Wednesday, February 2, 2022

ปฏิสารณียกรรม ที่ 4

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ปฏิสารณียกรรม ที่ 4
 



ปฏิสารณียกรรม ที่ 4 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

พระสุธรรมกับจิตตะคหบดี 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 130 )  


       …จิตตะคหบดีได้ทราบข่าวแน่ถนัดว่า พระเถระหลายรูปมาถึงเมืองมัจฉิกาสณฑ์แล้ว โดยลำดับ จึงเข้าไปในสำนักของพระเถระ ครั้นแล้วจึงอภิวาทพระเถระทั้งหลายแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

       ท่านพระสารีบุตรได้ชี้แจงให้จิตตะคหบดีผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา

       ครั้นจิตตะคหบดีอันท่านพระสารีบุตรชี้แจง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กล่าวคำอาราธนานี้แก่พระเถระทั้งหลายว่า

       ขอพระเถระทั้งหลายจงกรุณารับอาคันตุกะภัตรของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด เจ้าข้า

       พระเถระทั้งนั้นรับอาราธนาด้วยอาการดุษณีภาพ 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 131 )  


       ครั้นจิตตะคหบดี ทราบการรับอาราธนาของพระเถระทั้งหลายแล้ว ลุกจากที่นั่ง ไหว้พระเถระทั้งหลาย ทำประทักษิณแล้วเข้าไปหาท่านพระสุธรรมถึงสำนัก นมัสการแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบเรียนอาราธนาท่านพระสุธรรม ดังนี้ว่า

       ขอพระคุณเจ้าสุธรรม จงกรุณารับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลปีติและปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ พร้อมกับพระเถระทั้งหลายด้วยเถิด เจ้าข้า

       ที่นั้น ท่านพระสุธรรมคิดว่า ครั้งก่อนๆ จิตตะคหบดีนี้ประสงค์จะนิมนต์สงฆ์ คณะ หรือ บุคคล คราวใด จะไม่บอกเราก่อนแล้วนิมนต์สงฆ์ คณะ หรือ บุคคลไม่เคยมี  แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่บอกเราก่อน แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลาย เดี๋ยวนี้จิตตะคหบดีนี้ ลบหลู่เมินเฉย ไม่ยินดีในเราเสียแล้ว จึงได้กล่าวคำนี้แก่จิตตะคหบดีว่า

       อย่าเลย คหบดี อาตมาไม่รับนิมนต์

       จิตตะคหบดี ได้กราบเรียนอาราธนาท่านพระสุธรรมเป็นคำรบสอง …

       ท่านพระสุธรรมตอบปฏิเสธเป็นคำรบสอง

       จิตตะคหบดี ได้กราบเรียนอาราธนาท่านพระสุธรรมเป็นคำรบสาม … 

       ท่านพระสุธรรมตอบปฏิเสธเป็นคำรบสาม 

       ทีนั้น จิตตะคหบดีคิดว่า จักทำอะไรแก่เรา เมื่อพระคุณเจ้าสุธรรมรับนิมนต์ หรือไม่รับนิมนต์ แล้วไหว้ท่านพระสุธรรมทำประทักษิณกลับไป 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 132 )  


       ครั้งนั้น จิตตะคหบดีสั่งให้ตกแต่ง ขาทนียโภชนียาหาร /////  อันประณีตถวายพระเถระทั้งหลายโดยผ่านราตรีนั้น จึงท่านพระสุธรรมคิดว่า ถ้ากระไร เราพึงตรวจดู ขาทนียโภชนียาหาร ที่จิตตะคหบดีตกแต่งถวายพระเถระทั้งหลาย ครั้นถึงเวลาเช้า นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปสู่นิเวศน์ของจิตตะคหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ทีนั้น จิตตะคหบดีเข้าไปหาท่านพระสุธรรม นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระสุธรรมได้กล่าวคำนี้แก่จิตตะคหบดี ผู้นั่งเรียบร้อยแล้วว่า

       ท่านคหบดี ขาทนียโภชนียาหารนี้ ท่านตกแต่งไว้มากนัก แต่ของสิ่งหนึ่ง ที่เขาเรียกว่า ขนมแดกงา ไม่มีในจำนวนนี้

       จิตตะคหบดีกล่าวความตำหนิว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อพระพุทธพจน์มากมายมีอยู่ แต่พระคุณเจ้าสุธรรมมากล่าวว่า ขนมแดกงา ซึ่งเป็นคำเล็กน้อย ท่านเจ้าข้า เรื่องเคยมีมาแล้ว พ่อค้าชาวทักษิณาบถ ได้ไปสู่ชนบทแถบตะวันออก พวกเขานำแม่ไก่มาแต่ที่นั้น ต่อมาแม่ไก่นั้นสมสู่อยู่ด้วยพ่อกา ก็ออกลูกมา คราวใด ลูกไก่นั้นปรารถนาจะร้องอย่างกา คราวนั้นย่อมร้องเสียงการะคนไก่ คราวใด ปรารถนาจะขันอย่างไก่ คราวนั้นย่อมขันเสียงไก่ระคนกา ฉันใด เมื่อพระพุทธพจน์ มากมายมีอยู่ พระคุณเจ้าสุธรรมมากล่าวว่า ขนมแดกงาซึ่งเป็น คำเล็กน้อย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน 

       คหบดี ท่านด่าอาตมา คหบดี ท่านบริภาษอาตมา คหบดี นั่น อาวาสของท่าน อาตมาจักหลีกไปจากอาวาสนั้น

       ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ามิได้ด่า มิได้บริภาษพระคุณเจ้าสุธรรม ขออาราธนาพระคุณเจ้าสุธรรมจงอยู่ในวิหารอัมพาฏกวัน อันเป็นสถานรื่นรมย์ เขตเมืองมัจฉิกาสณฑ์ ข้าพเจ้าจักทำการขวนขวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แก่พระคุณเจ้าสุธรรม 

       ท่านพระสุธรรม ได้กล่าวคำนี้แก่จิตตะคหบดีเป็นคำรบสอง … 

       จิตตะคหบดี กล่าวตอบเป็นคำรบสอง …

       ท่านพระสุธรรม ได้กล่าวคำนี้แก่จิตตะคหบดีเป็นคำรบสามว่า คหบดี ท่านด่าอาตมา คหบดี ท่านบริภาษอาตมา คหบดี นั่นอาวาสของท่าน อาตมาจักหลีกไปจากอาวาสนั้น

       พระคุณเจ้าสุธรรมจักไปที่ไหน เจ้าข้า 

       คหบดี อาตมาจักไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค

       ท่านเจ้าข้า ถ้าเช่นนั้น ถ้อยคำอันใดที่พระคุณเจ้าได้กล่าวแล้ว และถ้อยคำอันใดที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว ขอท่านจงกราบทูลถ้อยคำอันนั้นทั้งมวลแด่พระผู้มีพระภาค  แต่ข้อที่พระคุณเจ้าสุธรรมจะพึงกลับมาเมืองมัจฉิกาสณฑ์อีก นั้นไม่อัศจรรย์เลย เจ้าข้า 



* * * พระสุธรรมเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 133 )  


       ครั้งนั้น ท่านพระสุธรรมเก็บเสนาสนะแล้ว ถือบาตรจีวรเดินไปทางพระนครสาวัตถี ถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกคหบดี โดยลำดับ  เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วกราบทูลถ้อยคำที่ตนกับคหบดีโต้ตอบกัน ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบทุกประการ 



* * * ทรงติเตียน


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 134 )  


       พระผู้มีพระภาคทรงติเตียน … รับสั่งว่า 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงทำ ปฏิสารณียกรรม /////  แก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี 


วิธีทำ ปฏิสารณียกรรม 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล วิธีทำ ปฏิสารณียกรรม พึงทำอย่างนี้ 

       พึงโจทภิกษุสุธรรมก่อน ครั้นแล้วพึงให้เธอให้การ แล้วพึงปรับอาบัติ ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ จตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้ 


* * * กรรมวาจาทำปฏิสารณียกรรม

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ภิกษุสุธรรมนี้ พูดกด พูดข่ม จิตตะคหบดี ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นทายก กัปปิยการก ผู้บำรุงสงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันเลว

       ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำ ปฏิสารณียกรรม แก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี 

       นี้เป็นบัญญัติ 


       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ภิกษุสุธรรมนี้ พูดกด พูดข่ม จิตตะคหบดี ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นทายก กัปปิยการก ผู้บำรุงสงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันเลว สงฆ์ทำ ปฏิสารณียกรรม แก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมา จิตตะคหบดี 

       การทำ ปฏิสารณียกรรม แก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมา จิตตะคหบดี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด 

       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง … 


       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม 

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ภิกษุสุธรรมนี้ พูดกด พูดข่ม จิตตะคหบดี ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นทายก กับปิยการก ผู้บำรุงสงฆ์ ด้วยถ้อยคำอันเลว

       สงฆ์ทำ ปฏิสารณียกรรม แก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี

       การทำ ปฏิสารณียกรรม แก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

       ปฏิสารณียกรรม อันสงฆ์ทำแล้วแก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมา จิตตะคหบดี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง

       ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ 



* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ จุลวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 6 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : กัมมขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ปฏิสารณียกรรม ที่ 4 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 632 , 633 , 634 , 635



- จบ -