คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ขุททกวัตถุขันธกะ : องค์แห่งการคว่ำบาตร
เรื่อง ขุททกวัตถุขันธกะ : องค์แห่งการคว่ำบาตร
องค์แห่งการคว่ำบาตร
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 113 )
199. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ 8 คือ
1. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
2. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย
3. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
4. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย
5. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
6. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
7. กล่าวติเตียนพระธรรม
8. กล่าวติเตียนพระสงฆ์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ 8 นี้
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 114 )
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
* * * กรรมวาจาคว่ำบาตร
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
เจ้าวัฑฒะลิจฉวี โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้วสงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับสงฆ์
นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
เจ้าวัฑฒะลิจฉวี โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล
สงฆ์คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์
การคว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
บาตรอันสงฆ์คว่ำแล้วแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ไม่ให้คบกับสงฆ์ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 115 )
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครอง อันตรวาสก ///// แล้วถือบาตรจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า
ท่านวัฑฒะสงฆ์คว่ำบาตรแก่ท่านแล้ว ท่านคบกับสงฆ์ไม่ได้
พอเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ทราบข่าวว่าสงฆ์คว่ำบาตรแก่เราแล้ว เราคบกับสงฆ์ไม่ได้แล้ว ก็สลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง
ขณะนั้น มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ได้กล่าวคำนี้กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า ไม่ควร ท่านวัฑฒะ อย่าเศร้าโศก อย่าครำครวญไปนักเลย พวกเราจักให้พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์เลื่อมใส
จึงเจ้าวัฑฒะลิจฉวีพร้อมด้วย บุตรภรรยา พร้อมด้วยมิตรอำมาตย์ พร้อมด้วยญาติสาโลหิต มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศรีษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า โทษได้มาถึงหม่อมฉันแล้ว ตามความโง่ ตามความเขลา ตามอกุศล ขอพระองค์ทรงพระกรุณารับโทษของหม่อมฉันที่ได้โจทพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษเพื่อความสำรวมต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า
เชิญเถิด เจ้าวัฑฒะ โทษได้มาถึงท่านแล้ว ตามความโง่ ตามความเขลา ตามอกุศล ท่านได้เห็นโทษที่ได้โจททัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราขอรับโทษนั้นของท่าน การที่ท่านเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 116 )
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นสงฆ์จงหงายบาตร แก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ จุลวรรค ภาค 2 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 7 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : ขุททกวัตถุขันธกะ / หัวข้อย่อยรองลงมา : ขุททกวัตถุขันธกะ : องค์แห่งการคว่ำบาตร
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 831 , 832
- จบ -