Monday, December 13, 2021

คืนอาบัติ

 

คืนอาบัติ


การปลงอาบัติ : การล้างบาปจริงหรือ? 

       การ ปลง อาบัติ หรือการ แสดงคืน  ตามนัยแห่งพระวินัยในพระพุทธศาสนาหมายถึง มาตรการลงโทษทางพระวินัยแก่ภิกษุและภิกษุณี ผู้กระทำผิดพระวินัยซึ่งเรียกว่าต้องอาบัติเบาหรือลหุอาบัติ มีโทษไม่รุนแรง อันได้แก่อาบัติปาจิตตีย์และทุกกฎ เป็นต้น โดยการกำหนดให้ผู้ล่วงละเมิดบอกกล่าวความผิดแก่ภิกษุ และภิกษุณีด้วยกัน พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะสำรวมระวังไม่กระทำผิดเช่นเดิมอีก 

       แต่มาตรการลงโทษทางพระวินัยมิได้มีเพียงการปลงอาบัติเท่านั้น ยังมีการลงโทษด้วยมาตรการหนักถึงขั้นให้ขาดจากความเป็นภิกษุ และภิกษุณี และจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต อันเปรียบได้กับโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายของบ้านเมือง ภิกษุและภิกษุณีผู้ล่วงละเมิดอาบัติปาราชิกซึ่งมีอยู่ 4 สิกขาบทสำหรับภิกษุ และ 8 สิกขาบทสำหรับภิกษุณี แม้กระทำผิดเพียงสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งเท่านั้น และยังมีมาตรการลงโทษหนักรองลงมา โดยการให้อยู่กรรมอันเปรียบได้กับการจำคุกมากน้อยขึ้นอยู่กับการปกปิดอาบัติแก่ผู้ล่วงละเมิดอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งมีอยู่ 13 สิกขาบทสำหรับภิกษุ และ 17 สิกขาบทสำหรับภิกษุณี แม้เพียงล่วงละเมิดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งเท่านั้น 

       การล้างบาปเป็นพิธีกรรมชำระบาปให้กลับเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามนัยแห่งศาสนาประเภทเทวนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาคริสต์ และพราหมณ์ โดยการให้ผู้กระทำผิดสารภาพบาปต่อหน้าผู้ประกอบพิธีกรรมก็เป็นอันพ้นจากบาป โดยมีขั้นตอน และวิธีการในการประกอบพิธีกรรมแตกต่างกัน ไปในแต่ละศาสนาตามศรัทธา และความเชื่อต่อคำสอนของศาสนานั้นๆ 

       ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม ปฏิเสธเรื่องการมีผู้สร้างและสิ่งถูกสร้าง แต่ให้ยึดมั่นในกฎแห่งกรรมคือ การกระทำของตนเองซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 

       1. กุศลกรรมหมายถึง กรรมดีให้ผลคือทำให้ผู้กระทำมีความสุข ทั้งกายและทางใจ ไม่เป็นพิษเป็นภัยทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น


       2. อกุศลกรรมหมายถึงกรรมชั่วให้ผลคือ ทำให้ผู้กระทำมีความทุกข์ทั้งทางกาย และทางใจ ทั้งยังเป็นพิษเป็นภัย ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น 


       ดังนั้น กรรมใดใครทำไว้จะดีหรือชั่ว ผู้กระทำจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ในทำนองเดียวกับการปลูกพืชชนิดใดไว้ ก็จะได้ผลของพืชชนิดนั้น จะแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ 

       ด้วยเหตุนี้ การล่วงละเมิดพระวินัยซึ่งมีโทษทางกรรมอันเนื่องมาจากความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น จะต้องได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อนโดยที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ด้วยมาตรการใดๆ แม้กระทั่งการปลงอาบัติหรือด้วยการล้วงบาป ก็ย่อมทำให้หมดไปไม่ได้ ยกเว้นกรรมชั่วที่ทำนั้นเป็นลหุกรรม และหลังจากทำแล้วไม่ทำซ้ำอีก และในขณะเดียวกัน ได้กระทำกรรมดีเป็นครุกรรมอย่างต่อเนื่อง กรรมชั่วก็ไม่มีโอกาสให้ผลในที่สุดได้กลายเป็นอโหสิกรรมไปในทำนองเดียวกันกับการนำเกลือบาปกับน้ำ ถ้าเกลือที่ใส่ลงไปเล็กน้อย และไม่มีการใส่เพิ่ม ในขณะเดียวกัน ใส่น้ำเพิ่มลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดความเค็มของเกลือก็จะจางไปสามารถดื่มน้ำนั้นได้ โดยที่ไม่มีรสเค็ม แต่ถ้าน้ำนั้นไปแยกตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ก็จะพบมีเกลืออยู่ในน้ำเท่าเดิม มิได้หายไปไหน แต่กระทำกรรมดีจนทำให้กรรมชั่วหมดโอกาสให้ผล มิใช่การล้างบาปแต่อย่างใด 

       อีกประการหนึ่ง คำสอนของพระพุทธศาสนาปฏิเสธการที่คนจะดีหรือเลวโดยการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกทุกประเภท แม้จากการกระทำของพระเจ้า จะเห็นได้จากคำสอนที่ สุทธิ อสุทธิ ปจฺจตฺตํ นาญโญ อญฺญํ วิโสธเย ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์หาได้ไม่ 

       โดยนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า การล้างบาปโดยอาศัยปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะด้วยพิธีกรรมอันใด และโดยใคร ถ้าพิจารณาตามนัยแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ 

       ดังนั้น การที่จะทำให้บาปซึ่งเป็นผลของกรรมชั่ว ซึ่งตนเองได้กระทำแล้วหมดไปโดยอาศัยปัจจัยภายนอก ย่อมเป็นไปไม่ได้ 

       แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีพระเถระผู้ใหญ่บางรูปได้แสดงธรรมในหัวข้อชำระจิตให้ผ่องแผ้ว ตามนัยที่ปรากฏในโอวาทปาติโมกข์ว่าเปรียบด้วยการล้างบาปจึงไม่สอดคล้องกับคำสอนในพระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เนื่องจากว่าพระพุทธองค์ได้แสดงวิธีการกำจัดกิเลสอันเป็นเหตุให้จิตเศร้าหมองไว้ 3 ประการคือ 

       1. กิเลสอย่างหยาบ ซึ่งแสดงออกทางกาย และวาจากำจัดได้ด้วยศีล 


       2. กิเลสอย่างกลาง ซึ่งฝังอยู่ในจิตใจรอที่จะแสดงออกมาทางกาย และวาจากำจัดได้ด้วยสมาธิ 


       3. กิเลสอย่างละเอียด ซึ่งนอนเนื่องในสันดานที่เรียกว่า อนุสัย กำจัดได้ด้วยปัญญา 


       โดยนัยแห่งแนวทางการกำจัดกิเลส 3 ประการดังกล่าวนี้ ไม่ว่าพระภิกษุหรือคฤหัสถ์เพื่อทำกรรมชั่ว ความเลวอันมีผลทางกรรม อันเนื่องมาจากก่อความทุกข์ ความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น เช่น ลักทรัพย์ และประพฤติผิดในกาม เป็นต้น แล้วจะต้องรับผลของกรรมนั้นจะพ้นจากบาป ด้วยการล้างบาปหรือการปลงอาบัติก็ไม่อาจทำให้ผลของกรรมนั้นหมดไป หรือเปลี่ยนสภาพเป็นบุญได้ ในทำนองเดียวกับภิกษุทำแก้วน้ำของผู้อื่นแตก และเศษแก้วบาดมือ แต่เจ้าของไม่เอาเรื่อง ภิกษุนั้นไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแต่ต้องเจ็บปวด และต้องรักษาแผลที่ได้รับอยู่นั่นเอง 

       โดยสรุป ผู้เขียนเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของพระเถระรูปนี้ จะทำให้ผู้ฟังซึ่งมีความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนไม่ดีพอ แต่มีศรัทธาในพระเถระรูปนี้ จะเข้าใจผิดและจดจำนำไปบอกต่อ อันเป็นเหตุให้ความบิดเบือนคำสอนของพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ ในทำนองเดียวกันกับที่คนกลุ่มหนึ่งจดจำคำสอนของสำนักหนึ่งที่ว่า พระนิพพานเป็นอัตตา และพระพุทธเจ้ายังคงอยู่บนสวรรค์สามารถเข้าเฝ้าและถวายตัวได้เฝ้า เป็นต้น จนกลายเป็นลัทธิบิดเบือนคำสอนอยู่ในขณะนี้ 

       ทางที่ดีสำนักพุทธซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลแก้ไข ควรจะได้มีการออกมาชี้แจงแสดงความเห็นว่า อะไรผิด อะไรถูก เพื่อเป็นการปกป้องพระสัทธรรมคำสอนให้คงอยู่ถาวรต่อไป 


- จบ -