อาบัติทุพภาสิต
ทุพภาสิต “ปากเสีย” อ่านว่า ทุบ-พา-สิด
“ทุพภาสิต” เขียนแบบบาลีเป็น “ทุพฺภาสิต” ( มีจุดใต้ พฺ ) อ่านว่า ทุบ-พา-สิ-ตะ ประกอบด้วย ทุ + ภาสิต
( 1 ) “ทุ”
เป็นคําอุปสรรค ( อุปสรรค : คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง ) มีความหมายว่า ชั่ว , ผิด , ยาก , ลําบาก , ทราม , การใช้ไปในทางที่ผิด , ความยุ่งยาก, ความเลว ( bad , wrong , perverseness , difficulty , badness )
“ทุ” อุปสรรคคำนี้นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ทุ: ชั่ว , ยาก , ลําบาก , ทราม , น้อย”
( 2 ) “ภาสิต”
บาลีอ่านว่า พา-สิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ภาสฺ ( ธาตุ = พูด ) + อิ อาคมท้ายธาตุ + ต ปัจจัย
: ภาสฺ + อิ + ต = ภาสิต แปลตามศัพท์ว่า “คำที่พึงพูด”
“ภาสิต” ตามรูปศัพท์เป็นคำกริยาอดีตกาล ( past participle ) กรรมวาจก แปลว่า “( คำ อันเขา ) กล่าวแล้ว” หมายถึง คำหรือเรื่องราวที่ถูกกล่าว , พูด , เอ่ย ( spoken , said , uttered )
แต่ “ภาสิต” สามารถใช้เป็นคำนามก็ได้ด้วย แปลว่า คำพูด , ถ้อยคำ ( speech , word )
บาลี “ภาสิต” ( ส เสือ ) ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ภาษิต” ( ษ ฤๅษี )
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาษิต : ( คำนาม ) ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายเป็นคติ เช่น กงเกวียนกำเกวียน. ( ส. )”
ทุ + ภาสิต ซ้อน พฺ ตามกฎการซ้อนพยัญชนะ คือซ้อนพยัญชนะในวรรคเดียวกันที่อยู่หน้าพยัญชนะแรกของศัพท์หลัง
“พยัญชนะแรกของศัพท์หลัง” ในที่นี้คือ “ภ”
พยัญชนะในวรรคเดียวกันที่มี “ภ” คือ ป ผ พ ภ ม
พยัญชนะที่อยู่หน้า ภ คือ “พ”
เพราะฉะนั้น: ทุ + พฺ + ภาสิต = ทุพฺภาสิต ( ทุบ-พา-สิ-ตะ ) แปลตามศัพท์ว่า “พูดชั่ว” หรือ “คำที่พูดชั่ว”
“ทุพฺภาสิต” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทุพภาสิต” ( ไม่มีจุดใต้ พ และคงใช้ ส เสือ ตามรูปบาลี ) อ่านว่า ทุบ-พา-สิด
ขยายความ :
“ทุพภาสิต” เป็นชื่ออาบัติ คือ โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ 1 ใน 7 อย่าง
อาบัติมี 7 ชื่อ มีความหมายตามลักษณะความผิด ( เพื่อเข้าใจง่าย ขอแปลแบบถอดความ ) ดังนี้
( 1 ) ปาราชิก = “แพ้ไล่ออก”
( 2 ) สังฆาทิเสส = “ต้องให้สงฆ์สั่งสอน”
( 3 ) ถุลลัจจัย = “เลวอย่างหยาบ”
( 4 ) ปาจิตตีย์ = “ทำดีตกแตก”
( 5 ) ปาฏิเทสนียะ = “รับสารภาพ”
( 6 ) ทุกกฏ = “มารยาททราม”
( 7 ) ทุพภาสิต = “ปากเสีย”
มาตรการลงโทษกำหนดไว้ดังนี้ ( ตัวเลขในวงเล็บคืออาบัติ )
( 1 ) ขาดจากความเป็นพระทันทีที่ทำ
( 2 ) ที่ประชุมสงฆ์ลงโทษตามวิธีการที่กำหนด
( 3-7 ) เปิดเผยความผิดต่อหน้าเพื่อนภิกษุด้วยกัน เรียกว่า “ปลงอาบัติ”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ทุพภาสิต” ไว้ดังนี้
ทุพภาสิต : “พูดไม่ดี” “คำชั่ว” “คำเสียหาย” ชื่ออาบัติเบาที่สุดที่เกี่ยวกับคำพูด เป็นความผิดในลำดับถัดรองจากทุกกฏ เช่น ภิกษุพูดกับภิกษุที่มีกำเนิดเป็นจัณฑาล ว่าเป็นคนชาติจัณฑาล ถ้ามุ่งว่ากระทบให้อัปยศ ต้องอาบัติทุกกฏ แต่ถ้ามุ่งเพียงล้อเล่น ต้องอาบัติทุพภาสิต
- จบ -