คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง อุโบสถขันธกะ : ภิกษุหลายวัดทำอุโบสถร่วมกัน
เรื่อง อุโบสถขันธกะ : ภิกษุหลายวัดทำอุโบสถร่วมกัน
ภิกษุหลายวัดทำอุโบสถร่วมกัน
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 161 )
262.…ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาวาสในพระนครราชคฤห์นี้ก็หลายแห่ง มีสีมาอันเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลายในอาวาสเหล่านั้น วิวาทกันว่า ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา ขอสงฆ์จงทำอุโบสถในอาวาสของพวกเรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทุกๆ รูปพึงประชุมทำอุโบสถแห่งเดียวกัน
ก็หรือภิกษุผู้เถระอยู่ในอาวาสใด พึงประชุมทำอุโบสถในอาวาสนั้น
แต่สงฆ์เป็นวรรคไม่พึงทำอุโบสถ
รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ
* * * พระมหากัสสปเถระ เดินทางไปทำอุโบสถ
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 162 )
ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสป มาจากอันธกวินทวิหารสู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ
ในระหว่างทางข้ามแม่น้ำ เกือบถูกน้ำพัดไป จีวรของท่านเปียก
ภิกษุทั้งหลายได้ถามท่านพระมหากัสสป ว่า อาวุโส เพราะเหตุไรจีวรของท่านจึงเปียก
ท่านตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมมาจาก อันธกวินทวิหาร สู่ พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ณ ที่นี้ ได้ข้ามแม่น้ำ ในระหว่างทาง เกือบถูกน้ำพัดไป เพราะเหตุนั้น จีวรของผมจึงเปียก …
ตรัสว่า
263.ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมานั้นใด อันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
วิธีสมมติติจีวราวิปปวาส
264.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติ ติจีวราวิปปวาสสีมา อย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
* * * กรรมวาจาสมมติ ติจีวราวิปปวาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สีมานั้นใด อันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สีมานั้นใด อันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ซึ่งสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
การสมมติสีมานี้ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
สีมานั้นสงฆ์สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสมมติ ติจีวราวิปปวาส แล้ว จึงเก็บจีวรไว้ในละแวกบ้าน จีวรเหล่านั้นหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง
ภิกษุทั้งหลายมีแต่ผ้าไม่ดี มีจีวรเศร้าหมอง
ภิกษุทั้งหลายจึงถามกันอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เพราะเหตุไร พวกท่านจึงมีแต่ผ้าไม่ดี มีจีวรเศร้าหมองเล่า
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกผมทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสมมติ ติจีวราวิปปวาส แล้ว จึงเก็บจีวรไว้ในละแวกบ้าน ณ ตำบลนี้ จีวรเหล่านั้นหายเสียบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง เพราะเหตุนั้น พวกผมจึงมีแต่ผ้าไม่ดี มีจีวรเศร้าหมอง …
ตรัสว่า
265.ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมานั้นใด อันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร
เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน
วิธีสมมติติจีวราวิปปวาส
266.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติ ติจีวราวิปปวาสสีมา อย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ ทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
* * * กรรมวาจาสมมติติจีวราวิปปวาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้าน และอุปจารแห่งบ้าน
นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ซึ่งสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน
การสมมติ สีมานี้ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรเว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
สีมานั้นสงฆ์สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรเว้นบ้าน และอุปจารแห่งบ้านแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 163 )
267.…ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะสมมติสีมา พึงสมมติ สมานสังวาสสีมา ก่อน ภายหลังจึงสมมติ ติจีวราวิปปวาส
เมื่อจะถอนสีมา พึงถอน ติจีวราวิปปวาส ก่อน ภายหลังจึงถอน สมานสังวาสสีมา
วิธีถอนติจีวราวิปปวาส
268.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอน ติจีวราวิปปวาส อย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
* * * กรรมวาจาถอน ติจีวราวิปปวาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้นใด อันสงฆ์สมมติไว้แล้ว
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น
นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้นใด อันสงฆ์สมมติไว้แล้ว สงฆ์ถอนอยู่บัดนี้ ซึ่งแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น
การถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น สงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
วิธีถอนสมานสังวาสสีมา
269.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอนสมานสังวาสสีมาอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
* * * กรรมวาจาถอน สมานสังวาสสีมา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน ให้มีอุโบสถเดียวกัน
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนสีมานั้น
นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน ให้มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์ถอนอยู่บัดนี้ ซึ่งสีมานั้น
การถอนสีมามีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
สีมามีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันนั้น อันสงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้
* * * อพัทธสีมา
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 164 )
270.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์ยังไม่ได้สมมติ ยังไม่ได้กำหนดสีมา ภิกษุเข้าอาศัยบ้านหรือนิคมใดอยู่ เขตของบ้านนั้นเป็นคามสีมาบ้าง เขตของนิคมนั้นเป็นนิคมสีมาบ้าง สีมานี้มีสังวาสเสมอกันมีอุโบสถเดียวกัน ในบ้านหรือนิคมนั้น
271.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าในป่าหาคนตั้งบ้านเรือนมิได้ ชั่ว 7 อัพภันดร * * * ( 1 ) โดยรอบ เป็น สัตตัพภันดรสีมา สีมานี้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันในป่านั้น
272.ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำทั้งหมด สมมติเป็นสีมาไม่ได้ สมุทรทั้งหมด สมมติเป็นสีมาไม่ได้ ชาตสระ * * * ( 2 ) ทั้งหมด สมมติเป็นสีมาไม่ได้
273.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในแม่น้ำในสมุทร หรือในชาตสระชั่ววักน้ำสาด โดยรอบแห่งมัชฌิมบุรุษ เป็น อุทกุกเขปสีมา สีมานี้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ในน่านน้ำนั้น
* * * สีมาสังกระ
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 165 )
…ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมาอันภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ
สีมาอันภิกษุเหล่าใด สมมติแล้วในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ
274.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา
รูปใดสมมติคาบเกี่ยว ต้องอาบัติทุกกฏ
* * * สีมาทับสีมา
…ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมาอันภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ
สีมาอันภิกษุเหล่าใดสมมติแล้วในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ
275.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาทับสีมา
รูปใดสมมติทับ ต้องอาบัติทุกกฏ
276.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะสมมติสีมา เว้นสีมันตริก * * * ( 3 ) ไว้ แล้วสมมติสีมา
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) อัพภันดร หมายถึง ชื่อมาตรวัดในบาลี ราว 7 วา เป็น 1 อัพภันดร ที่มา : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 – ผู้รวบรวม
* * * ( 2 ) ชาตสระ หมายถึง สระธรรมชาติ ที่มา : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 – ผู้รวบรวม
* * * ( 3 ) สีมันตริก หมายถึง ช่องว่างในระหว่างสีมา ที่มา : พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาฯ พ.ศ.2535 – ผู้รวบรวม
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 2 : อุโบสถขันธกะ / หัวข้อย่อยรองลงมา : อุโบสถขันธกะ : ภิกษุหลายวัดทำอุโบสถร่วมกัน
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 266 , 267 , 268 , 269 , 270 , 271
- END -