สิกขา
สิกขา สิกขาบท หมายถึง ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อที่ต้องปฏิบัติ ในทางศาสนาหมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา
ในคำไทยนำมาใช้ว่า ศึกษา หมายถึงการเล่าเรียน หรือพูดซ้ำว่า การศึกษาเล่าเรียน
สิกขาบท หมายถึงข้อศีล ข้อวินัย คือศีลแต่ละข้อ วินัยแต่ละข้อ
เช่นศีลของสามเณรมี 10 ข้อ เรียกว่ามี 10 สิกขาบท ศีลของพระภิกษุ มี 227 ข้อ เรียกว่ามี 227 สิกขาบท
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สิกขา 3 ประการ
สิกขา 3 ประการ หรือ ไตรสิกขา คือ ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับศึกษา คือ ฝึกหัดอบรมกาย วาจา จิตใจ และปัญญา ให้ยิ่งขึ้นไป จนสามารถบรรลุจุดหมายสูงสุดคือพระนิพพานได้ ประกอบด้วย
1. อธิสีลสิกขา
อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีลอันยิ่ง หมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง การเรียนรู้และปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในอธิศีล ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมความประพฤติทางกายและวาจาให้เรียบร้อย ได้แก่การตั้งตนอยู่ในปาริสุทธิศีล 4
2. อธิจิตตสิกขา
อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตอันยิ่ง หมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตเพื่อให้บรรลุถึงสมาบัติ 8 เพื่อนำมาเป็นฐานแห่งการเจริญวิปัสสนาต่อไป
3. อธิปัญญาสิกขา
อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง หมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง เพื่อให้เห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ได้แก่ วิปัสสนาญาณ 9 ซึ่งจัดเป็นปัญญาขั้นสูงยิ่งกว่าปัญญาขั้นอื่น ๆ
- จบ -