Wednesday, December 22, 2021

ปัพพาชนียกรรม

 

ปัพพาชนียกรรม



       ปัพพาชนียกรรม ( ปับพาชะนียะกำ ใช้ว่า บัพพาชนียกรรม ก็ได้ ) - คือการลงโทษพระภิกษุที่กระทำผิดโดยการขับออกจากคณะสงฆ์

       ในทางศาสนาพุทธ ปัพพาชนียกรรมหมายถึงการขับภิกษุออกจากหมู่คณะ การไล่ภิกษุออกจากวัด เป็นกรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงไล่เสีย จัดเป็นนิคหกรรมคือการลงโทษภิกษุอย่างหนึ่งใน 6 อย่าง วิธีทำกรรมนี้ต้องทำเป็นสังฆกรรม คือ ญัตติจตุตถกรรม

       ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ประพฤติเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ก่อการทะเลาะวิวาทบาดหมาง มีอาบัติมาก มีมรรยาทไม่สมควร คลุกคลีกับคฤหัสถ์ เป็นผู้วิบัติทางศีลอาจาระ และทิฐิ กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เล่นคะนอง ประพฤติอนาจาร ลบล้างพระบัญญัติ ประกอบมิจฉาชีพ  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       การลงโทษขับไล่ ( ปัพพาชนียกรรม )  

       ภิกษุที่เป็นพวกของพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะซึ่งอยู่ ณ ชนบท ชื่อกิฏาคิรี เป็นพระอลัชชีประพฤติสิ่งที่ไม่สมควร เช่น ปลูกต้นไม้เอง ใช้ให้ปลูกต้นไม้ให้คฤหัสถ์ ร้อยดอกไม้ให้คฤหัสถ์ บริโภคอาหาร ในเวลาวิกาล ดื่มน้ำเมา ทัดทรงดอกไม้ ฟ้อนรำขับร้อง และเล่นซนอื่น ๆ 

       พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงส่งพระสาริบุตร พระโมคคัลลานะให้ไปจัดการลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น ทรงแนะวิธีทำ วิธีสวดประกาศ มิให้ภิกษุพวกของพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ อยู่ในชนบทชื่อกิฏาคิรีต่อไป 

       ทรงแสดงลักษณะการทำปัพพาชนียกรรมว่าอย่างไรไม่เป็นธรรม อย่างไรเป็นธรรม ซึ่งมีข้อกำหนดเหมือนตัชชนียกรรมซึ่งกล่าวมาแล้ว 

       แล้วทรงแสดงลักษณะของภิกษุผู้ควรลงปัพพาชนียกรรม ( ขับไล่ ) หลายประการ มีทั้งความไม่ดี ไม่งาม แบบที่กล่าวไว้ในตัชชนียกรรม และนิยสกรรม มีทั้งความไม่ดีไม่งาม อันเนื่องด้วยความประพฤติ ไม่สมควรทางกายวาจา และการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เป็นต้น 

       การเสียสิทธิของภิกษุผู้ถูกลงปัพพาชนียกรรม คงมี 18 อย่างเช่นเดียวกับตัชชนียกรรม ( แต่ที่พิเศษออกไปก็คือ การถูกขับไล่ไม่ให้อยู่ในที่อยู่ของตน ) 

       แล้วทรงแสดงลักษณะที่ไม่ควรระงับการลงโทษ และควรระงับการลงโทษเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว 


- จบ -