Saturday, May 1, 2021

เหตุผลที่ต้องรับฟังเฉพาะคำตรัส ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุผลที่ต้องรับฟังเฉพาะคำตรัส ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้

       สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก

       เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

       ภิกษุทั้งหลาย!  ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา

       เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

       จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้

       ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้

       ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้

       ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้ 


       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่าบริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่ ( ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา ) จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล



หากไม่สนใจคำตถาคต จะทำให้เกิดความอันตรธานของคำตถาคต เปรียบด้วยกลองศึก

       ภิกษุทั้งหลาย!  เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า อานกะ มีอยู่

       เมื่อกลองอานกะนี้ มีแผลแตก หรือลิ พวกกษัตริย์ทสารหะได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่ม เสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น ( ทุกคราวไป )

       ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้น นานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น

       ภิกษุทั้งหลาย!  ฉันใดก็ฉันนั้น ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา

       เมื่อมีผู้นำ สุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

       ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้นที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล



พระองค์ทรงสามารถกำหนดสมาธิเมื่อจะพูดทุกถ้อยคำ จึงไม่ผิดพลาด 

       อัคคิเวสนะ !

       เรานั้นหรือ จำเดิมแต่เริ่มแสดง กระทั่งคำสุดท้ายแห่งการกล่าวเรื่องนั้นๆ

       ย่อมตั้งไว้ซึ่งจิตในสมาธินิมิตอันเป็นภายในโดยแท้

       ให้จิตดำรงอยู่ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ กระทำให้มีจิตเป็นเอก

       ดังเช่นที่คนทั้งหลายเคยได้ยินว่าเรากระทำอยู่เป็นประจำดังนี้ 



คำพูดที่ตรัสมาทั้งหมดนับแต่วันตรัสรู้นั้น สอดรับไม่ขัดแย้งกัน 

       ภิกษุทั้งหลาย!  

       นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

       จนกระทั่งถึงราตรีที่ตถาคตปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ 

       ตลอดเวลาระหว่างนั้น

       ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออก ซึ่งถ้อยคำใด

       ถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น

       ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย
 


แต่ละคำพูดเป็นอกาลิโก คือ ถูกต้องตรงจริง ไม่จำกัดกาลเวลา 

       ภิกษุทั้งหลาย!  

       พวกเธอทั้งหลายเป็นผู้ที่เรานำไปแล้วด้วยธรรมนี้ 

       อันเป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง ( สนฺทิฏฐิโก )

       เป็นธรรมให้ผลไม่จำกัดกาล ( อกาลิโก )

       เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู ( เอหิปสฺสิโก )

       ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว ( โอปนยิโก )

       อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน ( ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ )



ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป

       อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า 

       “ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้

       อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น

       อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย

       ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

       อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี

       ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ

       ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ

       มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ

       ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ

       เป็นอยู่ 

       อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด แล



ทรงห้ามบัญญัติเพิ่มหรือตัดทอนสิ่งที่บัญญัติไว้

       ภิกษุทั้งหลาย!  

       ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ

       จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว

       จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใด

       ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ความสำคัญของคำพระผู้มีพระภาคเจ้า  /  หัวข้อย่อย : เหตุผลที่ต้องรับฟังเฉพาะคำตรัส ของพระผู้มีพระภาคเจ้า  /  หัวข้อเลขที่ : 91  /  -บาลี ทุก. อํ. 20/92/292. , -บาลี นิทาน. สํ. 16/311/672-3. , -บาลี มู. ม. 12/460/430. , -บาลี อิติวุ. ขุ. 25/321/293. , -บาลี มู. ม. 12/485/451. , -บาลี มหา. ที. 10/178/141. , -บาลี มหาวาร. สํ. 19/217/740. , -บาลี สตฺตก. อํ. 23/21/21.  /  หน้าที่ : 243 , 244 , 245 , 246 , 247 , 248 , 249 , 250 , 251

- END -