คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง อุโบสถขันธกะ : ทรงอนุญาต ปาติโมกขุเทศ
เรื่อง อุโบสถขันธกะ : ทรงอนุญาต ปาติโมกขุเทศ
ทรงอนุญาตปาติโมกขุเทศ
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 149 )
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไป ณ ที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งพระทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า
ไฉนหนอ เราพึงอนุญาตสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้เป็นปาติโมกขุเทศของพวกเธอ
ปาติโมกขุเทศนั้นจักเป็นอุโบสถกรรมของพวกเธอ
ครั้นเวลาสายัณห์ พระองค์เสด็จออกจากที่เร้นแล้ว ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงอนุญาตสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้เป็นปาติโมกขุเทศของพวกเธอ
ปาติโมกขุเทศนั้นจักเป็นอุโบสถกรรมของพวกเธอ ดังนี้
238.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์
239.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุพึงสวดอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์
อะไรเป็นบุพพกิจของสงฆ์ ท่านทั้งหลายพึงบอกความบริสุทธิ์ ข้าพเจ้าจักสวดปาติโมกข์
พวกเราบรรดาที่มีอยู่ทั้งหมดจงฟัง จงใส่ใจซึ่งปาติโมกข์นั้นให้สำเร็จประโยชน์
ท่านผู้ใดมีอาบัติ ท่านผู้นั้นพึงเปิดเผย
เมื่ออาบัติไม่มี พึงนิ่งอยู่
ก็ด้วยความเป็นผู้นิ่งแล ข้าพเจ้าจักทราบท่านทั้งหลายว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
การสวดประกาศกว่าจะครบ 3 จบ ในบริษัทเห็นปานนี้ย่อมเป็นเหมือนการกล่าวแก้เฉพาะรูป ที่ถูกถามผู้เดียวฉะนั้น
ก็ภิกษุรูปใด เมื่อสวดประกาศกว่าจะครบ 3 จบ ระลึกได้ ไม่ยอมเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ สัมปชานมุสาวาท ย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น
ท่านทั้งหลาย ก็สัมปชานมุสาวาท พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย
เพราะฉะนั้น ภิกษุต้องอาบัติแล้วระลึกได้ หวังความบริสุทธิ์ พึงเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่
เพราะเปิดเผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่เธอ
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 2 : อุโบสถขันธกะ / หัวข้อย่อยรองลงมา : อุโบสถขันธกะ : ทรงอนุญาต ปาติโมกขุเทศ
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 259
- END -