คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ปวารณาขันธกะ : แสดงอาบัติก่อนปวารณา
เรื่อง ปวารณาขันธกะ : แสดงอาบัติก่อนปวารณา
แสดงอาบัติก่อนปวารณา
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 232 )
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติ ในวันปวารณา
เธอได้คิดสงสัยในขณะนั้นว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีอาบัติติดตัวไม่พึงปวารณา ดังนี้ ก็เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ …
ตรัสว่า
934. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้ ต้องอาบัติในวันปวารณา
ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่าน ผมต้องอาบัติมีชื่อนี้ ผมแสดงคืนอาบัตินั้น
ภิกษุผู้รับพึงถามว่า ท่านเห็นหรือ
ภิกษุผู้แสดงพึงตอบว่า ครับ ผมเห็น
ภิกษุผู้รับพึงบอกว่า ท่านพึงสำรวมต่อไป
* * * สงสัยในอาบัติ
935. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ถึงวันปวารณา ภิกษุในศาสนานี้มีความสงสัยในอาบัติ
เธอพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่าน ผมมีความสงสัยในอาบัติมีชื่อนี้ จักหมดสงสัยเมื่อใด จักทำคืนอาบัตินั้นเมื่อนั้น
ครั้นแล้วพึงปวารณา แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่ปวารณา เพราะข้อที่สงสัยนั้นเป็นปัจจัย
* * * กำลังปวารณาระลึกอาบัติได้
936. …ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้ กำลังปวารณา ระลึกอาบัติได้
เธอพึงบอกภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า
อาวุโส ผมต้องอาบัติมีชื่อนี้ ลุกจากที่นี้แล้ว จักทำคืนอาบัตินั้น
ครั้นแล้วพึงปวารณา
แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่ปวารณา เพราะข้อที่ระลึกอาบัติได้นั้นเป็นปัจจัย
937. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้ กำลังปวารณา มีความสงสัยในอาบัติ
เธอพึงบอกภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า
อาวุโส ผมมีความสงสัยในอาบัติมีชื่อนี้ จักหมดสงสัยเมื่อใด จักทำคืนอาบัตินั้นเมื่อนั้น
ครั้นแล้ว พึงปวารณา
แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่ปวารณา เพราะข้อที่มีความสงสัยนั้นเป็นปัจจัย
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 4 : ปวารณาขันธกะ / หัวข้อย่อยรองลงมา : ปวารณาขันธกะ : แสดงอาบัติก่อนปวารณา
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 373 , 374
- จบ -