Monday, May 16, 2022

จามรี-แส้จามรี

 

จามรี-แส้จามรี


       แส้จามรี - แส้ที่ทำด้วยขนหางจามรี เป็น 1 ในเครื่องเบญจกกุธภัณฑ์ 

       กกุธภัณฑ์  ( กะกุดทะ-) น. สัญลักษณ์สำคัญแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ คือ

       1. พระมหาพิชัยมงกุฎ 

       2. พระแสงขรรค์ชัยศรี  

       3. ธารพระกรชัยพฤกษ์ 

       4. วาลวีชนี ( พัดกับแส้ ) 

       5. ฉลองพระบาท 

       รวมเรียกว่าเบญจราชกกุธภัณฑ์ 


       ทั้งนี้ บางสมัยใช้เครื่องราชกกุธภัณฑ์แตกต่างกัน เช่น ใช้ฉัตรแทนพระมหาพิชัยมงกุฎ ( ป. กกุธ ว่า เครื่องหมายความเป็นพระราชา + ภณฺฑ ว่า ของใช้; ระบุไว้ในอภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ ๓๕๘ ว่า พระขรรค์ ฉัตร อุณหิส ฉลองพระบาท วาลวีชนี คือ มีฉัตรแทนธารพระกร ; ในจดหมายเหตุบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 2 มีทั้งฉัตรและธารพระกร พระแสงขรรค์ พระแสงดาบ วาลวีชนี พระมหาพิชัยมงกุฎ และฉลองพระบาท รวมเป็น 7 สิ่ง

       วาลวีชนี ที่ปรากฏวัตถุเป็นพัดกับแส้จามรีนั้น แต่ก่อนเป็นพัดใบตาลอย่างที่เรียกว่า พัชนีฝักมะขาม ต่อมาท่านเห็นควรเป็นแส้จามรีจะถูกกว่า เพราะศัพท์ว่าวาลวีชนี หมายความเป็นแส้ขนโคชนิดหนึ่ง จึงสร้างแส้จามรีขึ้น แต่ก็ไม่อาจเลิกพัดใบตาลของเก่า เป็นอันรวมไว้ทั้ง 2 อย่างในเครื่องที่เรียกว่า วาลวีชนี ) 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       พัดวาลวิชนี และ พระแส้หางจามรี เป็นเครื่องใช้ประจำองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในห้าของเบญจราชกกุธภัณฑ์ 

       พระแส้หางจามรีมีที่มาจากคำว่า "จามร" ซึ่งเป็นแส้ทำด้วยขนหางจามรี ส่วนวาลวิชนี เดิมนั้นคือพัดใบตาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ชื่อ วาลวิชนี นั้น คำว่า"วาล" เป็นขนโคชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า "จามรี" จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้น มีด้ามเป็นแก้ว

       ต่อมา ได้เปลี่ยนขนจามรีเป็นขนหางช้างเผือกแทน และใช้คู่กันกับพัดวาลวิชนี ซึ่งประดิษฐ์จากใบตาล ด้ามและลวดลายประกอบทำด้วยทองลงยา   



- จบ -