Thursday, March 31, 2022

วิวาทาธิกรณ์

 

วิวาทาธิกรณ์ 


มูลแห่งวิวาทาธิกรณ์

       อะไรเป็นมูลแห่งวิวาทาธิกรณ์

       รากแห่งการเถียงกัน 6 อย่าง เป็นมูลแห่งวิวาทาธิกรณ์

       รากแห่งอกุศลทั้ง 3 เป็นมูลแห่งวิวาทาธิกรณ์  /  รากแห่งกุศลทั้ง 3 เป็นมูลแห่งวิวาทาธิกรณ์ 

       รากแห่งการเถียงกัน 6 อย่าง เป็นมูลแห่งวิวาทาธิกรณ์ เป็นไฉน 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักโกรธ เป็นผู้ถือโกรธ ภิกษุที่มักโกรธถือโกรธนั้น ย่อมไม่มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์อยู่ ย่อมไม่ทำให้บริบูรณ์ แม้ในสิกขา

       ภิกษุที่ไม่มีความ เคารพ ยำเกรง ในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ แม้ในสิกขาก็ไม่ทำ ให้บริบูรณ์นั้น ย่อมยังวิวาทให้เกิดในสงฆ์ 

       การวิวาทย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก เพื่อไม่เป็นสุขแก่ชนมาก เพื่อความพินาศแก่ชนมาก เพื่อความไม่เกื้อกูลเพื่อทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอเล็งเห็นรากแห่งการเถียงกันเห็นปานนี้ทั้งภายในและภายนอกได้ พวกเธอในบริษัทนั้นพึงพยายามละรากแห่งการเถียงกันอันลามกนั้นแหละเสีย 

       ถ้าพวกเธอไม่เล็งเห็นรากแห่งการเถียงกันเห็นปานนี้ ทั้งภายในและภายนอก พวกเธอในบริษัทนั้นพึงปฏิบัติเพื่อความยืดยาวไปแห่งรากแห่งการเถียงกันอันลามกนั้นแหละ

       ความละรากแห่งการเถียงกันอันลามกนั้น ย่อมมีด้วยอย่างนี้

       ความยืดเยื้อแห่งรากแห่งการ เถียงกันอันลามกนั้นย่อมมีต่อไปด้วยอย่างนี้ ฯ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้ออื่นยังมีอีก 

       ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ตีเสมอท่าน ... 

       ภิกษุเป็นผู้มีปรกติอิสสา ตระหนี่ ... 

       ภิกษุเป็นผู้อวดดี เจ้ามายา ... 

       ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด ... 

       ภิกษุเป็นผู้ถือแต่ความเห็นของตน ถืออย่างแน่นแฟ้น ปลดได้ยาก ภิกษุผู้ที่ถือแต่ความเห็นของตน ถืออย่างแน่นแฟ้น ปลดได้ยากนั้น ย่อมไม่มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์อยู่ ย่อมไม่ทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา

       ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์อยู่ แม้ในสิกขาก็ไม่ทำให้บริบูรณ์นั้น ย่อมยังวิวาทให้เกิดในสงฆ์ การวิวาทย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก เพื่อไม่เป็นสุขแก่ชนมาก เพื่อความพินาศแก่ชนมาก เพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทพยดา และมนุษย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย 

       ถ้าพวกเธอเล็งเห็นรากแห่งการเถียงกันเห็นปานนี้ทั้งภายในและภายนอกได้ พวกเธอในบริษัทนั้นพึงพยายามละรากแห่งการเถียงกันอันลามกนั้นแหละเสีย 

       ถ้าพวกเธอไม่เล็งเห็นรากแห่งการเถียงกันเห็นปานนี้ ทั้งภายในและภายนอก พวกเธอในบริษัทนั้นพึงปฏิบัติเพื่อความยืดเยื้อแห่งรากแห่งการเถียงกันอันลามกนั้น ย่อมมีด้วยอย่างนี้ 

       ความยืดเยื้อแห่งรากแห่งการเถียงกันอันลามกนั้นย่อมมีต่อไปด้วยอย่างนี้ รากแห่งการวิวาท 6 อย่างนี้ เป็นมูลแห่งวิวาทาธิกรณ์ ฯ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       สำหรับคำว่า “อธิกรณ์” นั้น หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ หรือต้องชำระสะสางให้แล้วเสร็จ เพื่อทำให้เกิดความสงบสุขในหมู่คณะ 

       ที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี 4 อย่าง คือ 

       1. วิวาทาธิกรณ์ หมายถึง การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย 

       2. อนุวาทาธิกรณ์ หมายถึง การโจทย์และกล่าวหากันด้วยอาบัติ  

       3. อาปัตตาธิกรณ์ หมายถึง การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ 

       4. กิจจาธิกรณ์ หมายถึง กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์ต้องทำ เช่น การให้อุปสมบท ซึ่งสงฆ์ต้องทำร่วมกัน 


       ทั้ง 4 อย่าง ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนวิธีการรักษาพระธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ให้ดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง เพื่อการสืบอายุของพระพุทธศาสนาให้สืบเนื่องต่อไป โดยการร่วมกันรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ ดำรงเป็นฐานหลักลงในชีวิตของพระภิกษุ และคณะสงฆ์ทั้งหมดอย่างแนบแน่นมั่นคงและต่อเนื่อง เพื่อสถาปนาองค์กรพระพุทธศาสนาให้มั่นคงเข้มแข็ง 

       ดังนั้น ในพระพุทธศาสนาของเราที่สืบเนื่องมาได้ เพราะพระสงฆ์และอุบาสก อุบาสิกา ร่วมกันรับผิดชอบถวายการดูแลโดยการประพฤติปฏิบัติบูชา ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติชอบโดยธรรม สมควรแก่ธรรม หรือ ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้ดีแล้ว ซึ่งหากมี “ข้ออธิกรณ์” หรือมีเรื่องที่เกิดขึ้น เช่น กรณีมีความเห็นแตกต่างกันอันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ที่เรียกว่า “วิวาทาธิกรณ์”

       สงฆ์ก็จะต้องประชุมเพื่อรีบระงับอธิกรณ์นั้นๆ หรือยุติอธิกรณ์นั้นโดยเร็ว เช่น กรณีที่กล่าวถึงปาฏิโมกข์สังวรศีล อันเป็นศีลของภิกษุว่า มีเพียง 150 ข้อ จากจำนวน 227 ข้อ ตามแบบแผนดั้งเดิมที่คณะสงฆ์ไทยถือกันมา ซึ่งพระสงฆ์ทำอุโบสถทุกกึ่งเดือน ที่กล่าวว่า สวดปาฏิโมกข์มี 227 ข้อ หรือ 227 สิกขาบท อันได้แก่ ปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 2 ปาฏิเทสนียะ 4 เสขิยสัท 75 อธิกรณสมถะ 7 

       จากความเข้าใจที่แตกต่างกันในพระธรรมวินัยของพระภิกษุ หากไม่รีบแก้ไข หรือ ยุติปัญหา ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ย่อมเป็นจุดอันตรายอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนา ดังเหตุการณ์ที่เคยมีมาจากในอดีต ซึ่งต้องมีการสังคายนาชำระสะสางพระไตรปิฎกกันหลายครั้งหลายหน เพื่อทำความเป็นหนึ่งเดียวกันให้เกิดขึ้นในสงฆ์ ด้วยพระธรรมวินัยที่เป็นอันเดียวกัน


- จบ -