คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง มหาขันธกะ : ข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี
เรื่อง มหาขันธกะ : ข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี
ข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
1.ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าบ้านเช้าเกินไป กลับสายเกินไป แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
2.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร มีหญิงหม้ายเป็นโคจร มีสาวเทื้อเป็นโคจร มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร หรือมีภิกษุณีเป็นโคจร
แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
3.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่ขยัน เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อน สพรหมจารี ทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยปัญญาพิจารณาสอดส่องในการนั้น ไม่อาจทำ ไม่อาจจัดการ แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
4.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่สนใจในการเรียนบาลี ในการเรียน อรรถกถา ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา * * * ( 1 )
แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) ในส่วนนี้มีบาลีว่า “น ติพฺพจฺฉนฺโท โหติ อุทฺเทเส ปริปุจฺฉาย อธิสีเล อธิจิตฺเต อธิปญฺญาย ฯ”
ซึ่งในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาฯ พ.ศ.2535 แปลว่า เป็นผู้ไม่มีฉันทะแรงกล้าในอุทเทส ในปริปุจฉา ในอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา คัมภีร์อรรถกถา ( วิ.อ. 3/87/53 ) ได้ให้ความเห็นว่า อุทเทส หมายถึง การเรียนบาลี ปริปุจฉา หมายถึง อรรถกถา
ส่วนพจนานุกรมได้ให้ความหมายว่า อุทเทส หมายถึง การยกขึ้นแสดง , การชี้แจง , การบรรยาย เป็นต้น
ปริปุจฉา หมายถึง การถาม – ผู้รวบรวม
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : มหาขันธกะ / หัวข้อย่อยรองลงมา : มหาขันธกะ : ข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 220 , 221
- END -