คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ 10 เกี่ยวกับการคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
เรื่อง สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ 10 เกี่ยวกับการคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 673 )
ดูกรกัณฑกะ ข่าวว่า เธอมีทิฏฐิอันทรามเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้ จริงหรือ
ดูกรโมฆบุรุษ เพราะเหตุใด เจ้าจึงเข้าใจธรรมที่เราแสดงแล้วเช่นนั้นเล่า
ธรรมอันทำอันตรายเรากล่าวไว้โดยบรรยายเป็นอันมากมิใช่หรือ
และธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนร่างกระดูก ...
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ...
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนคบหญ้า ...
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ...
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนความฝัน ...
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนของยืม ...
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนผลไม้ ...
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนเขียงสำหรับสับเนื้อ ...
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนแหลนหลาว ...
กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนศีรษะงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก
ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิที่ตนยึดถือไว้ผิด
ชื่อว่าทำลายตนเอง และชื่อว่าประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
ข้อนั้นแหละจักเป็นไปเพื่อผลไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อผลเป็นทุกข์แก่เจ้า ตลอดกาลนาน…
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงนาสนะสมณุทเทสกัณฑกะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงนาสนะอย่างนี้ ว่าดังนี้
เจ้ากัณฑกะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เจ้าอย่าอ้างพระผู้มีพระภาคนั้นว่าเป็นศาสดาของเจ้า
และสมณุทเทสอื่นๆ ย่อมได้การนอนด้วยกันเพียง 2 - 3 คืนกับภิกษุทั้งหลายอันใด แม้กิริยาที่ได้การนอนร่วมนั้นไม่มีแก่เจ้า
เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย
สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ 10
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 674 )
สะมะณุทเทโสปิ เจ เอวัง วะเทยยะ “ตะถาหังภะคะวะตา…
188.ถ้าแม้สมณุทเทสกล่าวอย่างนี้ว่า
ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่
สมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่า กล่าวอย่างนี้ว่า
อาวุโสสมณุทเทส เธออย่าได้พูดอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีดอก
พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย
อาวุโสสมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก
ก็แลธรรมเหล่านั้น อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง
และสมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ขืนถืออยู่อย่างนั้นเทียว
สมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่า กล่าวอย่างนี้ว่า
แน่ะอาวุโสสมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคนั้น ว่าเป็นพระศาสดาของเธอตั้งแต่วันนี้ไป
และพวกสมณุทเทสอื่นย่อมได้การนอนร่วมเพียง 2 - 3 คืนกับภิกษุทั้งหลายอันใด
แม้กิริยาที่ได้การนอนร่วมนั้น ไม่มีแก่เธอ
เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย
อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้นแล้วให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี
เป็นปาจิตตีย์
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ปาจิตตีย์ วรรคที่ 7 จบ
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : สมฺปนฺนปาติโมกฺขา ปาติโมกฺขสํวรสํวุตา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวิภังค์ ภาค 2 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 2 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : กัณฑ์ที่ 2 : ปาจิตติยกัณฑ์ / หัวข้อย่อยรองลงมา : สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ 10 เกี่ยวกับการคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 129 , 130 , 131
- END -