พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 2 เกี่ยวกับบาตรมีแผลไม่เกิน 5 แห่ง ให้จ่ายบาตรใหม่
เรื่อง ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 2 เกี่ยวกับบาตรมีแผลไม่เกิน 5 แห่ง ให้จ่ายบาตรใหม่
ทรงห้ามขอบาตร
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 128 )
54.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรขอบาตร
ภิกษุใดขอ ต้องอาบัติทุกกฏ
ทรงอนุญาตให้ขอบาตร
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 129 )
55.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีบาตรหาย หรือมีบาตรแตก
ขอบาตรเขาได้
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 2
โย ปะนะ ภิกขุ อูนะปัญจะพันธะเนนะ ปัตเตนะ…
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 130 )
56. อนึ่ง ภิกษุใด มีบาตรมีแผลหย่อนห้า ให้จ่ายบาตรใหม่อื่น
เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
ภิกษุนั้นพึงสละบาตรใบนั้นในภิกษุบริษัท
บาตรใบสุดแห่งภิกษุบริษัทนั้น พึงมอบให้แก่ภิกษุนั้นสั่งว่า ภิกษุนี้บาตรของท่าน พึงทรงไว้กว่าจะแตก นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น
วิธีเสียสละบาตร
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 132 )
57.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละบาตรนั้น อย่างนี้
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านเจ้าข้า บาตรใบนี้ ข้าพเจ้ามีบาตรมีแผลหย่อนห้า ให้จ่ายมาแล้วเป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่สงฆ์
ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ
สงฆ์พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร
องค์ 5 นั้น คือ
1.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
2.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะเกลียดชัง
3.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะงมงาย
4.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะกลัว และ
5.รู้จักว่าทำอย่างไร เป็นอันเปลี่ยนหรือไม่เป็นอันเปลี่ยน
วิธีสมมติภิกษุผู้เปลี่ยนบาตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติภิกษุผู้เปลี่ยนบาตรนั้น อย่างนี้
พึงขอภิกษุให้รับตกลงก่อน
ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
* * * คำสมมติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร
นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร
การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ภิกษุมีชื่อนี้สงฆ์สมมติให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตรแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
58.ภิกษุผู้รับสมมติแล้วนั้น พึงให้เปลี่ยนบาตร พึงกราบเรียนพระเถระว่า
ท่านเจ้าข้า ขอพระเถระจงเปลี่ยนบาตร
ถ้าพระเถระเปลี่ยน พึงถวายบาตรพระเถระให้พระทุติยเถระเปลี่ยน อันภิกษุจะไม่เปลี่ยน เพราะความสงสารภิกษุนั้นไม่ได้
ภิกษุใดไม่ยอมเปลี่ยน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่พึงให้ภิกษุผู้ไม่มีบาตรเปลี่ยน พึงให้เปลี่ยนเลื่อนลงมาโดยอุบายนี้แลตลอดถึงพระสังฆนวกะ
ก็แลบาตรใดเป็นใบสุดท้ายแห่งภิกษุบริษัทนั้น พึงมอบบาตรนั้น แก่ภิกษุผู้ต้องอาบัตินิสสัคคิย ปาจิตตีย์นั้นด้วยสั่งกำชับว่า
ดูกรภิกษุ นี้บาตรของเธอ พึงใช้ไปกว่าจะแตก ดังนี้
59.ภิกษุนั้นอย่าเก็บบาตรใบนั้นไว้ในที่อันไม่ควร
อย่าใช้โดยอาการอันไม่ควร
อย่าทอดธุระว่าบาตรใบนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม คือ จะหายก็ช่าง จะฉิบหายก็ช่าง จะแตกก็ช่าง
ถ้าเก็บไว้ในที่ๆ ไม่ควรก็ดี ใช้อย่างที่เขาไม่ใช้กันก็ดี ปล่อยทิ้งเสียก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 2 จบ
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หัวข้อใหญ่สุด : สมฺปนฺนปาติโมกฺขา ปาติโมกฺขสํวรสํวุตา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวิภังค์ ภาค 2 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 2 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : กัณฑ์ที่ 1 : นิสสัคคิยกัณฑ์ / หัวข้อย่อยรองลงมา : ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 2 เกี่ยวกับบาตรมีแผลไม่เกิน 5 แห่ง ให้จ่ายบาตรใหม่ / หน้าที่ : 88 , 89 , 90
- END -