Tuesday, January 26, 2021

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ เรื่อง คำแผ่เมตตา ที่ตรัสจากพระโอษฐ์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์

เรื่อง คำแผ่เมตตา ที่ตรัสจากพระโอษฐ์ 


เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน

และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

เมื่อใด จิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน

และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

เราจักเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ มุทิตาเจโตวิมุตติ อุเบกขาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว

เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากบาป อกุศลที่เกิดขึ้น ปราโมทย์ก็เกิด  /  เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด  /  เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว กายก็สงบรำงับ  /  ผู้มีกายสงบรำงับ ย่อมเสวยสุข  /  จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เธอมีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยเมตตา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แล้วแลอยู่

มีจิตประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยกรุณา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แล้วแลอยู่

มีจิตประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยมุทิตา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แล้วแลอยู่

มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วหน้าเสมอกัน ด้วยจิตอันประกอบด้วยอุเบกขา เป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แล้วแลอยู่



สระโบกขรณี มีน้ำ ใส จืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์

ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหนๆ

อันความร้อนแผดเผา เร่าร้อน ลำบาก ระหาย อยากดื่มน้ำ

เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ

และความกระวนกระวายเพราะความร้อนเสียได้ แม้ฉันใด

เธอมาถึงธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา

และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เรากล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง 



เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง ย่อมเป่าสังข์ให้ได้ยินได้ทั้ง 4 ทิศโดยไม่ยาก ฉันใด

ในเมตตาเจโตวิมุตติ ที่เจริญแล้วอย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัด ย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในนั้น ก็ฉันนั้น 

ในกรุณาเจโตวิมุตติ ที่เจริญแล้วอย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัด ย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในนั้น ก็ฉันนั้น  

ในมุทิตาเจโตวิมุตติ ที่เจริญแล้วอย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัด ย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในนั้น ก็ฉันนั้น  

ในอุเบกขาเจโตวิมุตติ ที่เจริญแล้วอย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัด ย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในนั้น ก็ฉันนั้น 



เมื่อใดเธอเจริญสมาธินี้อย่างนี้ เจริญดีแล้ว เมื่อนั้น เธอจักเดินไปทางใดๆ

ก็จักเดินเป็นสุขในทางนั้นๆ  /  ยืนอยู่ในที่ใดๆ ก็จักยืนเป็นสุขในที่นั้นๆ  /  นั่งอยู่ในที่ใดๆ ก็จักนั่งอยู่เป็นสุขในที่นั้นๆ  /  นอนอยู่ที่ใดๆ ก็จักนอนเป็นสุขในที่นั้นๆ



เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพมาแต่แรก ให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว

ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ

ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ 11 อย่าง คือ หลับเป็นสุข  /  ตื่นเป็นสุข  /  ไม่ฝันร้าย  /  เป็นที่รักของพวกมนุษย์  /  เป็นที่รักของพวกอมนุษย์  /  เทวดารักษา

/  ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัสตราก็ดี ไม่ต้องบุคคลนั้น  /  จิตตั้งมั่นได้รวดเร็ว  /  สีหน้าผุดผ่อง  /  ไม่หลงทำกาละ  /  เมื่อยังไม่บรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งขึ้นไป ย่อมเกิดในพรหมโลก 



เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพมาแต่แรก ให้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว

ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมดีแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ประพฤติสั่งสมเนืองๆ

ปรารภสมำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ 11 อย่างนี้แล


* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ทาน  /  หัวข้อใหญ่ : ภาคผนวก  /  หัวข้อย่อย : วิธีการเจริญเมตตาและการเจริญพรหมวิหาร  /  หัวข้อเลขที่ : 82  /  -บาลี มู. ม. 12/614/482., -บาลี อฏฺฐก. อํ. 23/309/160., -บาลี เอกาทสก. อํ. 24/370/222.  /  หน้าที่ : 190 , 191 , 192 , 193


* * * ( หมายเหตุ จากผู้ทำเว็บ - การเว้นวรรค การคั่นหน้าต่างๆในข้อมูลข้างบนนี้ เป็นการทำของผู้ทำเว็บเอง เพื่อให้สะดวกต่อการท่องจำ และผู้ทำเว็บแนะนำให้พิมพ์ใส่โปรแกรม Microsoft Word ก่อน แล้วเอาไว้ท่องจำ จะจำได้ง่ายขึ้นครับ


* * * ( หมายเหตุ จากผู้ทำเว็บ - การเว้นวรรค การคั่นหน้าต่างๆในข้อมูลข้างบนนี้ เป็นการทำของผู้ทำเว็บเอง เพื่อให้สะดวกต่อการท่องจำ และผู้ทำเว็บแนะนำให้พิมพ์ใส่โปรแกรม Microsoft Word ก่อน แล้วเอาไว้ท่องจำ จะจำได้ง่ายขึ้นครับ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

ข้างล่างนี้ )


* * * จากพระสูตรข้างบนนี้  ตอนที่ตรัสว่า

"เธอมีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง เธอแผ่ไป ตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง

ตรง ตัวหนังสือสีแดง ที่เขียนว่า ตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง นั้น มีพระสูตรอีกอันหนึ่งที่อธิบายไว้ ( ดูข้างล่างนี้ .... )



ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์แผ่รัศมี ส่องแสงให้สว่างไปทั่วทิศ กินเนื้อที่ประมาณเท่าใด

โลกมีเนื้อที่เท่านั้น มีจำนวนพันหนึ่ง


ในพันโลกนั้น มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภูเขาสิเนรุ อย่างละพันหนึ่ง  /  มีชมพูทวีป

อมรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหะทวีป อย่างละพันหนึ่ง  /  มีมหาสมุทร มีมหาราช อย่างละสี่พัน  /  มีสวรรค์ชั้น จาตุมมหาราชิกา ตาวตีสา ยามา ตุสิตา นิมมานรตี 

ปรนิมมิตวสวัตตี และพรหม ชั้นละพันหนึ่ง นี้เรียกว่า

สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ  /  โลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล 


สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุมีขนาดเท่าใด โลกธาตุขนาดเท่านั้น คำนวณทวีขึ้นโดยส่วนพัน

นั้นเรียกว่า ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุ  /  โลกธาตุกลางมีล้านจักรวาล


ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุมีขนาดเท่าใด โลกธาตุขนาดเท่านั้น คำนวณทวีขึ้นโดยส่วนพัน นั้นเรียกว่า ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ  /  โลกธาตุใหญ่มีแสนโกฏิจักรวาล  


* * * หมายเหตุ จากผู้ทำเว็บ - คำอธิบายข้างบนนี้ เป็นการอธิบายคำว่า "โลก" เท่านั้นนะครับ จะเห็นได้ว่า ยังมีโลกแบบที่เราอยู่นี้ ถึงแสนโกฏิจักรวาล

       ในระบบทั้งหมดนั้น ยังมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือจาก "โลก" ( ที่มีแสนโกฏิจักรวาล ) นี้อีก พูดให้ฟังได้ดังนี้

       1."โลก" ( ที่มีแสนโกฏิจักรวาล ) นั้น จะอยู่แค่ใน "กามธาตุ" เท่านั้น


       2.ในระบบนั้น มี "กามธาตุ" ( ที่ "โลก" แสนโกฏิจักรวาล ตั้งอยู่ ) แล้วยังมี "รูปธาตุ" และ "อรูปธาตุ" อยู่อีก


       3.โดย "กามธาตุ" ( ที่ "โลก" แสนโกฏิจักรวาล ตั้งอยู่ ) และ "รูปธาตุ" และ "อรูปธาตุ" นั้น จะอยู่ใน "สังขตาธาตุ" อีกทีหนึ่ง


       4."ระบบทั้งหมด" นั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า จะมี สังขตาธาตุ ( อ่านว่า สัง-ขะ-ตา-ธา-ตุ ) , อสังขตาธาตุ ( อ่านว่า อะ-สัง-ขะ-ตา-ธา-ตุ )


       5.และใน อสังขธาตุนั้น จะมีส่วนที่เป็น นิพพาน ที่จะ "ซ้อนอยู่" น อสังขธาตุ อีกทีหนึ่ง  /  ส่วนที่ "ซ้อน" อยู่นี้ เรียกว่า "วิราคะธรรม" ( อ่านว่า วิ-รา-คะ-ธรรม  )


       โดยส่วนตัวแล้ว เวลาแผ่เมตตา ( ที่อยู่ในส่วนบนของหน้าเว็บนี้ ) ผู้ทำเว็บชอบพูดว่า แผ่ไปให้ครอบคลุมทั้ง ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ - โลกธาตุใหญ่มีแสนโกฏิจักรวาล , ครอบคลุมทั้ง กามภพ , รูปภพ , อรูปภพ , สังขตาธาตุ , อสังขตาธาตุ , วิราคะธรรม



* * * ส่วนเวลาตักบาตรตอนเช้า ผู้ทำเว็บ ก็ขอบพูดในใจตอนที่หย่อนอาหารลงบาตรพระว่า "บุญนี้ เป็นการให้เพื่อเป็นเครื่องประดับจิต บริขารจิต คือการละความตระหนี่อันเป็นมลทิน ให้แล้วไม่คิดจะเอาคืน ให้ของที่ให้ได้โดยยาก และ บุญนี้ขออุทิศให้ ทุกท่านในสังขตาธาตุ , และทุกสิ่งทุกอย่างใน อสังขตาธาตุ , วิราคะธรรม" ( ไม่มี คำว่า ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ เพราะว่า ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ เขาอยู่ใน สังขตาธาตุ อยู่แล้ว )

       การที่ผู้ทำเว็บชอบใช้คำว่า ทุกท่านในสังขตาธาตุ , และทุกสิ่งทุกอย่างใน อสังขตาธาตุ , วิราคะธรรม  ก็เพราะว่าผู้ทำเว็บจะได้ "มั่นใจ" ว่าได้กล่าวครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในระบบจริงๆ ไม่มีการตกหล่นอย่างแน่นอน  




- END -