คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง สมถขันธกะ : การให้สติวินัย
เรื่อง สมถขันธกะ : การให้สติวินัย
การให้สติวินัย
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 596 )
… นางรับคำของภิกษุทั้งสอง แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย
ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้ กลับมามีลมแรงขึ้น
หม่อมฉันถูกพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 597 )
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ … ทรงสอบถามว่า
ดูกรทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่ภิกษุณีนี้กล่าวหา
พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า
แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคตรัสถาม …
แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า
ดูกรทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่ภิกษุณีนี้กล่าวหา
พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า
ดูกรทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาเช่นนี้ ถ้าเธอทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ
พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว แม้โดยความฝัน ก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตื่นอยู่เล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และจงสอบสวนภิกษุเหล่านี้
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายให้ภิกษุณีเมตติยาสึกแล้ว จึงพระเมตติยะและพระภุมมชกะได้แถลงเรื่องนี้กะภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านอย่าให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสียเลย นางไม่ผิดอะไร พวกผมแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลลบุตรเคลื่อนจากพรหมจรรย์ จึงได้ให้นางใส่ไคล
ภิกษุทั้งหลายถามว่า ก็พวกคุณโจทท่านพระทัพพมัลลบุตร ด้วย ศีลวิบัติ ///// อันหามูลมิได้หรือ
ภิกษุทั้งสองนั้นรับว่า อย่างนั้น ขอรับ
บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย … ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน … ทรงสอบถาม … ทรงติเตียน … รับสั่งว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะโจททัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล จริงหรือ
จริง พระพุทธเจ้าข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงให้ สติวินัย ///// แก่ทัพพมัลลบุตรผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงให้อย่างนี้
ทัพพมัลลบุตรนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้า อุตราสงค์ ///// เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขอ ว่าดังนี้
* * * คำขอสติวินัย
ท่านเจ้าข้า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจทข้าพเจ้าด้วยศีลวิบัติ อันไม่มีมูล ข้าพเจ้านั้นถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์
พึงขอแม้ครั้งที่สอง …
พึงขอแม้ครั้งที่สาม
ท่านเจ้าข้า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจทข้าพเจ้าด้วยศีลวิบัติ อันไม่มีมูล ข้าพเจ้านั้นถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์ แม้ครั้งที่สาม
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 598 )
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วย ญัตติจตุตถกรรมวาจา ///// ว่าดังนี้
* * * กรรมวาจาให้สติวินัย
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจทท่านพระทัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ท่านพระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สติวินัย แก่ท่านพระทัพพมัลลบุตรผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว
นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจทท่านพระทัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติ อันไม่มีมูล ท่านพระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์
สงฆ์ให้สติวินัยแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว
การให้สติวินัยแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สอง …
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สาม
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจทท่านพระทัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติ อันไม่มีมูล
ท่านพระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์
สงฆ์ให้สติวินัยแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว
การให้สติวินัยแก่ท่านพระทัพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
สติวินัย อันสงฆ์ให้แล้วแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ จุลวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 6 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 4 : สมถขันธกะ / หัวข้อย่อยรองลงมา : สมถขันธกะ : การให้สติวินัย
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 742 , 743 , 744
- จบ -