เทสนาคามินี
เทสนาคามินี ( อ่านว่า เท-สะ-นา-คา-มิ-นี ) - แยกศัพท์เป็น เทสนา + คามินี
( 1 ) “เทสนา”
อ่านว่า เท-สะ-นา รากศัพท์มาจาก ทิสฺ ( ธาตุ = แสดง, ชี้แจง ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน ( อะ-นะ ) , แผลง อิ ที่ ทิ-( สฺ ) เป็น เอ ( ทิสฺ > เทส ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทิสฺ + ยุ > อน = ทิสน > เทสน + อา = เทสนา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาเป็นเครื่องแสดงเนื้อความ”
“เทสนา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
( 1 ) การเทศน์ , การสั่งสอน , บทเรียน ( discourse , instruction , lesson )
( 2 ) ควบกับ ธมฺม + เทสนา = ธมฺมเทสนา หมายถึง การสั่งสอนธรรม , การแสดงธรรม , การเทศน์ , คำเทศน์หรือสั่งสอน ( moral instruction , exposition of the Dhamma , preaching , sermon )
( 3 ) การยอมรับ ( โดยชอบด้วยกฎหมาย ) ( [legal] acknowledgment )
( 2 ) “คามินี”
รูปคำเดิมเป็น “คามี” ( คา-มี ) รากศัพท์มาจาก คมฺ ( ธาตุ = ไป, ถึง ) + ณี ปัจจัย , ลบ ณ ( ณี > อี ) , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” ( คมฺ > คาม )
: คมฺ + ณี = คมณี > คมี > คามี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไป” “ผู้ยังให้ถึง”
“คามี” มีความหมายว่า –
( 1 ) ไป , เดินไป ( going , walking )
( 2 ) นำไปสู่ , ไปยัง ( leading to , making for )
“คามี” เป็นปุงลิงค์ ในที่นี้ใช้เป็นวิเสสนะ ( คำขยาย ) ของ “อาปตฺติ” ( อา-ปัด-ติ = อาบัติ ) ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ จึงต้องแปลงรูป “คามี” ให้เป็นอิตถีลิงค์โดยวิธี + อินี ปัจจัย
: คามี + อินี = คามินี แปลตามศัพท์ว่า “( อาบัติ ) อันยังให้ถึง-”
“คามี” หรือ “คามินี” ไม่นิยมใช้เดี่ยว แต่มักต่อท้ายคำอื่น ต่อท้ายคำอะไร ก็มีความหมายว่าดำเนินไปถึงสิ่งนั้น หรือนำไปให้ถึงสิ่งนั้น
คำที่เราน่าจะคุ้นกันดีก็อย่างเช่น “ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา” แปลว่า “ทางดำเนินไปสู่ความดับแห่งทุกข์” ( the Path that leads to the Cessation ( or , the Extinction ) of Suffering )
เทสนา + คามินี = เทสนาคามินี แปลตามศัพท์ว่า “( อาบัติ ) อันยังให้ถึงการแสดง”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –
“เทสนาคามินี : อาบัติที่ภิกษุต้องเข้าแล้วจะพ้นได้ด้วยวิธีแสดง , อาบัติที่แสดงแล้วก็พ้นได้ , อาบัติที่ปลงตกด้วยการแสดงที่เรียกว่า แสดงอาบัติ หรือ ปลงอาบัติ ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต ; ตรงข้ามกับ อเทสนาคามินี ซึ่งเป็นอาบัติที่ไม่อาจพ้นได้ด้วยการแสดง ได้แก่ ปาราชิก และสังฆาทิเสส”
อภิปราย :
กิจวัตรข้อหนึ่งของภิกษุ คือ การสำรวจความประพฤติของตัวเองในแต่ละวันว่าปฏิบัติพระธรรมวินัยบกพร่องอย่างไรบ้างหรือไม่ ถ้าเห็นข้อบกพร่องผิดพลาดก็ให้เปิดเผยความผิดพลาดนั้นให้เพื่อนภิกษุด้วยกันรับรู้พร้อมทั้งรับปากว่าจะไม่กระทำสิ่งที่ผิดพลาดนั้นอีก เรียกว่า “แสดงอาบัติ” หรือ “ปลงอาบัติ”
อาบัติที่ต้องแสดงคือเปิดเผยให้เพื่อนภิกษุด้วยกันรับรู้จึงจะพ้นโทษผิดได้นี่แหละเรียกว่า “เทสนาคามินี”
แถม : คำแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้จะแสดงอาบัติครองจีวรเฉวียงบ่า ( ห่มลดไหล่ ) โดยปกติภิกษุที่มีพรรษาอ่อนกว่าเป็นฝ่ายเข้าไปภิกษุที่มีพรรษาแก่กว่า นั่งคุกเข่า ( ตามคัมภีร์ว่านั่งกระโหย่ง ) ประนมมือ กล่าวเป็นภาษาบาลี ( ในที่นี้บอกคำแปลไว้ให้ด้วยเพื่อให้รู้ความหมาย ) –
ภิกษุที่มีพรรษาอ่อนกว่าแสดงก่อน :
พรรษาอ่อนว่า: สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ. ( 3 หน )
( ขอแจ้งให้ทราบว่ากระผมต้องอาบัติทั้งหมดหลายตัว )
สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ. ( 3 หน )
( ขอแจ้งให้ทราบว่าอาบัติทั้งหมดเป็นอาบัติหนักบ้างเบาบ้าง )
อะหัง ภันเต สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย อาปัตติโย อาปัชชิง ตา ตุม๎หะมูเล ปะฏิเทเสมิ
( กระผมต้องอาบัติหลายตัว ต่างกรณีกัน ขอแสดงอาบัตินั้นกับท่าน )
พรรษาแก่ว่า: ปัสสะสิ อาวุโส ตา อาปัตติโย
( คุณยอมรับว่าต้องอาบัตินั้นหรือ? )
พรรษาอ่อนว่า: อุกาสะ อามะ ภันเต ปัสสามิ
( ถูกแล้วขอรับ กระผมยอมรับ )
พรรษาแก่ว่า: อายะติง อาวุโส สังวะเรยยาสิ
( ต่อไปคุณควรจะสำรวมระวัง )
พรรษาอ่อนว่า: สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ
( สาธุ กระผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุดขอรับ )
ทุติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ
( สาธุ ขอรับปากเป็นวาระที่สอง กระผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุดขอรับ )
ตะติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ
( สาธุ ขอรับปากเป็นวาระที่สาม กระผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุดขอรับ )
นะ ปุเนวัง กะริสสามิ ( พรรษาแก่รับว่า สาธุ )
( กระผมจะไม่ทำเรื่องที่ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก )
นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ ( พรรษาแก่รับว่า สาธุ )
( กระผมจะไม่พูดเรื่องที่ทำให้ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก )
นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ ( พรรษาแก่รับว่า สาธุ )
( กระผมจะไม่คิดเรื่องที่ทำให้ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก )
ภิกษุที่มีพรรษาแก่กว่าแสดง :
พรรษาแก่ว่า: สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ ( 3 หน )
( ขอแจ้งให้ทราบว่าผมต้องอาบัติทั้งหมดหลายตัว )
สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ ( 3 หน )
( ขอแจ้งให้ทราบว่าอาบัติทั้งหมดเป็นอาบัติหนักบ้างเบาบ้าง )
อะหัง อาวุโส สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย อาปัตติโย
อาปัชชิง ตา ตุย๎หะมูเล ปะฏิเทเสมิ
( ผมต้องอาบัติหลายตัว ต่างกรณีกัน ขอแสดงอาบัตินั้นกับคุณ )
พรรษาอ่อนว่า: อุกาสะ ปัสสะถะ ภันเต ตา อาปัตติโย
( ขอประทานโทษ ท่านยอมรับว่าต้องอาบัตินั้นหรือขอรับ? )
พรรษาแก่ว่า: อามะ อาวุโส ปัสสามิ
( ถูกแล้ว ผมยอมรับ )
พรรษาอ่อนว่า: อายะติง ภันเต สังวะเรยยาถะ
( ต่อไปท่านควรจะสำรวมระวังขอรับ )
พรรษาแก่ว่า: สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ
( สาธุ ผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุด )
ทุติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ
( สาธุ ขอรับปากเป็นวาระที่สอง ผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุด )
ตะติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ
( สาธุ ขอรับปากเป็นวาระที่สาม ผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุด )
นะ ปุเนวัง กะริสสามิ ( พรรษาอ่อนรับว่า สาธุ )
( ผมจะไม่ทำเรื่องที่ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก )
นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ ( พรรษาอ่อนรับว่า สาธุ )
( ผมจะไม่พูดเรื่องที่ทำให้ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก )
นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ ( พรรษาอ่อนรับว่า สาธุ )
( ผมจะไม่คิดเรื่องที่ทำให้ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก )
- จบ -