Sunday, February 6, 2022

ปฏิสารณียกรรม ที่ 4 : ถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ปฏิสารณียกรรม ที่ 4 : ถูกสงฆ์ลง ปฏิสารณียกรรม
 


ถูกสงฆ์ลง ปฏิสารณียกรรม 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 164 )  


       ครั้งนั้น สงฆ์ได้ลง ปฏิสารณียกรรม แก่ภิกษุสุธรรม คือ ให้เธอขอขมาจิตตะคหบดี

       เธอถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรมแล้วไปเมืองมัจฉิกาสณฑ์ เป็นผู้เก้อ ไม่อาจขอขมา จิตตะคหบดีได้ จึงกลับมายังพระนครสาวัตถีอีก

       ภิกษุทั้งหลายถามอย่างนี้ว่า คุณสุธรรม คุณขอขมาจิตตะคหบดีแล้วหรือ

       ท่านพระสุธรรมตอบว่า ท่านทั้งหลาย ในเรื่องนี้ ผมได้ไปเมืองมัจฉิกาสณฑ์แล้ว เป็นผู้เก้อ ไม่อาจขอขมาจิตตะคหบดีได้ … รับสั่งว่า 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงให้ อนุทูต /////  แก่ภิกษุสุธรรมเพื่อขอขมาจิตตะคหบดี.



วิธีให้อนุทูต

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล อนุทูตพึงให้อย่างนี้

       พึงขอให้ภิกษุรับก่อน

       ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติทุติยกรรมวาจา ///// ว่าดังนี้ 



* * * ญัตติทุติยกรรมวาจา  

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า 

       ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ภิกษุมีชื่อนี้ เป็น อนุทูต แก่ภิกษุสุธรรมเพื่อขอขมา จิตตะคหบดี

       นี้เป็นญัตติ  


       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ให้ภิกษุมีชื่อนี้เป็น อนุทูต แก่ภิกษุสุธรรมเพื่อขอขมา จิตตะคหบดี

       การให้ภิกษุมีชื่อนี้ เป็น อนุทูต แก่ภิกษุสุธรรม เพื่อขอขมาจิตตะคหบดี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด 


       ภิกษุมีชื่อนี้ อันสงฆ์ให้เป็น อนุทูต แก่ภิกษุสุธรรมแล้ว เพื่อขอขมา จิตตะคหบดี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง

       ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ 



วิธีขอขมาของพระสุธรรม

( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 165 )  


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสุธรรม นั้นพึงไป เมืองมัจฉิกาสณฑ์ กับภิกษุอนุทูต แล้วขอขมาจิตตะคหบดีว่า

       คหบดีขอท่านจงอดโทษ อาตมาจะให้ท่านเลื่อมใส

       ถ้าเมื่อกล่าวอย่างนี้ เขาอดโทษ ข้อนั้นเป็นการดี 

       หากเขาไม่อดโทษ ภิกษุอนุทูตพึงช่วยพูดว่า คหบดี ขอท่านจงอดโทษแก่ภิกษุนี้ ภิกษุนี้จะให้ท่านเลื่อมใส

       ถ้าเมื่อกล่าวอย่างนี้ เขาอดโทษ ข้อนั้นเป็นการดี

       หากเขาไม่อดโทษ ภิกษุอนุทูตพึงช่วยพูดว่า คหบดี ขอท่านจงอดโทษแก่ภิกษุนี้ อาตมาจะให้ท่านเลื่อมใส  

       ถ้าเมื่อกล่าวอย่างนี้เขาอดโทษ ข้อนั้นเป็นการดี 

       หากเขาไม่อดโทษ ภิกษุอนุทูตพึงช่วยพูดว่า คหบดี ขอท่านจงอดโทษแก่ภิกษุนี้ตามคำสั่งของสงฆ์ 

       ถ้าเมื่อกล่าวอย่างนี้ เขาอดโทษ ข้อนั้นเป็นการดี 

       หากเขาไม่อดโทษ ภิกษุอนุทูตพึงให้ภิกษุสุธรรมห่มผ้าอุตราสงฆ์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี แล้วให้แสดงอาบัตินั้น ไม่ละ ทัสสนูปจาร /////   ไม่ละ สวนูปจาร ///// 



* * * ขอขมาสำเร็จ และสงฆ์ระงับกรรม  


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 166 )  


       ครั้งนั้น ท่านพระสุธรรมไปเมืองมัจฉิกาสณฑ์กับภิกษุอนุทูตแล้วขอขมาจิตตะคฤหบดี 

       ท่านพระสุธรรมนั้นประพฤติโดยชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า 

       อาวุโสทั้งหลาย ผมถูกสงฆ์ลง ปฏิสารณียกรรม แล้ว ได้ประพฤติโดยชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ ผมจะพึงปฏิบัติอย่างไรต่อไป … ตรัสว่า


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงระงับ ปฏิสารณียกรรม แก่ภิกษุสุธรรม



* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ จุลวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 6 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : กัมมขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ปฏิสารณียกรรม ที่ 4 : ถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 644 , 645 , 646



- จบ -