Wednesday, December 22, 2021

ปฏิสารณียกรรม

 

ปฏิสารณียกรรม


       ปฏิสารณียกรรม - กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงให้กลับไป

       หมายถึง การที่สงฆ์ลงโทษให้ภิกษุไปขอขมาคฤหัสถ์ กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุปากกล้า ด่าว่าคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นทายก อุปฐากสงฆ์ด้วยปัจจัย 4 เป็นทางจะยังคนผู้ยังไม่เลื่อมใสมิให้เลื่อมใส จะยังคนผู้เลื่อมใสอยู่แล้วให้เป็นอย่างอื่นไปเสีย

       ปฏิสาราณียกรรม ก็เขียน    


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       นิคคหกรรม

       กรรมทั้ง 5 อย่างดังกล่าวมานี้ เรียกโดยรวมว่า “นิคคหกรรม”

       ความหมายและสาเหตุที่ทำให้ภิกษุถูกทำนิคคหกรรมแต่ละอย่าง สรุปได้ดังนี้

       1. ตัชชนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรขู่ สงฆ์ลงตัชชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อเรื่องอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์

       2. นิยสกรรม แปลว่า กรรมคือการถอดยศ สงฆ์ลงนิยสกรรมแก่ภิกษุผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด มีอาบัติมาก ไม่มีมารยาท

       3. ปัพพาชนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรขับไล่ สงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายตระกูล มีมารยาทเลวทราม

       4. ปฏิสารณียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรให้กลับระลึกได้ สงฆ์ทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ด่าบริภาษคฤหัสถ์

       5. อุกเขปนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้ควรยกเสียจากหมู่ สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุผู้แม้ต้องอาบัติก็ไม่ปรารถนาจะเห็นว่าเป็นอาบัติ แม้ต้องอาบัติแล้วก็ไม่ปรารถนาจะทำคืน ( แสดง ) อาบัติ แม้มีทิฏฐิบาปก็ไม่ปรารถนาจะสละทิฏฐิบาปนั้น


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       นิคหกรรม ( อ่านว่า นิก-คะ-หะ-กำ ) แปลว่า การข่ม เป็นวิธีการลงโทษภิกษุตามพระธรรมวินัยเพื่อให้เข็ดหลาบ

       นิคหกรรม ใช้สำหรับลงโทษภิกษุผู้ทำเสียหาย เช่นก่อการทะเลาะวิวาทบาดหมาง ทำความอื้ฉาว มีศีลวิบัติ ติเตียนพระรัตนตรัย เล่นคะนอง ประพฤติอนาจาร ลบล้างพระบัญญัติ ประกอบมิจฉาชีพเป็นต้น

       นิคหกรรม เป็นกิจที่พึงทำอย่างหนึ่งของผู้ปกครองหมู่คณะ เป็นคำคู่กับปัคหะคือการยกย่อง ทั้งสองอย่างนี้เป็นเครื่องมือในการปกครอง มีความสำคัญเท่าๆ กัน ทั้งนี้เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งสงฆ์

       เมื่อมีผู้ประพฤติมิชอบ สมควรแก่นิคหกรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานอนุญาตให้สงฆ์ทำนิคหกรรมแก่ผู้นั้นตามพระธรรมวินัย 

       นิคหกรรม ในปัจจุบัน มีกฎของคณะสงฆ์เพื่อการนี้เรียกว่า กฎนิคหกรรม แต่ใช้ในกรณีความผิดที่ร้ายแรง หรือ คุรุกาบัติ และต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยเท่านั้น  


       วิธีการตัดสิน - นิคหกรรม ที่ระบุไว้ในพระธรรมวินัยมี 6 วิธี คือ

       1. ตัชนียกรรม ข่มไว้ด้วยการตำหนิโทษ

       2. นิยสกรรม ถอดยศ ทำให้หมดอำนาจหน้าที่ 

       3. ปัพพาชนียกรรม ขับไล่ออกจากหมู่คณะ ให้สึก 

       4. ปฏิสารณียกรรม บังคับให้ขอขมาเมื่อล่วงเกินคฤหัสถ์  

       5. อุกเขปนียกรรม ตัดสิทธิ์ที่จะพึงได้บางอย่าง 

       6. ตัสสาปาปิยสิกากรรม ลงโทษหนักกว่าความผิดฐานให้การกลับไปกลับมา 


- จบ -