Sunday, January 16, 2022

มานัต

 

มานัต



       มานัต ชื่อ วุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติ แปลว่า นับหมายถึงการนับราตรี 6 ราตรี คือภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว เมื่อจะปลดเปลื้องตนจากอาบัติ ตามธรรมเนียมแห่งอาบัติสังฆาทิเสส จะต้องไปหาสงฆ์จตุรวรรค ทำผ้าห่มเฉวียงป่าข้างหนึ่ง กราบภิกษุแก่กว่า นั่งกระหย่งประนมมือกล่าวคำขอมานัตตามอาบัติที่ต้อง ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศให้มานัตแล้ว ภิกษุรูปนั้นประพฤติมานัต 6 ราตรี เป็นวุฏฐานวิธีเบื้องต้นแห่งการออกจากครุกาบัติ แล้วสงฆ์จึงสวดระงับอาบัตินั้น ( แต่ถ้าปกปิดอาบัติไว้ ต้องอยู่ปริวาสก่อนจึงประพฤติมานัตได้ ) 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       มานัต, มานัตต์ ชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติ 

       แปลว่า “นับ” หมายถึงการนับราตรี 6 ราตรี คือ 

       ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว เมื่อจะปลดเปลื้องตนจากอาบัติ ตามธรรมเนียมแห่งอาบัติสังฆาทิเสส จะต้องไปหาสงฆ์จตุรวรรค ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบภิกษุแก่กว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวคำขอมานัตตามอาบัติที่ต้อง

       ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศให้มานัตแล้ว 

       ภิกษุรูปนั้นประพฤติมานัต 6 ราตรี เป็นวุฏฐานวิธีเบื้องต้น แห่งการออกจากครุกาบัติ แล้วสงฆ์จึงสวดระงับอาบัตินั้น ( แต่ถ้าปกปิดอาบัติไว้ ต้องอยู่ปริวาสก่อนจึงประพฤติมานัตได้ ) 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       มานัต แปลความโดยขอบเขต หมายถึง นับ ได้แก่ นับราตรี การนับราตรี 

       การนับราตรี หรือ มานัต นั้น เป็นเงื่อนไขต่อจากการประพฤติปริวาสของภิกษุผู้อยู่กรรม เมื่ออยู่ปริวาส 3 ตรี หรือตามที่คณะสงฆ์กำหนดแล้ว เมื่อคณะสงฆ์พิจารณาว่า ปริวาส ที่ภิกษุประพฤตินั้นบริสุทธิ์ในการพิจารณาของสงฆ์แล้ว

       สงฆ์ก็จะเรียกผู้ประประพฤติปริวาสนั้นว่า “มานัตตารหภิกษุ” แปลว่า “ภิกษุผู้ควรแก่มานัต” มานัต หรือการนับราตรีนั้น ได้แก่การ นับราตรี 6 ราตรีเป็นอย่างน้อย ซึ่งเกินกว่านี้ไม่เป็นไร แต่ถ้าน้อยกว่า 6 ราตรีไม่ได้ ซึ่งเป็นพระวินัยกำหนดไว้เช่นนั้น 

       ซึ่งการนับราตรีของ มานัต นั้นก็มีเงื่อนไขที่ทำให้นับราตรีไม่ได้เช่นกัน เรียกว่า การขาดแห่งราตรี หรือ การนับราตรีเป็นโมฆะ 


เงื่อนไขที่ทำให้นับราตรีไม่ได้ สำหรับ มานัต มีด้วยกัน 4 อย่าง คือ 

       1.สหวาโส คือ การอยู่ร่วม มีข้อกำหนดเหมือนปริวาส ไม่มีข้อแตกต่างกัน 


       2.วิปปวาโส คือ การอยู่ปราศ ในส่วนข้อนี้มีความแตกต่างตรงที่ การประพฤติปริวาสนั้น จะสมาทานประพฤติวัตรกับคณะสงฆ์อาจารย์กรรมรูปเดียวก็ได้ แต่ มานัต นั้น ต้องสมาทานกับสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป

       หรือ ในกรณีที่ภิกษุผู้ประพฤติปริวาสเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย อาพาธขึ้นในระหว่าง มานัต จำต้องไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ต้องมีสงฆ์อย่างน้อย 4 รูป ไปเฝ้าไข้ ซึ่งถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็ต้องอนุญาตให้ไปรักษาอาพาธนั้นให้หายเป็นปกติก่อน

       เมื่อหายเป็นปกติแล้วให้ภิกษุนั้น กลับมาสมาทานวัตรเพียงรูปเดียวในภายหลัง ( แต่ถ้าเก็บวัตรแล้วก็ไม่เป็นไร ) ส่วนการ บอกวัตร นั้นถ้าบอกเป็นครั้งแรกในวันนั้นต้องบอกกับสงฆ์หมดทุกรูป แต่ถ้าการบอกวัตรนั้นเป็นการบอกครั้งที่สองไม่ต้องบอกหมดทุกรูป 

       ยกเว้นเมื่อบอกวัตรไปแล้วในขณะนั้นแต่ชั่วครู่นั้นมีพระอาคันตุกะแวะเวียนเข้ามา การบอกวัตรครั้งที่สองนี้จะบอกเดี่ยวสำหรับพระอาคันตุกะหรือจะบอกเป็นสงฆ์ก็ได้ขึ้นอยู่ที่คณะสงฆ์พระอาจารย์กรรมกำหนด 

       ซึ่งถ้าบอกเป็นสงฆ์ก็ต้องหาพระอาจารย์กรรม รวมทั้งพระอาคันตุกะนั้นให้ครบองค์สงฆ์คือ 4 รูป แต่ส่วนมากจะบอกเดี่ยวเพื่อความสะดวกรวดเร็ว 


       3. อนาโรจนา คือ การไม่บอกวัตรที่ประพฤติ ซึ่งการการประพฤติ มานัต นั้น จะต้องบอกวัตรทุกวัน ไม่บอกไม่ได้ แตกต่างกับปริวาสซึ่งจะบอกก็ได้ไม่บอกก็ได้ เพราะอยู่ปริวาสนั้นบอกวัตรครั้งเดียวแล้วอยู่ต่อไปอีกสามวันโดยที่ไม่บอกอีกก็ได้ ทั้งนี้หมายความว่าจะต้องไม่ทำผิดกฏข้ออื่น ๆ อีก


       4. อูเน คเณ จรณํ คือ การประพฤติวัตรในคณะอันพร่อง หมายถึง การประพฤติวัตรของพระมานัตในที่ที่มีสงฆ์ไม่ครบ 4 รูปตามพระวินัยกำหนด เช่นนี้ถือว่า ประพฤติวัตรในคณะอันพร่อง ซึ่งจะทำให้การนับราตรีเป็นโมฆะ นับราตรีไม่ได้ 



       มานัต หรือการ นับราตรี นั้น มีอยู่ 4 อย่าง คือ 

       1. อัปปฏิจฉันนมานัต คือ เป็นมานัตที่ภิกษุไม่ต้องอยู่ปริวาส สามารถขอมานัตได้เลย ยกเว้นพวกเดียรถีย์ต้องอยู่ปริวาส 4 เดือน


       2. ปฏิฉันนมานัต คือ มานัตที่ให้แก่ภิกษุผู้ปิดอาบัติไว้ หรือมิได้ปิดไว้ก็ตาม 


       3. ปักขมานัต คือ มานัตที่ให้แก่ภิกษุณี 15 ราตรีเท่านั้น ( ครึ่งปักษ์ ) จะปิดอาบัติไว้หรือมิได้ปิดไว้ก็ตาม 


       4. สโมธานมานัต คือ มานัตที่มีไว้เพื่ออาบัติที่ประมวลเข้าด้วยกันอันเนื่องมาจากสโมธานปริวาสนั้น ซึ่ง สโมธานมานัต นี้เป็นมานัตที่สงฆ์นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

'พระพุทธศาสนา'ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ! ตอน 6...

       สัปดาห์นี้เอ่ยถึงโทษสถานกลาง เป็นอาบัติสังฆาทิเสส และโทษสถานหนักซึ่งเป็นอาบัติปาราชิก ที่เกิดแก่ภิกษุที่ล่วงละเมิดสิกขาบทในพระวินัย แตกต่างกันอย่างไร??

       “โทษสถานกลาง” เป็นอาบัติสังฆาทิเสสที่เกิดแก่ภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติล่วงละเมิดสิกขาบทในพระวินัย มี 13 ข้อ คือ...

       1. ทำน้ำอสุจิเคลื่อน 

       2. แตะต้องสัมผัสกายสตรี 

       3. พูดเกี้ยวพาราสีสตรี 

       4. พูดจาให้สตรีบำเรอกามให้ 

       5. ทำตัวเป็นพ่อสื่อ

       6. สร้างกุฏิด้วยการขอ 

       7. มีเจ้าภาพสร้างกุฏิให้แต่ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ก่อน 

       8. ใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล

       9. แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล 

       10.ทำสงฆ์แตกแยก ( สังฆเภท ) 

       11. เข้าข้างภิกษุที่ทำสงฆ์แตกแยก

       12. ภิกษุทำตนเป็นคนหัวดื้อ 

       13. ประจบสอพลอคฤหัสถ์


       “โทษสถานกลาง” เป็นอาบัติสังฆาทิเสส เป็นโทษที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการอยู่ “ปาริวาสกรรม” โดยอาศัยสงฆ์ในกรณีที่ปกปิดความผิดไว้ และ “การขอมานัต” ในกรณีที่ไม่ได้ปกปิดความผิด มีความแตกต่างไปจาก “โทษสถานหนัก” ซึ่งเป็นอาบัติปาราชิก กล่าวคือ...... 

       ภิกษุที่ล่วงละเมิดสิกขาบทในพระวินัยที่เป็นอาบัติปาราชิกต้องขาดจากความเป็นภิกษุเพียงสถานเดียว ถึงแม้จะไม่ยอมลาสิกขาก็ไม่มีความเป็นภิกษุหลงเหลืออยู่อีกต่อไป เป็นเพียงอลัชชีที่ทำลายพระพุทธศาสนาซึ่งไม่มีความสำนึกผิดและละอายชั่วกลัวบาป ส่วนอาบัติสังฆาทิเสสเป็นโทษที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการอยู่ปาริวาสกรรมโดยอาศัยสงฆ์ในกรณีที่ปกปิดความผิดไว้

       การอยู่ “ปริวาสกรรม” โดยอาศัยสงฆ์เป็นการอยู่ชดใช้กรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว ซึ่งภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสได้ปกปิดความผิดของตนไว้จะต้องชดใช้กรรมเพื่อเป็นการลงโทษตนเองด้วยการชดใช้กรรมให้ครบเท่าจำนวนวันที่ได้กระทำความผิด

       ในระหว่างที่อยู่ “ปริวาสกรรม” โดยอาศัยสงฆ์นั้นต้องประพฤติวัตรต่างๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานะของตนและประจานตัวเอง ในกรณีที่ไม่ได้ปกปิดความผิดต้องขอมานัตเพื่อประพฤติวัตรเช่นเดียวกับการอยู่ “ปริวาสกรรม” เป็นจำนวน 6 ราตรี ไม่ว่าจะแก้ไขอาบัติสังฆาทิเสสด้วยการอยู่ปาริวาสกรรมหรือ การขอมานัต เมื่อครบตามจำนวนวันแล้วก็ยังต้องขออัพภานเพื่อให้สงฆ์รับเข้าหมู่คณะดังเดิม... 

       หากภิกษุที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสไม่แก้ไขด้วยการอยู่ “ปาริวาสกรรม” หรือ “ขอมานัต” ก็เป็นเพียงแค่ภิกษุทุศีลที่ทำลายพระพุทธศาสนาเช่นกัน 

       ทุกวันนี้มีภิกษุที่ต้อง “อาบัติปาราชิก” แต่ไม่ยอมลาสิกขา และภิกษุที่ต้อง “อาบัติสังฆาทิเสส” แต่ไม่ยอมอยู่ปาริวาสกรรมหรือ ขอมานัต เป็นจำนวนไม่น้อยที่ปะปนอยู่ในวงการสงฆ์ ซึ่งมีศีลบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นระดับสังฆาธิการหรือภิกษุทั่วๆ ไป 

       ถือเป็นพฤติการณ์ที่ดูหมิ่นและไม่เคารพยำเกรงต่อ “พระธรรม” ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และ “พระวินัย” ที่ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความมัวหมองและความเสื่อมเสียแก่ “พระพุทธศาสนา” ดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน  


- จบ -