Wednesday, December 22, 2021

อุกเขปนียกรรม

 

อุกเขปนียกรรม 



       อุกเขปนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย 

       หมายถึง วิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ หรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย ( ทิฏฐิบาป ) ไม่ยอมสละซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือ ทิฏฐิสามัญญตา

       โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย พูดง่ายๆ ว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       นิคคหกรรม

       กรรมทั้ง 5 อย่างดังกล่าวมานี้ เรียกโดยรวมว่า “นิคคหกรรม”

       ความหมายและสาเหตุที่ทำให้ภิกษุถูกทำนิคคหกรรมแต่ละอย่าง สรุปได้ดังนี้

       1. ตัชชนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรขู่ สงฆ์ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์

       2. นิยสกรรม แปลว่า กรรมคือการถอดยศ สงฆ์ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด มีอาบัติมาก ไม่มีมารยาท

       3. ปัพพาชนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรขับไล่ สงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูล มีมารยาทเลวทราม

       4. ปฏิสารณียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรให้กลับระลึกได้ สงฆ์ทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ด่าบริภาษคฤหัสถ์

       5. อุกเขปนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรยกเสียจากหมู่ สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้แม้ต้องอาบัติก็ไม่ปรารถนาจะเห็นว่าเป็นอาบัติ แม้ต้องอาบัติแล้วก็ไม่ปรารถนาจะทำคืน ( แสดง ) อาบัติ แม้มีทิฏฐิบาปก็ไม่ปรารถนาจะสละทิฏฐิบาปนั้น


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

วิธีประพฤติชอบในอุกเขปนียกรรม ฐานไม่เห็นอาบัตินั้น ดังต่อไปนี้ 

       1. ไม่พึงให้อุปสมบท 

       2. ไม่พึงให้นิสัย 

       3. ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก 

       4. ไม่พึงรับสมมติเป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี

       5. แม้ได้รับสมมติแล้ว ก็ไม่พึงสั่งสอนภิกษุณี 

       6. สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมฐานไม่เห็นอาบัติ เพราะอาบัติใด ไม่พึงต้องอาบัตินั้น 

       7. ไม่พึงต้องอาบัติอื่นอันเช่นกัน 

       8. ไม่พึงต้องอาบัติอันเลวทรามกว่านั้น 

       9. ไม่พึงติกรรม 

       10. ไม่พึงติภิกษุทั้งหลายผู้ทำกรรม 

       11. ไม่พึงยินดีการกราบไหว้ของปกตัตตะภิกษุ 

       12. ไม่พึงยินดีการยืนรับของปกตัตตะภิกษุ 

       13. ไม่พึงยินดีอัญชลีกรรมของปกตัตตะภิกษุ 

       14. ไม่พึงยินดีสามีจิกรรมของปกตัตตะภิกษุ 

       15. ไม่พึงยินดีการนำอาสนะมาให้ของปกตัตตะภิกษุ 

       16. ไม่พึงยินดีการนำที่นอนมาให้ของปกตัตตะภิกษุ 

       17. ไม่พึงยินดีการนำน้ำล้างเท้ามาให้ ไม่พึงยินดีการตั้งตั่งรองเท้าให้ของ ปกตัตตะภิกษุ

       18. ไม่พึงยินดีการตั้งกระเบื้องเช็ดเท้าให้ของปกตัตตะภิกษุ

       19. ไม่พึงยินดีการรับบาตรจีวรของปกตัตตะภิกษุ 

       20. ไม่พึงยินดีการถูหลังให้เมื่ออาบน้ำของปกตัตตะภิกษุ 

       21. ไม่พึงกำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยศีลวิบัติ 

       22. ไม่พึงกำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยอาจารวิบัติ 

       23. ไม่พึงกำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยทิฐิวิบัติ 

       24. ไม่พึงกำจัดปกตัตตะภิกษุ ด้วยอาชีววิบัติ 

       25. ไม่พึงยุภิกษุกับภิกษุให้แตกกัน

       26. ไม่พึงใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ 

       27. ไม่พึงใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างเดียรถีย์ 

       28. ไม่พึงคบพวกเดียรถีย์ 

       29. พึงคบพวกภิกษุ

       30. พึงศึกษาสิกขาของภิกษุ 

       31. ไม่พึงอยู่ในอาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ 

       32. ไม่พึงอยู่ในอนาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ 

       33. ไม่พึงอยู่ในอาวาสหรือในอนาวาสมีเครื่องมุงเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ 

       34. เห็นปกตัตตะภิกษุแล้วพึงลุกจากอาสนะ 

       35. ไม่พึงรุกรานปกตัตตะภิกษุข้างใน หรือข้างนอกวิหาร

       36. ไม่พึงห้ามอุโบสถแก่ปกตัตตะภิกษุ 

       37. ไม่พึงห้ามปวารณาแก่ปกตัตตะภิกษุ 

       38. ไม่พึงทำการไต่สวน 

       39. ไม่พึงเริ่มอนุวาทาธิกรณ์ 

       40. ไม่พึงยังภิกษุอื่นให้ทำโอกาส 

       41. ไม่พึงโจทภิกษุอื่น 

       42. ไม่พึงให้ภิกษุอื่นให้การ 

       43. ไม่พึงช่วยภิกษุกับภิกษุให้สู้อธิกรณ์กัน 


- จบ -