Monday, March 21, 2022

อาบัติทุกกฏ

 

อาบัติทุกกฏ



       ทุกกฏ คือ  “ทำไม่ดี” ซึ่งเป็นชื่ออาบัติเบาอย่างหนึ่ง เป็นความผิดถัดรองลงมาจากปาฏิเทสนียะ 

       เช่น ภิกษุสวมเสื้อ สวมหมวก ใช้ผ้าโพกศีรษะ ต้องอาบัติทุกกฏ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       อาบัติ คือ การตกไป ตกไปจากความดีนั่นเองเป็นโทษ ที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อ ( พระวินัยบัญญัติ ) ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้าม

       กล่าวโดยชื่อ อาบัติมี 7 อย่าง คือ 

       1 ปาราชิก 

       2  สังฆาทิเสส 

       3. ถุลลัจจัย 

       4. ปาจิตตีย์ 

       5. ปาฏิเทสนียะ 

       6. ทุกกฏ 

       7. ทุพภาสิต 


กล่าวโดย โทษมี 2 สถาน คือ 

       1. อาบัติอย่างหนัก ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้น ขาดจากความเป็นภิกษุ อันหมายถึง ปาราชิก ซึ่งเป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ เรียกว่า อเตกิจฉา และอาบัติอย่างหนักอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นต้องอยู่กรรม ( ปริวาส หรือมานัต ) โดยประพฤติวัตรอย่างหนึ่งเพื่อทรมานตน อันหมายถึง สังฆาทิเสส สังฆาทิเสส เป็นอาบัติอย่างหนักที่ยังสามารถแก้ไขได้ เป็น อเตกิจฉา 

       2. อาบัติอย่างเบา ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นต้องประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน แล้วจึงจะพ้นโทษนั้นได้ อันได้แก่ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต โดยอาบัติอย่างกลางและอย่างเบานั้น เป็นอาบัติที่ยังแก้ไขได้ เรียกว่า สเตกิจฉา 


       ความหมายของอาบัติแต่ละอย่าง 

       ( 1 ) อาบัติปาราชิก ผู้พ่ายแพ้ ขาดจากความเป็นภิกษุ 

       ( 2 ) อาบัติสังฆาทิเสส ต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัติ 

       ( 3 ) อาบัติถุลลัจจัย อาบัติที่เกิดจากการกระทำที่หยาบคาย 

       ( 4 ) อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติที่ทำให้ความดีงามตกไป 

       ( 5 ) อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติที่ต้องแสดงคืน 

       ( 6 ) อาบัติทุกกฏ อาบัติที่เกิดจากการทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสม 

       ( 7 ) อาบัติทุพภาสิต อาบัติที่เกิดจากการพูดไม่ดีไม่เหมาะสม 


       เมื่อว่าโดยศัพท์แล้ว ทุกกฏ หมายถึง การกระทำไม่ดี การกระทำไม่สมควร การกระทำผิด ตามข้อความที่ว่า

       พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ ๖๒๒

       จริงอยู่ กรรมใด อันบุคคลทำไม่ดี หรือ ทำผิดรูป กรรมนั้น ชื่อว่าทุกกฏ. ก็ทุกกฏนั้นแล ชื่อว่าผิด เพราะเหตุที่ไม่ทำตามประการที่พระศาสดาตรัส ชื่อว่าแย้ง เพราะเป็นไปแย้งกุศล ชื่อว่าพลาด เพราะไม่ย่างขึ้นสู่ข้อปฏิบัติในอริยมรรค 

       อาบัติทุกกฏ เป็นอาบัติที่เบา เมื่อต้องเข้าแล้ว ก็สามารถแก้ไขได้ตามพระวินัยด้วยแสดงแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน ด้วยการมีความจริงใจที่จะสำรวมระวังต่อไป แต่ถ้าไม่แก้ไขด้วยการปลงอาบัติ ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพานกั้นสุคติภูมิ ด้วยครับ    


* * * * * * *

       ความเป็นบรรพชิต รักษายากมาก ต้องเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปจริงๆ ถึงจะรักษาได้ ทำให้ตนเองดำรงมั่นในพระธรรมวินัย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย รักษาความเป็นบรรพชิต ไม่ได้ หรือ รักษาไม่ดี ล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่ามีแต่จะฉุดคร่าผู้นั้นไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ( ถ้าไม่สำนึกแล้วแก้ไขให้เป็นไปตามพระวินัย ) หากมรณภาพลง ( ตาย ) ในขณะที่ยังมีอาบัติติดตัว ก็คือ ชาติต่อไป เกิดในอบายภูมิ เท่านั้น ซึ่งเป็นอันตรายมาก จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ได้ หรือ จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็แสดงถึงความเป็นผู้ไม่เคารพยำเกรงในสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ทรงบัญญัติพระวินัยด้วยพระองค์เอง ที่บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะบัญญัติได้ 

       อาบัติทุกกฏ แม้จะเป็นอาบัติเบา เช่น นุ่งห่มไม่เรียบร้อย ส่งเสียงดังในละแวกบ้าน พูดในขณะที่คำข้าวอยู่ในปาก เป็นต้น เป็นอาบัติทุกกฏ แต่ก็มีโทษ เพราะเป็นการกระทำที่ผิด เป็นการกระทำที่ไม่ดี เนื่องจากไม่ได้น้อมประพฤติตามพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เป็นการกระทำที่แย้งต่อกุศลธรรม เป็นการกระทำที่พลาด เพราะไม่สามารถย่างขึ้นสู่ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ กล่าวได้ว่า เป็นโทษโดยส่วนเดียว ครับ 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       ทุกกฏ แปล ว่า ( ทำไม่ดี ) กรรมใดผิดพลั้งและพลาด กรรมนั้นชื่อว่าทำไม่ดี คนทำชั่วอันใดในที่แจ้งหรือในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลายย่อมติเตียนว่าเป็นคนทำชั่ว ทำไม่ดี ทำผิด เพราะเหตุนั้น กรรมนั้นจึงเรียกว่าทุกกฏ เป็นอาบัติเบา ส่วนมากเกี่ยวกับมารยาทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม

       สมพระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม 8 - หน้าที่ 622

       จริงอยู่ กรรมใด อันบุคคลทำไม่ดี หรือ ทำผิดรูป กรรมนั้น ชื่อว่าทุกกฏ 

       ก็ทุกกฏนั้นแล ชื่อว่าผิด เพราะเหตุที่ไม่ทำตามประการที่พระศาสดาตรัส ,

       ชื่อว่าแย้ง เพราะเป็นไปแย้งกุศล , 

       ชื่อว่าพลาด เพราะไม่ย่างขึ้นสู่ข้อปฏิบัติในอริยมรรค  


- จบ -