วัจจกุฎี
วจฺจกุฏิ แปลเป็นภาษาไทยได้ดังนี้
วัจ- , วัจจะ แปลว่า อุจจาระ
กุฏี แปลว่า ที่อยู่ของนักบวช เช่น พระภิกษุ
วัจจกุฏ จึงแปลว่า ที่ถ่ายอุจจาระ , ส้วม ใช้สำหรับบรรพชิต
พื้นที่ในเขตศาสนสถานทั่วไป สามารถแบ่งออกได้ 2 พื้นที่ ได้แก่
1. เขตพุทธาวาส เป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ประทับของพระพุทธเจ้า ปรากฏสถาปัตยกรรมสำคัญ เช่น เจดีย์ วิหาร อุโบสถ
2. เขตสังฆาวาส เป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมทางศาสนาโดยตรง ซึ่งมีอาคารที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและวัตรปฏิบัติของสงฆ์ เช่น กุฏิ ศาลาการเปรียญ วัจจกุฎี ห้องสรงน้ำ เป็นต้น
“วัจจกุฎี” เป็นอาคารสำหรับขับถ่ายหรือห้องส้วมสำหรับพระสงฆ์ในสมัยโบราณ โดยปรากฏในพระวินัยปิฎก จุลวรรค มีเนื้อความที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดเกี่ยวกับที่สำหรับขับถ่ายไว้ดังนี้ เรื่องปัสสาวะ ทรงอนุญาตให้ถ่ายในที่ที่จัดไว้ ทรงอนุญาตหม้อปัสสาวะ เขียงรองเท้าถ่ายปัสสาวะ ทรงอนุญาตเครื่องล้อม ๓ ชนิด และฝาปิดหม้อปัสสาวะ ส่วนเรื่องอุจจาระ ทรงอนุญาตให้ถ่ายในที่ที่จัดไว้ ให้มีหลุมอุจจาระ อนุญาตก่อพื้นยกสูง มีบันไดและราวบันได ให้ลาดพื้นเจาะช่องตรงกลางหลุม ทรงอนุญาตเขียงรองเท้าถ่ายอุจจาระ ทรงอนุญาตรางรองปัสสาวะ ไม้ชำระ และฝาปิดหลุมอุจจาระ และทรงมีพุทธานุญาตในการสร้างวัจจกุฎีด้วย นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังทรงกำหนด “วัจจกุฎีวัตร” หรือท่าทางปฏิบัติในการใช้วัจจกุฎีของพระสงฆ์ให้มีความเรียบร้อย
ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://www.finearts.go.th/kamphaengphethistoricalpark/view/22729-วัจจกุฎี
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
การถ่ายทุกข์ ( วัจจกุฎีวัตร )
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุถ่ายอุจจาระแล้ว เมื่อน้ำมีอยู่ จะไม่ชำระไม่ได้ รูปใดไม่ชำระ ต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงถ่ายอุจจาระในวัจจกุฎีตามลำดับผู้แก่กว่า รูปใดถ่ายต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถ่ายอุจจาระตามลำดับของผู้มาถึง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดไปวัจจกุฎี ภิกษุนั้นยืนอยู่ข้างนอก พึงกระแอมขึ้น แม้ภิกษุผู้นั่งอยู่ข้างใน ก็พึงกระแอมรับ พึงพาดจีวรไว้บนราวจีวร หรือบนสายระเดียง แล้วเข้าวัจจกุฎี ทำให้เรียบร้อย ไม่ต้องรีบร้อน ไม่พึงเข้าไปเร็วนัก ไม่พึงเวิกผ้าเข้าไป
ยืนบนเขียงถ่ายอุจจาระ แล้วจึงค่อยเวิกผ้า ไม่พึงถอนหายใจใหญ่พลางถ่ายอุจจาระ
ไม่พึงเคี้ยวไม้ชำระฟันพลางถ่ายอุจจาระ
ไม่พึงถ่ายอุจจาระนอกรางอุจจาระ ไม่พึงถ่ายปัสสาวะนอกรางปัสสาวะ
ไม่พึงบ้วนเขฬะลงในรางปัสสาวะ
ไม่พึงชำระด้วยไม้หยาบ
ไม่พึงทิ้งไม้ชำระลงในช่องถ่ายอุจจาระ
ยืนบนเขียงถ่ายแล้วพึงปิดผ้า
ไม่พึงออกมาเร็วนัก ไม่พึงเวิกผ้าออกมา
ยืนบนเขียงชำระ แล้วพึงเวิกผ้า
ไม่พึงชำระให้มีเสียงดังจะปุจะปุ
ไม่พึงเหลือน้ำไว้ในกระบอกชำระ
ยืนบนเขียงชำระ แล้วพึงปิดผ้า
ถ้าวัจจกุฎีอันภิกษุถ่ายไว้เลอะเทอะ ต้องล้างเสีย
ถ้าตะกร้าใส่ไม้ชำระเต็ม พึงเทไม้ชำระ
ถ้าวัจจกุฎีรก พึงกวาดวัจจกุฎี
ถ้าชานภายนอก บริเวณ ซุ้มประตูรก พึงกวาดเสีย
ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำมาไว้ในหม้อชำระ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นวัจจกุฎีวัตร ซึ่งภิกษุทั้งหลายพึงประพฤติเรียบร้อย
( 7/434 - 437/158-160 )
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
วัจจกุฏิวัตร ( วัตรเกี่ยวกับส้วม )
ก่อนที่จะทรงบัญญัติข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวัจจกุฏิ ทรงบัญญัติให้ภิกษุผู้ถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วใช้น้ำชำระ ถ้าไม่ชำระ ต้องอาบัติทุกกฏ และทรงอนุญาตให้เข้าสู่วัจจกุฏิตามลำดับที่ไปก่อนหลัง ( ไม่ต้องคอยตามลำดับ พรรษา ซึ่งภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่าเดือดร้อน ) และทรงปรารภความไม่เรียบร้อยในการเข้า การใช้วัจจกุฏิของภิกษุเบญจวัคคีย์ จึงทรงบัญญัติข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวัจจกุฏิ ดังต่อไปนี้ -
ภิกษุผู้ไปสู่วัจจกุฏิ พึงยืนอยู่ข้างนอก ทำเสียงกระแอม ถ้ามีภิกษุอยู่ข้างใน พึงกระแอมรับ จึงพาดจีวรไว้ที่ห่วงสำหรับแขวนหรือราวสำหรับพาด พึงเข้าไปด้วยดี ไม่รีบด่วน ไม่พึงเลิกผ้าเข้าไป ต่อเมื่อยืนบนเขียงรองเหยียบแล้วจึงเลิกผ้า , ไม่พึงเบ่งถ่าย , ไม่พึงเคี้ยวไม้สีฟันขณะถ่าย , ไม่พึงถ่ายนอกหลุมอุจจาระนอกรางปัสสาวะ ไม่พึงบ้วนน้ำลายลงในรางปัสสาวะ ไม่พึงใช้ไม้ชำระที่หยาบ ( คมแข็ง ) ไม่พึงทิ้งไม้ชำระลงในหลุมถ่าย เมื่อยืนบนเขียงรองเหยียบแล้ว พึงปกปิด ( ดึงผ้านุ่งลงไปปกปิด ) ไม่ถึงออกโดยรีบร้อน ไม่พึงเลิกผ้าออกมา
( เมื่อจะชำระ ) ยืนอยู่บนเขียงรองเหยียบสำหรับชำระแล้วจึงเลิกผ้า ไม่พึงชำระให้มีเสียงดัง
ไม่พึงเหลือน้ำไว้ในขันชำระ เมื่อยืนบนเขียงสำหรับเหยียบแล้ว ถึงปกปิด ( แสดงว่าที่ถ่ายกับที่ชำระอยู่แยกกันแต่ใก้ลกัน)
ถ้าวัจจกุฏิเปื้อน พึงล้างเสีย ถ้าไม่ทิ้งไม้ชำระเต็ม พึงนำไม้ชำระไปทิ้ง
ถ้าวัจจกุฏิรก พึงปัดกวาด ถ้าชานภายนอก , บริเวณ , ซุ้ม รก ก็พึงปัดกวาด ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี ก็พึงตักน้ำใส่
- จบ -