Monday, March 21, 2022

อาบัติถุลลัจจัย

 

อาบัติถุลลัจจัย



       ถุลลัจจัย  “เลวอย่างหยาบ” อ่านว่า ถุน-ลัด-ไจ ประกอบด้วยคำว่า ถุลล + อัจจัย 

       ( 1 ) “ถุลล” 

       เขียนแบบบาลีเป็น “ถุลฺล” ( มีจุดใต้ ลฺ ตัวหน้า ) อ่านว่า ถุน-ละ รากศัพท์มาจาก ถูลฺ ( ธาตุ = เติบโต ) + ล ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ถู-( ลฺ )เป็น อุ ( ถูลฺ > ถุล ) 

       : ถูลฺ + ล = ถูลฺล > ถุลฺล แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เติบโต”

       ลบที่สุดธาตุ (ถูลฺ > ถู)ได้รูปเป็น “ถูล” ก็มี –


       : ถูลฺ + ล = ถูลฺล > ถูล 

       “ถุลฺล – ถูล” ( คุณศัพท์ ) ใช้ในความหมายดังนี้ – 

       ( 1 ) กระชับ , ใหญ่โต ( compact, massive ) 

       ( 2 ) หยาบ , ใหญ่เทอะทะ ( coarse, gross ) 

       ( 3 ) เบ้อเร่อ , แข็งแรง , เกะกะงุ่มง่าม ( big, strong, clumsy )  

       ( 4 ) ( มีคุณภาพ ) ต่ำ , ( กิริยาวาจา ) หยาบ ( low , unrefined , rough )

       ( 5 ) ( รูปร่าง ) อ้วน , ล่ำ ( stout , fat ) 

       ( 6 ) สามัญ ( common ) 


       บาลี “ถูล” และ “ถุลฺล” สันสกฤตเป็น “สฺถูล” 

       สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

       “สฺถูล : ( คำวิเศษณ์ ) อ้วน , มีเนื้อ , ใหญ่ ; โง่ , เขลา , โต , ใหญ่ ; หยาบ , ขี้เหร่ , ขี้ริ้ว ; fat , corpulent , bulky ; stupid , dull ; large , great ; coarse ; clumsy , ill-made or awkward.” 

       ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “ถุลฺล” เขียนแบบไทยเป็น “ถุลล” (ไม่มีจุดใต้ ล ตัวหน้า) 


       ในสำนวนบาลีมีข้อควรสังเกต : 

       “ถูล” มาคู่กับ “อณุ” ( อณุํ ถูลํ ) หมายถึง ใหญ่ ( คู่กับเล็ก ) , มาก ( คู่กับน้อย )  

       “ถูล” มาคู่กับ “กิส” ( กีส ) หมายถึง อ้วน ( คู่กับผอม )  

       “ถูล” หรือ “ถุลฺล” จะใช้ในความหมายอย่างไรจึงต้องดูบริบทด้วย 


       ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

       “ถุล-, ถุลละ : ( คำแบบ ) ( คำวิเศษณ์ ) อ้วน , พี ; หยาบ ( ป. ถูล , ถุลฺล ; ส. สฺถูล )” 


       ( 2 ) “อัจจัย”

       บาลีเป็น “อจฺจย” อ่านว่า อัด-จะ-ยะ รากศัพท์มาจาก อติ ( คำอุปสรรค = ยิ่ง , เกิน , ล่วง ) + อิ ( ธาตุ = ไป , เป็นไป ) + ณ ปัจจัย , ลบ ณ , แปลง ติ เป็น จฺจ ( อติ > อจฺจ ) , แปลง อิ ธาตุเป็น ย 

       : อติ + อิ = อติอิ + ณ = อติอิณ > อติอิ > อจฺจอิ > อจฺจย ( ปุงลิงค์ ) แปลตามศัพท์ว่า

       (1) “อาการที่ละเมิดเหยียบย่ำมรรยาทที่ดีเป็นไป”

       (2) “อาการเป็นเหตุให้ล่วงละเมิด” 



       “อจฺจย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

       ( 1 ) [ เกี่ยวกับเวลา ] ความล่วงไปหรือผ่านไป ; ความสิ้นสุด , ความสุดสิ้น , ความตาย [ temporal ] ( lapse , passing ; passing away , end , death ) 

       ( 2 ) ผ่านไปหรือเลยไป , ล่วงเลยไป , ชนะ ( passing or getting over , overcoming , conquering ) 

       ( 3 ) การออกนอก [ แบบอย่าง ] , อาบัติ , การล่วงละเมิด ( going beyond [ the norm ] , transgression , offence ) 

       ในที่นี้ “อจฺจย” ใช้ในความหมายตามข้อ ( 3 ) 

       บาลี “อจฺจย” ภาษาไทยทับศัพท์เป็น “อัจจัย” 


       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

       “อัจจัย : ( คำนาม ) การล่วงไป ; การล่วงเกิน , การดูหมิ่น ( ป. อจฺจย ; ส. อตฺยย )” 

       ถุลฺล + อจฺจย = ถุลฺลจฺจย ( ถุน-ลัด-จะ-ยะ ) แปลว่า “ความล่วงละเมิดที่หยาบ” หมายถึง อาบัติหยาบ , ความผิดที่ควรตำหนิอย่างหนัก ( a grave offence ) คือการกระทำที่คนปกติหรือภิกษุที่มีสภาพจิตใจเป็นปกติจะไม่ทำเช่นนั้น

       “ถุลฺลจฺจย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ถุลลัจจัย” ( ถุน-ลัด-ไจ ) 


       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

       “ถุลลัจจัย : ( คำนาม ) ชื่ออาบัติจำพวกหนึ่งในอาบัติทั้ง 7 จัดไว้ในพวกลหุกาบัติคืออาบัติเบาที่เปรียบด้วยลหุโทษ. ( ป. ).”


       ขยายความ : 

       “ถุลลัจจัย” เป็นชื่ออาบัติ คือ โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ 1 ใน 7 อย่าง

       อาบัติมี 7 ชื่อ มีความหมายตามลักษณะความผิด ( เพื่อเข้าใจง่าย ขอแปลแบบถอดความ ) ดังนี้ 

       ( 1 ) ปาราชิก = “แพ้ไล่ออก” 

       ( 2 ) สังฆาทิเสส = “ต้องให้สงฆ์สั่งสอน” 

       ( 3 ) ถุลลัจจัย = “เลวอย่างหยาบ” 

       ( 4 ) ปาจิตตีย์ = “ทำดีตกแตก” 

       ( 5 ) ปาฏิเทสนียะ = “รับสารภาพ” 

       ( 6 ) ทุกกฏ = “มารยาททราม” 

       ( 7 ) ทุพภาสิต = “ปากเสีย” 


       มาตรการลงโทษกำหนดไว้ดังนี้ ( ตัวเลขในวงเล็บคืออาบัติ ) 

       ( 1 ) ขาดจากความเป็นพระทันทีที่ทำ 

       ( 2 ) ที่ประชุมสงฆ์ลงโทษตามวิธีการที่กำหนด 

       ( 3-7 ) เปิดเผยความผิดต่อหน้าเพื่อนภิกษุด้วยกัน เรียกว่า “ปลงอาบัติ” 


       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ถุลลัจจัย” ไว้ดังนี้ 

       ถุลลัจจัย : “ความล่วงละเมิดที่หยาบ” , ชื่ออาบัติหยาบอย่างหนึ่ง เป็นความผิดขั้นรองลงมาจากอาบัติสังฆาทิเสส เช่น ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุชักสื่อบัณเฑาะก์ ( กะเทย ) ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุนุ่งห่มหนังเสืออย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย 


- จบ -