Sunday, May 2, 2021

หลักการพิจารณาอาหาร

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง หลักการพิจารณาอาหาร 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็กพฬีการาหาร ( อาหารคือคำข้าว ) จะพึงเห็นได้อย่างไร ? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนภรรยาสามีสองคน ถือเอาเสบียงสำหรับเดินทางเล็กน้อย เดินไปสู่หนทางอันกันดาร

       สองสามีภรรยานั้น มีบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูอยู่คนหนึ่ง

       เมื่อขณะเขาทั้งสองกำลังเดินไปตามทางอันกันดารอยู่นั้น เสบียงสำหรับเดินทางที่เขามีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้น ได้หมดสิ้นไป หนทางอันกันดารนั้นยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองนั้น ยังไม่เดินข้ามหนทางอันกันดารนั้นไปได้ ครั้งนั้นแล สองภรรยาสามีนั้นได้มาคิดกันว่า

       “เสบียงสำหรับเดินทางของเราทั้งสองที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนี้ ได้หมดสิ้นลงแล้ว หนทางอันกันดารนี้ยังเหลืออยู่ ทั้งเราก็ยังไม่เดินข้ามหนทางอันกันดารนี้ไปได้ อย่ากระนั้นเลย เราทั้งสองคนพึงฆ่าบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูนี้เสียแล้วทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง บริโภคเนื้อบุตรนี้แหละ  เดินข้ามหนทางอันกันดารที่ยังเหลืออยู่นี้กันเถิด เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้ พวกเราทั้งสามคนจะต้องพากันพินาศหมดแน่”  ดังนี้

       ครั้งนั้นแล ภรรยาสามีทั้งสองนั้น จึงฆ่าบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูนั้น แล้วทำให้เป็นเนื้อเค็ม และเนื้อย่าง บริโภคเนื้อบุตรนั้นเทียว เดินข้ามหนทางอันกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น

       สองภรรยาสามีนั้น บริโภคเนื้อบุตรไปพลางพร้อมกับค่อนอกไปพลาง รำพันว่า

       “บุตรน้อยคนเดียวของเราไปไหนเสีย บุตรน้อยคนเดียวของเราไปไหนเสีย” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร ?

       สองภรรยาสามีนั้นจะพึงบริโภคเนื้อบุตรเป็นอาหาร เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานบ้าง เพื่อความมัวเมาบ้าง เพื่อความประดับประดาบ้าง หรือเพื่อตกแต่ง ( ร่างกาย ) บ้าง หรือหนอ ?

       ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้อนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า !”

       แล้วตรัส ต่อไปว่า

       “ถ้าอย่างนั้นสองภรรยาสามีนั้น จะพึงบริโภคเนื้อบุตรเป็นอาหารเพียงเพื่อ ( อาศัย ) เดินข้ามหนทางอันกันดารเท่านั้นใช่ไหม ?”

       “ใช่ พระเจ้าข้า !”

       ภิกษุทั้งหลาย! ข้อนี้มีอุปมาฉันใด เราย่อมกล่าวว่า กพฬีการาหาร อันอริยสาวกพึงเห็น ( ว่ามีอุปมาเหมือนเนื้อบุตร ) ฉันนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อกพฬีการาหาร อันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว

       ราคะ ( ความกำหนัด ) ที่มีกามคุณทั้ง 5 เป็นแดนเกิด

       ย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย 

       เมื่อราคะที่มีกามคุณทั้ง 5 เป็นแดนเกิด เป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้ว

       สังโยชน์ชนิดที่อริยสาวกประกอบเข้าแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้มาสู่โลกนี้ได้อีก ย่อมไม่มี

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : นิพพานและการพ้นทุกข์  /  หัวข้อย่อย : หลักการพิจารณาอาหาร  /  หัวข้อเลขที่ : 6  /  -บาลี นิทาน. สํ. 16/118/240.  /  หน้าที่ : 311 , 312 , 313 

- END -