สันถัดขนเจียมหล่อ
ถาม : ขนเจียมคืออะไรครับ ?
ตอบ : ขนเจียมก็คือขนสัตว์ แต่เป็นขนสัตว์ที่เป็นเส้น ๆ ไม่ใช่ขนที่ติดกับหนัง เขาจะกร้อนมาอย่างที่เราตัดผมเลย
คำว่า "หล่อสันถัดด้วยขนเจียม" ในพระวินัย คือ ทำที่นั่งด้วยขนสัตว์ แต่ที่เขาเรียกว่าหล่อก็เพราะว่า สมัยก่อนนี่เขาหล่อจริง ๆ เขาจะทำเป็นกะบะขึ้นมา เอากาวทาลงไปแล้วก็เอาขนสัตว์โรยให้ทั่ว ลงกาวอีกชั้นหนึ่งแล้วก็ขนสัตว์โรยให้ทั่ว ไล่ไปแบบนี้เรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ที่นั่งหนาตามความต้องการ ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วก็ลอกออกมาทั้งผืน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สันถัต ได้แก่ ผ้ารองนั่งที่เขาหล่อ ไม่ใช่ทอ
เอาละซีครับพระคุณท่าน ขนเจียมเป็นอย่างไรล่ะนั่น ผมอ่านอรรถกถาจารย์อธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ เครื่องปูนั่งทำด้วยขนก็เข้าประเภทสิ่งทอ แล้วไหง๋ถึงผลิตด้วยการหล่อ ซึ่งแปลว่าทำให้ของเหลวเป็นของแข็งในรูปทรงที่กำหนดแม่แบบบังคับ ขนเจียมหมายถึงกรรมวิธีผลิตขน ( คล้ายๆคำว่าขนัก ขนทอ ) หรือแปลว่าขนของตัวที่ชื่อเจียม ผมก็ไม่เคยทราบ
ต้องตามไปอ่านภาคภาษาอังกฤษที่ฝรั่งแปลจากบาลี เขาใช้คำว่าfelt blanket/rug entirely of black wool ขะรับ เลยพอจะเข้าใจ
felt คือผ้าสักหลาด ( อ่านว่าสัก-กะ-หลาด ) ซึ่งคนอินเดียผลิตมานานจนมีความชำนาญ ทำจากขนสัตว์ โดยนำขนสัตว์มาโปรยลงบนแท่น แล้วกระแทกด้วยแผ่นที่มีตะปูปลายแหลมมีเงี่ยงคล้ายเบ็ดถี่ยิบขึ้นๆลงๆซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนขนสัตว์ขึ้นมาพันกันเป็นผืน ในลักษณะคล้ายๆกับทอเข้าด้วยกัน แต่ไม่ใช่ การทอจะมีลวดลายเป็นระเบียบกว่า ท่านที่มีผ้าสักหลาดลองเอาแว่นขยายส่องดู จะเห็นขนสัตว์ที่ประสานกันเป็นเนื้อเดียวอย่างไม่มีระเบียบ ผิดกับผ้าทั่วไป ภาษาไทยไม่มีบัญญัติศัพท์นี้ ท่านจึงไปใช้ว่าหล่อ
อ่ะ คราวนี้ตัวเจียมคือตัวอะไร ผมก็ตามรอย black wool ของอินเดียไป เจอเจ้าตัวนี้ออกมาเต็มหน้าจอ เขาเรียกว่าตัวyak ไทยเราเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจามรี ปกติจะมีขนสีขาว แต่สีดำก็มี และเป็นของหายาก ขนจามรีดำจึงมีราคาแพง
ก็ยังตอบไม่ได้อยู่ดีว่า เจียมหมายถึงจามรี หรือต้องกล่าวว่าขนเจียม เพราะแปลว่าผ้าสักหลาดที่ส่วนใหญ่ทำจากขนแกะหรือแพะ
แต่เอาเป็นว่าท่านคงเข้าใจแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็ขอคงศัพท์เดิมไว้ก็แล้วกัน
ภิกษุฉัพพัคคีย์หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน คนทั้งหลายติเตียนว่า ใช้ของอย่างคฤหัสถ์ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามหล่อเองหรือใช้ให้หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ผู้ล่วงละเมิด
- จบ -