Saturday, May 1, 2021

เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน 

       สารีบุตร ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ว่า

       ชั่วเวลาที่บุรุษนี้ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย ก็ยังคงประกอบด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวอยู่เพียงนั้น

       เมื่อใดบุรุษนี้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลนาน ผ่านวัยไปแล้ว มีอายุ 80 ปี 90 ปีหรือ 100 ปี จากการเกิด

       เมื่อนั้น เขาย่อมเป็นผู้เสื่อมสิ้นจากปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไว 

       สารีบุตร ! ข้อนี้ เธออย่าพึงเห็นอย่างนั้น เรานี้แล ในบัดนี้เป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาแล้ว วัยของเรานับได้ 80 ปี ...ฯลฯ...

       สารีบุตร !

       ธรรมเทศนาที่แสดงไปนั้น ก็มิได้แปรปรวน 

       บทพยัญชนะแห่งธรรมของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน 

       ปฏิภาณในการตอบปัญหาของตถาคต ก็มิได้แปรปรวน ...ฯลฯ... 

       สารีบุตร ! แม้ว่าเธอทั้งหลายจักนำเราไปด้วยเตียงน้อย ( สำหรับหามคนทุพพลภาพ ) ความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแห่งปัญญาอันเฉียบแหลมว่องไวของตถาคต ก็มิได้มี

       สารีบุตร ! ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวให้ถูกให้ชอบว่า

       “สัตว์มีความไม่หลงเป็นธรรมดา

       บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

       ดังนี้แล้ว ผู้นั้นพึงกล่าวซึ่งเราผู้เดียวเท่านั้น

       ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำทั่วพระกายของพระผู้มีพระภาคอยู่ พลางกล่าวถ้อยคำนี้ ว่า

       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์ ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลาย ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”

       อานนท์ ! นั่น ต้องเป็นอย่างนั้น คือ

       ความชรามี ( ซ่อน ) อยู่ในความหนุ่ม 

       ความเจ็บไข้มี ( ซ่อน ) อยู่ในความไม่มีโรค 

       ความตายมี ( ซ่อน ) อยู่ในชีวิต

       ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย
ดังนี้

       พระผู้มีพระภาค ครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้ ( เป็นคำกาพย์กลอน ) อีกว่า

       โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย !

       อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย !

       กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว

       แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี 

       ทุกคนก็ยังมีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

       ความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ

       มันย่ำยีหมดทุกคน

       อานนท์ ! บัดนี้ เรามีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขารแล้ว ณ ปาวาลเจดีย์นี้

       ( พระอานนท์ได้สติจึงทูลขอให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยอิทธิบาทภาวนา กัปป์หนึ่งหรือยิ่งกว่ากัปป์ ทรงปฏิเสธ )

       อานนท์ ! อย่าเลย อย่าวิงวอนตถาคตเลย มิใช่เวลาจะวิงวอนตถาคตเสียแล้ว

       ( พระอานนท์ทูลวิงวอนอีกจนครบสามครั้ง ได้รับพระดำรัสตอบอย่างเดียวกัน ตรัสว่าเป็นความผิดของพระอานนท์ผู้เดียว แล้วทรงจาระไนสถานที่ 16 แห่งที่เคยให้โอกาสแก่พระอานนท์ในเรื่องนี้ แต่พระอานนท์รู้ไม่ทันสักครั้งเดียว ) 

       อานนท์ ! ในที่นั้นๆ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจักห้ามเสียสองครั้ง แล้วจักรับคำในครั้งที่สาม

       อานนท์ ! ตถาคตได้บอกแล้วมิใช่หรือว่าสัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น สัตว์จะได้ตามปรารถนา ในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า

       ข้อที่สัตว์จะหวังเอาสิ่งที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีการแตกดับเป็นธรรมดา ว่าสิ่งนี้อย่าฉิบหายเลย ดังนี้

       ย่อมไม่เป็นฐานะที่มีได้ เป็นได้

       สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมี และ ยากจน

       ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึง ในเบื้องหน้า

       เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้วทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้ว และยังดิบ

       ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด

       ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น

       วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักละพวกเธอไป

       สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย !  พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลเป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วจักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การปรินิพพานของตถาคต  /  หัวข้อย่อย : เหตุการณ์ช่วงปรินิพพาน  /  หัวข้อเลขที่ : 93  /  -บาลี มู. ม. 12/163/192. , -บาลี มหาวาร. สํ 19/287/963. , -บาลี มหา. ที. 10/141/108.  /  หน้าที่ : 256 , 257 , 258 , 259 , 260 

- END -