Sunday, January 9, 2022

โกสัมพิขันธกะ

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง โกสัมพิขันธกะ
 



ขันธ์ที่ 6 : โกสัมพิขันธกะ

หมวดเหตุการณ์ในกรุงโกสัมพี 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

* * * เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง  


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 238 )  


       โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี 

       ครั้งนั้น ยังมีภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ 

       สมัยต่อมา ภิกษุรูปนั้นกลับมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ

       จึงภิกษุเหล่านั้น ได้ถามภิกษุนั้นว่า

       อาวุโส ท่านต้องอาบัติ ท่านเห็นอาบัตินั้นหรือไม่

       ภิกษุรูปนั้นตอบว่าอาวุโสทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่จะพึงเห็น 

       ภายหลัง ภิกษุเหล่านั้นหาสมัครพรรคพวกได้ จึงยกภิกษุรูปนั้นเสีย เพราะไม่เห็นอาบัติ 

       แท้จริง ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้คงแก่เรียน ช่ำชองคัมภีร์ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา จึงภิกษุรูปนั้นเข้าไปหาบรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา แล้วได้กล่าวคำนี้ว่า 

       อาวุโสทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องอาบัติ ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องถูกยก ผมต้องถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลายจงกรุณาเป็นฝักฝ่ายของผมโดยธรรม โดยวินัยด้วยเถิด

       ภิกษุรูปนั้นได้ภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา เป็นฝักฝ่ายแล้ว ได้ส่งทูตไปในสำนักภิกษุชาวชนบทที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมาว่า 

       อาวุโสทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องอาบัติ ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องถูกยก ผมเป็นผู้ถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลายจงกรุณาเป็นฝักฝ่ายของผมโดยธรรม โดยวินัยด้วยเถิด ดังนี้ 

       ได้พวกภิกษุชาวชนบทที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา เป็นฝักฝ่าย


       ครั้งนั้น พวกภิกษุที่สนับสนุนผู้ถูกยกเหล่านั้น ได้เข้าไปหาภิกษุพวกที่ยก แล้วได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุพวกที่ยกว่า 

       อาวุโสทั้งหลาย นั้นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ ภิกษุนั้นต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นไม่ต้องถูกยก ภิกษุนั้นเป็นผู้ถูกยกหามิได้ ภิกษุนั้นถูกยก ด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ 

       เมื่อภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุพวกยก ได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุ พวกสนับสนุนผู้ถูกยกว่า

       อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได ภิกษุนั้นต้องอาบัติ ไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นต้องถูกยกแล้ว ไม่ต้องถูกยกหามิได้ ภิกษุนั้นถูกยกแล้ว ด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลายอย่าสนับสนุน อย่าตามห้อมล้อม ภิกษุผู้ถูกยกนั้นเลย 


       ภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกเหล่านั้น อันภิกษุพวกยกว่ากล่าวอยู่แม้อย่างนี้แล ก็ยังสนับสนุน ยังตามห้อมล้อมภิกษุผู้ถูกยกนั้นอย่างเดิมนั่นแหละ



* * * ภิกษุรูปหนึ่งเข้าเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบ 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 239 )  


       ครั้นต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุรูปนั้นนั่งเฝ้าเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่ พระผู้มีพระภาคว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุรูปหนึ่งในวัดโฆสิตารามนี้ต้องอาบัติ ท่านมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้น ว่า ไม่เป็นอาบัติ ครั้นต่อมา ท่านกลับมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ จึงภิกษุเหล่านั้น ได้กล่าวคำนี้แก่ท่านว่า

       อาวุโส ท่านต้องอาบัติ ท่านต้องอาบัตินั้นหรือไม่

       ท่านตอบว่า อาวุโส ทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่จะพึงเห็น

       ภายหลังภิกษุเหล่านั้นหาสมัครพรรคพวกได้แล้ว จึงยกท่านเสีย เพราะไม่เห็นอาบัติ แท้จริง

       ท่านรูปนั้นเป็นผู้คงแก่เรียน ชำชองคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา จึงเข้าไปหาบรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา แล้วได้ กล่าวคำนี้ว่า

       อาวุโสทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องอาบัติ ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องถูกยก ผมต้องถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมไม่ เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลาย จงกรุณาเป็นฝักฝ่ายของผมโดยธรรม โดยวินัยด้วยเถิด

       แล้วได้พวกภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็นเคยคบกันมา เป็นฝักฝ่าย

       และ ส่งทูตไปในสำนักภิกษุชาวชนบท ที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมาว่า

       อาวุโสทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องอาบัติ ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องถูกยก ผมต้องถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ ฐานะ ขอท่านทั้งหลายจงกรุณาเป็นฝักฝ่ายของผมโดยธรรม โดยวินัยด้วยเถิด

       แล้วได้ภิกษุพวกชาวชนบทที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา เป็นฝักฝ่าย 


       ครั้งนั้น ภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยก เข้าไปหาภิกษุพวกยกแล้ว ได้กล่าวคำนี้แก่ ภิกษุ พวกยกว่า 

       อาวุโสทั้งหลาย นั้นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้น ไม่ต้องอาบัติ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นไม่ต้องถูกยก ภิกษุรูปนั้นต้อง ถูกยกหามิได้ ภิกษุรูปนั้น ถูกยกด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ


       เมื่อภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุพวกยกได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกว่า 

       อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นต้องอาบัติ ไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นต้องถูกยก ไม่ต้องถูกยกหามิได้ ภิกษุนั้นถูกยกด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลายอย่าสนับสนุน อย่าตามห้อมล้อมภิกษุผู้ถูกยกนั้นเลย 


       เมื่อภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกเหล่านั้น อันภิกษุพวกยกว่ากล่าวอยู่แม้อย่างนี้ ก็ยังสนับสนุน ยังตามห้อมล้อมภิกษุผู้ถูกยกนั้นอย่างเดิมนั่นแหละ พระพุทธเจ้าข้า 



* * * ทรงประทานโอวาท 

       ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว จึงทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จเข้าไปทางภิกษุพวกยก ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย ครั้นพระองค์ประทับนั่งแล้ว ได้ตรัสประทานพระพุทโธวาทแก่ภิกษุพวกยกว่า 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าสำคัญภิกษุอันตนพึงยกเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยนึกว่าพวกเราเฉลียวฉลาด 


       733. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้วมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าพวกเธอรู้จักภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า

       ท่านผู้นี้แล เป็นพหูสูต … ผู้ใคร่ต่อสิกขา ถ้าพวกเราจักยกภิกษุรูปนี้ เพราะไม่เห็นอาบัติ จักทำอุโบสถร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องทำอุโบสถแยกจากภิกษุรูปนี้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายผู้เกรงแต่ความแตกนั้น ไม่พึงยกภิกษุนั้น เพราะไม่เห็นอาบัติ 


       734. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้วมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าพวกเธอรู้จักภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ว่า

       ท่านผู้นี้แลเป็นพหูสูต … ผู้ใคร่ต่อสิกขา ถ้าพวกเราจักยกภิกษุรูปนี้เพราะไม่เห็นอาบัติ จักปวารณาร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องปวารณาแยกจากภิกษุรูปนี้ จักทำสังฆกรรมร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องทำสังฆกรรมแยกภิกษุรูปนี้ จักนั่งบนอาสนะร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องนั่งบนอาสนะแยกจากภิกษุรูปนี้ จักนั่งในสถานที่ดื่มยาคูร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องนั่งในสถานที่ดื่มยาคูแยกจากภิกษุรูปนี้ จักนั่งในโรงภัตรร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องนั่งในโรงภัตรแยกจากภิกษุรูปนี้ จักอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียวกันร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียวกันแยกจากภิกษุรูปนี้
จักทำอภิวาทต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ตามลำดับ ผู้แก่พรรษาร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ตามลำดับ ผู้แก่พรรษาแยกจากภิกษุรูปนี้

       ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย ผู้เกรงแต่ความแตกกัน ไม่พึงยกภิกษุรูปนั้น เพราะไม่เห็นอาบัติ 


       735. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติแล้ว อย่าสำคัญอาบัติว่าไม่ต้องทำคืน ด้วยเข้าใจว่า พวกเราไม่ต้องอาบัติ 


       736. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าเธอรู้จักภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า

       ท่านเหล่านี้แลเป็นพหูสูต … ผู้ใคร่ต่อสิกขา คงจะไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ เพราะเหตุแห่งเรา หรือเพราะเหตุแห่งภิกษุเหล่าอื่น ถ้าภิกษุเหล่านี้จักยกเรา เพราะไม่เห็นอาบัติ พวกเธอจักทำอุโบสถร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องทำอุโบสถแยกจากเรา ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ ภิกษุผู้เกรงแต่ความแตกกัน พึงยอม แสดงอาบัตินั้นเสีย แม้ด้วยความเชื่อผู้อื่น 


       737. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าเธอรู้จักภิกษุเหล่านั้น อย่างนี้ว่า

       ท่านเหล่านี้แลเป็นพหูสูต … ผู้ใคร่ต่อสิกขา คงจะไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ เพราะเหตุแห่งเรา หรือเพราะเหตุแห่งภิกษุอื่น ถ้าภิกษุเหล่านี้ จักยกเราเพราะไม่เห็นอาบัติ จักปวารณาร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องปวารณาแยกจากเรา จักทำสังฆกรรมร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องทำสังฆกรรมแยกจากเรา จักนั่งเหนืออาสนะร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องนั่งเหนืออาสนะ แยกจากเรา จักนั่งในสถานที่ดื่มยาคูร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องนั่งในสถานที่ดื่มยาคูแยกจากเรา จักนั่งในโรงภัตรร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องนั่งในโรงภัตรแยกจากเรา จักอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียว ร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียวแยกจากเรา จักทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ตามลำดับผู้แก่พรรษากับเราไม่ได้ จักต้องทำอภิวาทต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ตามลำดับผู้แก่พรรษาเว้นจากเรา 

       ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ ภิกษุผู้เกรงแต่ความแตกกัน พึงยอมแสดงอาบัตินั้นเสีย แม้ด้วยความเชื่อผู้อื่น 


* * * แยกกันทำอุโบสถในสีมาเป็นต้น  


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 240 )  


       ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุพวกที่สนับสนุนผู้ถูกยก ทำอุโบสถทำสังฆกรรมภายในสีมานั้นเอง ส่วนภิกษุพวกยกไปทำอุโบสถ ทำสังฆกรรมนอกสีมา 

       กาลต่อมา ภิกษุผู้ยกรูปหนึ่ง เข้าไปพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกนั้น ทำอุโบสถ ทำสังฆกรรม ภายในสีมานั้นเอง ส่วนพวกข้าพระพุทธเจ้า เป็นภิกษุพวกยกต้องไปทำอุโบสถ ทำสังฆกรรมนอกสีมา พระพุทธเจ้าข้า 


       738. ดูกรภิกษุ ถ้าภิกษุพวกที่สนับสนุนผู้ถูกยกนั้น จักทำอุโบสถ ทำสังฆกรรม ภายในสีมานั้นเอง ถูกตามญัตติและอนุสาวนาที่เราบัญญัติไว้

       กรรมของพวกเธอนั้นเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ 

       ถ้าพวกเธอเป็นภิกษุพวกยกจักทำอุโบสถ ทำสังฆกรรม ภายในสีมานั้นเอง ถูกตามญัตติและอนุสาวนา ที่เราบัญญัติไว้

       แม้กรรมของพวกเธอนั้น ก็เป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ

       ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุพวกนั้นมีสังวาสต่างจากพวกเธอ และพวกเธอก็มีสังวาสต่างจากภิกษุพวกนั้น 



* * * นานาสังวาสภูมิ 2 อย่าง 

       ดูกรภิกษุ ภูมิของภิกษุนานาสังวาสนี้มี 2 อย่าง คือ

       ภิกษุทำตนเป็นนานาสังวาสด้วยตน 1

       สงฆ์พร้อมเพรียงกันยกภิกษุนั้น เพราะไม่เห็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป 1 

       ดูกรภิกษุ ภูมิของภิกษุนานาสังวาส 2 อย่างนี้แล 



* * * สมานสังวาสภูมิ 2 อย่าง 

       ดูกรภิกษุ ภูมิของภิกษุสมานสังวาสนี้มี 2 อย่าง คือ

       ภิกษุทำตนให้เป็นสมานสังวาสด้วยตน 1 

       สงฆ์พร้อมเพรียงกันรับภิกษุนั้นผู้ถูกยก เพราะไม่เห็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป เข้าหมู่ 1
 
       ดูกรภิกษุ ภูมิของภิกษุสมานสังวาส 2 อย่างนี้แล 



* * * เรื่องความบาดหมางกันเป็นต้น 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ :  241 )  


       ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะ ถึงการวิวาทกัน ย่อมแสดงกายกรรม วจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกัน ทำปรามาสกันด้วยมือ ในโรงภัตร ในละแวกบ้าน คนทั้งหลายเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทั้งหลาย จึงได้เกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะ ถึงการวิวาท แสดงกายกรรม วจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกัน ทำปรามาสกันด้วยมือ ในโรงภัตร ในละแวกบ้านเล่า

       ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย … ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลาย จึงได้เกิดความบาดหมาง … ทำปรามาสกันด้วยมือ ในโรงภัตร ในละแวกบ้านเล่า … ตรัสว่า 



( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ :  241 )  


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุทั้งหลายเกิดความบาดหมาง … ทำปรามาสกันด้วยมือ ในโรงภัตร ในละแวกบ้าน จริงหรือ 


       จริง พระพุทธเจ้าข้า 


       739.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว แต่ยังทำกิจอันเป็นธรรม เมื่อถ้อยคำไม่ชวนให้ชื่นชมต่อกันเป็นไปอยู่ พวกเธอพึงนั่งเหนืออาสนะ โดยนึกในใจว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พวกเราจักไม่แสดงกายกรรม วจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกัน จักไม่ทำปรามาสกันด้วยมือ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์แตกกันแล้วแต่ยังทำกิจที่เป็นธรรม เมื่อถ้อยคำอันชวนให้ชื่นชมต่อกันเป็นไปอยู่ พวกเธอพึงนั่งในแถวมีอาสนะอันหนึ่งคั่นในระหว่าง



* * * พระสารีบุตรเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 252 )  


       ท่านพระสารีบุตรได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวพระนครโกสัมพี ผู้ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพระพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวพระนครโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาพระนครสาวัตถี ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติในภิกษุ เหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า


       สารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงดำรงอยู่ตามธรรม


       ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงทราบธรรมหรือธรรมอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า 



* * * วัตถุสำหรับอธรรมวาที 18 ประการ  

       740. สารีบุตร เธอพึงทราบอธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ 18 ประการ คือ

       ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 

       1. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรม 

       2. แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม 

       3. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัย ว่าเป็นวินัย 

       4. แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย 

       5. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ ว่าพระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ 

       6. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ 

       7. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมา 

       8. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตทรงประพฤติมาแล้ว ว่าพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา 

       9. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าอันพระตถาคตทรงบัญญัติไว้ 

       10. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ 

       11. แสดงสิ่งที่มิใช่อาบัติ ว่าเป็นอาบัติ 

       12. แสดงอาบัติ ว่าเป็นสิ่งมิใช่อาบัติ 

       13. แสดงอาบัติเบา ว่าเป็นอาบัติหนัก 

       14. แสดงอาบัติหนัก ว่าเป็นอาบัติเบา 

       15. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ 

       16. แสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ว่าเป็นอาบัติมีส่วนเหลือ 

       17. แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ  

       18.แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ 

       สารีบุตร เธอพึงทราบอธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ 18 ประการนี้แล 



* * * วัตถุสำหรับธรรมวาที 18 ประการ   

       741. สารีบุตร และพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ 18 ประการ คือ 

       ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 

       1. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม 

       2. แสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าเป็นธรรม 

       3. แสดงสิ่งที่ไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย 

       4. แสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าเป็นวินัย 

       5. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้ 

       6. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ว่า พระตถาคตทรงภาษิตไว้ ตรัสไว้ 

       7. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตมิได้ทรงประพฤติมา 

       8. แสดงมรรยาทอันพระตถาคตทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมา 

       9. แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ 

       10. แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้ ว่าพระตถาคตทรงบัญญัติไว้ 

       11. แสดงสิ่งมิใช่อาบัติ ว่าเป็นสิ่งมิใช่อาบัติ 

       12. แสดงอาบัติ ว่าเป็นอาบัติ 

       13. แสดงอาบัติเบา ว่าเป็นอาบัติเบา 

       14. แสดงอาบัติหนัก ว่าเป็นอาบัติหนัก 

       15. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือ ว่าเป็นอาบัติมีส่วนเหลือ 

       16. แสดงอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ ว่าเป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้ 

       17. แสดงอาบัติชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ 

       18. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบ ว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ 

       สารีบุตร เธอพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ 18 ประการนี้แล 



* * * พระเถรานุเถระเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 253 )  


       ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้สดับข่าว …  

       ท่านพระมหากัสสปะได้สดับข่าว …  

       ท่านพระมหากัจจนะได้สดับข่าว …  

       ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้สดับข่าว …  

       ท่านพระมหากัปปินะได้สดับข่าว …  

       ท่านพระมหาจุนทะได้สดับข่าว …  

       ท่านพระอนุรุทธะได้สดับข่าว …  

       ท่านพระเรวตะได้สดับข่าว … 

       ท่านพระอุบาลีได้สดับข่าว … 

       ท่านพระอานนท์ได้สดับข่าว … 

       ท่านพระราหุลได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระราหุล นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัติแด่พระผู้มีพระภาคว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า 


       ราหุล ถ้าเช่นนั้น เธอจงดำรงอยู่ตามธรรม 


       ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงทราบธรรมหรืออธรรมอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า  


       ราหุล เธอพึงทราบ อธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ 18 ประการ … 

       ราหุล เธอพึงทราบอธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ 18 ประการนี้แล 

       ราหุล และพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ 18 ประการ … 

       ราหุล เธอพึงทราบธรรมวาทีภิกษุ ด้วยวัตถุ 18 ประการนี้แล 



* * * พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 254 )  


       พระเถรีมหาปชาบดีโคตมี ได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว  ได้ยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเถรีมหาปชาบดีโคตมียืนเฝ้าเรียบร้อยแล้ว ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมางก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี หม่อมฉัน จะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า 


       โคตมี ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟังธรรมในภิกษุสองฝ่าย ครั้นฟังธรรม ในสองฝ่ายแล้ว ภิกษุเหล่าใดในสองฝ่ายนั้นเป็นธรรมวาที เธอจงพอใจความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ และความเชื่อถือ ของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น

       อนึ่ง วัตรอย่างหนึ่งอย่างใดอันภิกษุณีสงฆ์พึงหวังแต่ภิกษุสงฆ์ วัตรนั้นทั้งหมด อันเธอพึงหวังแต่ธรรมวาทีภิกษุฝ่ายเดียว 



* * * อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 255 )  


       อนาถบิณฑิกคหบดีได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค  นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อนาถบิณฑิกคหบดีนั่งเฝ้าเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ได้ยินข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี ข้าพระพุทธเจ้า จะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า 


       คหบดี ถ้ากระนั้น ท่านจงถวายทานในภิกษุสองฝ่าย ครั้นถวายทานในภิกษุสองฝ่ายแล้ว จงฟังธรรมในสองฝ่าย ครั้นฟังธรรมในสองฝ่ายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ในสองฝ่ายนั้น เป็นธรรมวาที ท่านจงพอใจในความเห็น ความถูกใจ ความชอบใจ และความเชื่อถือของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น 



* * * นางวิสาขามิคารมาตาเข้าเฝ้าทูลถามข้อปฏิบัติ 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 256 )  


       นางวิสาขามิคารมาตาได้สดับข่าวว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี จึงเข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค  นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นางวิสาขามิคารมาตานั่งเฝ้าเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ เหล่านั้น พากันมาสู่พระนครสาวัตถี หม่อมฉันจะปฏิบัติในภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า 


       วิสาขา ถ้ากระนั้น เธอจงถวายทานในภิกษุสองฝ่าย ครั้นถวายทานในสองฝ่ายแล้ว จงฟังธรรมในสองฝ่าย ครั้นฟังธรรมในสองฝ่ายแล้ว ภิกษุเหล่าใดในสองฝ่ายนั้นเป็นธรรมวาที เธอจงพอใจในความเห็น ความถูกใจ ความชอบ และความเชื่อถือของภิกษุฝ่ายธรรมวาทีนั้น 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 257 )  


       ครั้งนั้น พวกชาวเมืองโกสัมพี ได้ไปถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ จึงท่านพระสารีบุตรเข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามข้อปฏิบัตินี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ได้ข่าวมาว่า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น พากันมาถึงพระนครสาวัตถีแล้วโดยลำดับ ข้าพระพุทธเจ้า จะพึงจัดเสนาสนะ สำหรับภิกษุเหล่านั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า  


       สารีบุตร ถ้ากระนั้น เธอพึงให้เสนาสนะที่ว่าง 


       ก็ถ้าเสนาสนะว่างไม่มี จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า 


       742. สารีบุตร ถ้ากระนั้น พึงทำเสนาสนะให้ว่างแล้วให้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า พึงห้ามเสนาสนะแก่ภิกษุผู้แก่พรรษา โดยปริยายอะไรๆ หามิได้เลย

       รูปใดห้าม ต้องอาบัติทุกกฎ 


       ในอามิสเล่า จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า 


       743. สารีบุตร พึงแบ่งอามิสให้ภิกษุทั้งหมดเท่าๆ กัน 



* * * รับภิกษุผู้ถูกยกเข้าหมู่ 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 258 )  


       ครั้งนั้น ภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้น พิจารณาถึงธรรมและวินัยอยู่ ได้สำนึกข้อนี้ว่า นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติหามิได้ เราเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ เราเป็นผู้ถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ

       ครั้นแล้วเข้าไปหาภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยก แล้วได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุพวกนั้นว่า

       อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ มาเถิดท่านทั้งหลาย ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด ขอรับ 


       ลำดับนั้น ภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น พาภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้น เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ถูกยกรูปนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่เป็นผู้ต้องอาบัติหามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้ว ไม่เป็นผู้ถูกยกหามิได้ ผมเป็นผู้ถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ มาเถิด ท่านทั้งหลาย ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด ขอรับ ดังนี้

       พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า 



       744. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุนั่นต้องอาบัติแล้ว ภิกษุนั่นไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั่นถูกยกแล้ว
ภิกษุนั่นไม่ถูกยกหามิได้ ภิกษุนั่นถูกยกแล้วด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ เพราะภิกษุนั้นต้องอาบัติ ถูกยกแล้ว และเห็นอาบัติ ฉะนั้น พวกเธอจงรับภิกษุนั้นเข้าหมู่


       จึงภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น รับภิกษุผู้ถูกยกรูปนั้นเข้าหมู่แล้ว เข้าไปหาภิกษุพวกยกถึงที่อยู่ ได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุพวกยกว่า อาวุโสทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้วเพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้น ต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้วเห็นอาบัติ และสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น 

       จึงภิกษุพวกยกเหล่านั้น เข้าไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุพวกที่สนับสนุนภิกษุผู้ถูกยกเหล่านั้น กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง การวิวาทแห่งสงฆ์ ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การถือต่างกันแห่งสงฆ์ การทำต่างกันแห่งสงฆ์ ได้มีแล้ว เพราะเรื่องใด ภิกษุนั่นนั้นต้องอาบัติแล้ว ถูกยกแล้ว เห็นอาบัติแล้ว และสงฆ์รับเข้าหมู่แล้ว เอาละ พวกเราจะทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น ดังนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ พระพุทธเจ้าข้า 


* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 2 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 5 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 6 : โกสัมพิขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : โกสัมพิขันธกะ



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 564 , 565 , 566 , 567 , 568 , 569 , 570 , 571 , 572 , 573 , 574 , 575 , 576 , 577 



- จบ -