เยภุยยสิกา
เยภุยยสิกา ( อ่านว่า เย-พุย-ยะ-สิ-กา ) กิริยาเป็นไปตามข้างมาก
ได้แก่ วิธีตัดสินอธิกรณ์โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก
เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่า ก็ถือเอาพวกข้างนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการโหวตคะแนนเสียง , ใช้สำหรับระงับวิวาทาธิกรณ์ ;
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เยภุยสิกา - น. เป็นไปโดยมาก , เป็นไปชุกชุม , ความเห็นข้างมาก , ( ศน. ) การตัดสินตามเสียงข้างมาก , การตัดสินตามพระวินัยมีอยู่วิธีหนึ่ง เรียกว่า เยภุยสิกา คือใช้วิธีถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่วิธีนี้ใช้เฉพาะญัตติที่ชอบด้วยพระวินัยทั้ง 2 ทาง แต่ให้ที่ประชุมเลือกเอาทางหนึ่ง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ยภุยสิกา
ไม่ใช่พวกมากลากไป
อ่านว่า เย-พุย-ยะ-สิ-กา
“เยภุยสิกา” เขียนแบบบาลีเป็น “เยภุยฺยสิกา” ( ย 2 ตัว มีจุดใต้ ยฺ ตัวหน้า ) อ่านว่า เย-พุย-ยะ-สิ-กา
( 1 ) คำที่เป็นหลักคือ “เยภุยฺย” ( เย-พุย-ยะ ) ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีตำราที่อธิบายถึงรากศัพท์ตรงๆ อยู่ในมือ แต่สนนิษฐานตามนัยที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงไว้ ศัพท์นี้มาจาก ย-ศัพท์ ( = ใด) แจกรูปเป็น เย + ภู ( ธาตุ = มี , เป็น ) + ย ปัจจัย, รัสสะ อู เป็น อุ, ซ้อน ย
: ย > เย + ภู + ยฺ + ย = เยภูยฺย > เยภุยฺย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งใดๆ ที่มีขึ้น”
นักเรียนบาลีท่านใดมีตำราแสดงรากศัพท์ ขอความกรุณาเข้ามาแก้ไขให้ถูกต้อง จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
“เยภุยฺย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
( 1 ) เกือบทั้งหมด , รวม ๆ กันหมด , เกือบเหมือน ; ส่วนใหญ่ ( almost all , altogether , practically ; mostly )
( 2 ) ตามที่เกิดหรือที่ปรากฏ , ตามปกติ , เป็นบางครั้งบางคราว , ตามกฎ , ตามธรรมดา ( as it happens or happened , usually , occasionally , as a rul , ordinarily )
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้เป็น “เยภุย-” ( มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย ) และ “เยภุยยะ” บอกไว้ว่า –
“เยภุย-, เยภุยยะ : ( คำวิเศษณ์ ) มาก, ชุกชุม. ( ป. ).”
( 2 ) คัมภีร์อัตถโยชนา ( อธิบายศัพท์ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ) ภาค 2 หน้า 413 อธิบายไว้ว่า เยภุยฺย ลง ส อาคม + อิก ปัจจัย
: เยภุยฺยย + ส + อิก = เยภุยฺยสิก ( เย-พุย-ยะ-สิ-กะ )
ต่อจากนี้ เยภุยฺยสิก + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = เยภุยฺยสิกา ( เย-พุย-ยะ-สิ-กา ) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นไปกับด้วยเสียงส่วนมาก”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้เป็น “เยภุยสิกา” ( ย ตัวเดียว ) บอกไว้ว่า –
“เยภุยสิกา : ( คำนาม ) ความเห็นข้างมาก. ( ป. เยภุยฺยสิกา ).”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เก็บคำนี้เป็น “เยภุยยสิกา” ( ย 2 ตัว ) อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
เยภุยยสิกา : กิริยาเป็นไปตามข้างมากได้แก่ วิธีตัดสินอธิกรณ์ โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่า ก็ถือเอาพวกข้างนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการโหวตคะแนนเสียง , ใช้สำหรับระงับวิวาทาธิกรณ์ ; ดู อธิกรณสมถะ
…………..
ที่คำว่า “อธิกรณสมถะ” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
อธิกรณสมถะ : ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์ , วิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์ มี 7 วิธี คือ
1. สัมมุขาวินัย วิธีระงับในที่พร้อมหน้า
2. สติวินัย วิธีระงับโดยถือสติเป็นหลัก
3. อมูฬหวินัย วิธีระงับสำหรับผู้หายจากเป็นบ้า
4. ปฏิญญาตกรณะ การทำตามที่รับ
5. ตัสสปาปิยสิกา การตัดสินลงโทษแก่ผู้ผิด ( ที่ไม่รับ )
6. เยภุยยสิกา การตัดสินตามคำของคนข้างมาก
7. ติณวัตถารกวินัย วิธีดุจกลบไว้ด้วยหญ้า ( ประนีประนอม )
…………..
แถม :
คำว่า “คำของคนข้างมาก” ในพระธรรมวินัยไม่ได้หมายความอย่างที่มักพูดกันว่า “พวกมากลากไป” ผิด-ถูก ชั่ว-ดี ไม่คำนึง
คัมภีร์อัตถโยชนาดังอ้างข้างต้น ให้คำจำกัดความไว้ว่า –
…………..
ธมฺมวาทีนํ เยภุยฺยภาวํ นิสฺสิตา สมถกิริยา เยภุยฺยสิกา.
แปลความว่า – เยภุยยสิกา คือกระบวนการระงับอธิกรณ์ที่อิงอาศัยเสียงข้างมากของเหล่าบุคคลผู้พูดตรงตามธรรมหรือพูดถูกต้องตามหลักธรรม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยกเสียงข้างมากของโจรขึ้นมาคุย
: นั่นไม่ใช่เยภุยสิกา
- จบ -