อมูฬหวินัย
อมูฬหวินัย คือ ระเบียบที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว
วิธีระงับอธิกรณ์สำหรับภิกษุผู้หายจากเป็นบ้า ได้แก่ กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์
อธิบายว่า จำเลยเป็นบ้าทำการล่วงละเมิดอาบัติ แม้จะเป็นจริงก็เป็นอนาบัติ เมื่อเธอหายบ้าแล้วมีผู้โจทด้วยอาบัติระหว่างเป็นบ้านั้นไม่รู้จบ ท่านให้สงฆ์สวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้ เรียกว่า อมูฬหวินัย ยกฟ้องของโจทเสีย ภายหลังมีผู้โจทด้วยอาบัตินั้น หรืออาบัติเช่นนั้น ในความที่เป็นบ้า ก็ให้อธิกรณ์เป็นอันระงับด้วยอมูฬหวินัย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
อมูฬหวินัย - ภิกษุชื่อคุคคะ เป็นบ้า ได้ทำความผิดหลายประการ มีผู้โจทฟ้อง พระผู้มีพระภาคจึงทรงแนะให้ระงับด้วยอมูฬวินัย โดยให้ผู้ถูกฟ้อง ( ซึ่งหายแล้ว ) ขออมูฬหวินัย และให้สงฆ์สวดประกาศให้อมูฬหวินัย เป็นอันระงับด้วยยกให้เป็นบ้าในขณะทำความผิด
แต่ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าทำความผิดขณะที่รู้สึกตนและไม่เป็นบ้า แต่แก้ตัวว่าไม่รู้สึกตน หรือรู้สึกเหมือนฝัน หรือแก้ตัวอ้างความเป็นบ้าสงฆ์ให้อมูฬหวินัยแก่เธอ ดังนี้ เรียกว่าไม่เป็นธรรม
ถ้าตรงกันข้าม คือทำไปในขณะเป็นบ้าไม่รู้สึกตัวจริง ๆ การให้อมูฬหวินัยจึงเป็นธรรม.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ก็อมูฬหวินัยเป็นอย่างไร คือ
พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ โจทภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกว่า ท่านผู้มีอายุ จงระลึกดูเถิดว่าท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลยว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก ภิกษุผู้โจทนั้นปลอบโยนเธอผู้กำลังทำลายอยู่นี้ว่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุจงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าถึงความเป็นบ้า ใจฟุ้งซ่านแล้ว กรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ข้าพเจ้าผู้เป็นบ้าได้ประพฤติล่วง และได้พูดละเมิดไป ข้าพเจ้าระลึกมันไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าผู้หลงทำกรรมนี้ไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ สงฆ์ต้องให้อมุฬหวินัยแก่ภิกษุนั้นแล
อย่างนี้แล เป็นอมูฬหวินัย ความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยอมูฬหวินัยอย่างนี้ ฯ
- จบ -