พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง สามัญญผลสูตร
เรื่อง สามัญญผลสูตร
สมฺปนฺนสีลา ( ผู้มีศีลอันสมบูรณ์ )
คัมภีร์ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ( สุตันตปิฎก เล่มที่ 1 )
สามัญญผลสูตร * * * ( 1 ) ( มี 43 พระสูตร )
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 102 )
…ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันแม้ข้ออื่น ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์เหล่านี้ได้หรือไม่
อาจอยู่ มหาบพิตร ถ้าอย่างนั้น มหาบพิตรจงคอยสดับ จงตั้งพระทัยให้ดี อาตมภาพจักแสดง
ดูกรมหาบพิตร พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว
ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น
ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ( ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต ) ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร ( อาจารโคจรสมฺปนฺโน ) มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วย กายกรรม วจีกรรม ที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล ( สีลสมฺปนฺโน ) คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) นอกจากสูตรที่นำมาแสดงแล้ว ในสุตตันตะปิฎก เล่มที่ 1 ศาสดาได้ตรัสถึงเรื่องนี้ไว้ในสูตรอื่นอีกถึง 12 พระสูตร – ผู้รวบรวม
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หัวข้อใหญ่สุด : สมฺปนฺนสีลา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ( สุตตันตปิฎก เล่มที่ 1 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : สามัญญผลสูตร / หน้าที่ : 4
- END -