแต่ไม่ได้ทำ หรือไม่อยากทำงานแต่ต้องได้ทำ มันก็ทุกข์หมด นี่คือปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

       และความปรารถนาที่ไม่มีใครในโลกต้านทานได้ คือ ปรารถนาว่า สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาเนี่ย อย่าแก่เลย ร่างกายนี้อย่าแก่เลย  /  สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าเจ็บไข้เลย /  สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าตายเลย ปรารถนาไปเถอะ ไม่ได้แน่นอน  /  สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา อย่าสิ้นไปเลย เราปรารถนาสิ่งเหล่านี้ มันไม่สำเร็จ ไม่ว่าคุณจะมี ฤทธานุภาพ เป็นพรหม เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ มียศศักดิ์ หรือทรัพย์มากมายขนาดไหนก็ตาม จะไม่ได้ตามปรารถนาในสิ่งเหล่านี้ พระองค์บอก นี่แหละ คือปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

       สิ่งเหล่านี้แหละทำให้เกิดความทุกข์ในชีวิต เกิดความพอใจ ไม่พอใจขึ้น เพราะไม่ได้ตามปรารถนา
ความปรารถนาของคนมันไม่มีจบ สำเร็จเรื่องนี้ มันก็ไปปรารถนาเรื่องนั้นสำเร็จเรื่องนั้นไปปรารถนาเรื่องใหม่ เพราะว่า เหตุปัจจัยมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

       เรากินอาหารทุกวัน เราก็จะมีความปรารถนาในเรื่องอาหารทุกๆวันเหมือนกัน และถ้าไม่ได้ตามความปรารถนา ก็เป็นทุกข์อีก

       คือมันจบไม่ได้ จบจนกว่าจะตายนั่นแหละ พอตายแล้ว ถ้าจริงๆ มันก็ไม่จบอีก เพราะว่า มันจบแต่รูป กายแตก แต่ผู้ยึดติด ก็ยังยึด จิต มโน วิญญาณ ก็ยังยึด เวทนา สัญญา สังขาร ยึดนามธรรมอยู่ มันก็ไปต่อ ไปเกิดต่อ

       ดังนั้น ตัวความพอใจจึงเป็นเหตุของการยึดถือซึ่งตัวตน ตัวฉันทะ ฉันทะ พระองค์จึงบอกว่า ฉันทะเป็นมูลเหตุของความทุกข์

       เราพอใจอย่างนี้ ปรารถนาอย่างนี้ ไม่ได้ตามปรารถนา ก็เป็นทุกข์

       เหมือน กุมาร กุมารี เล่นเรือนในน้อยๆ พอกุมาร กุมารี ไม่ได้ตามปรารถนาในเรือนน้อยๆ กุมาร กุมารี ก็เป็นทุกข์ เรือนน้อยๆ มันต้องแตกสลาย แต่เพราะเขาไม่มีปัญญารู้เห็น ตามที่เป็นจริง

       ดังนั้น ปัญญาความรู้เห็นตามที่เป็นจริง คือ วิชชา มันจะมีขึ้นได้เพราะเราได้รู้เรื่องของ อริยสัจ 4

       คราวนี้ อริยสัจ 4 เราจะรู้เอง ก็ไม่ใช่ฐานะ อาจจะได้ ถ้าโยมตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า โยมก็รู้เองได้ แต่ถ้าใครตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็ต้องยอมรับว่าอีกนาน


/ ( เวลา 00.24.40 น. ) 


- END -