Monday, June 28, 2021

มหาขันธกะ : ว่าด้วยการประณาม

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง มหาขันธกะ : ว่าด้วยการประณาม




ว่าด้วยการประณาม 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 95 ) 


       47.…ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก จะไม่ประพฤติชอบในอาจารย์ไม่ได้ 

       รูปใดไม่ประพฤติชอบ ต้องอาบัติทุกกฏ 


       48.…ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประณาม อันเตวาสิก ผู้ไม่ประพฤติชอบ 


* * * วิธีประณาม 

       49.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาจารย์พึงประณาม อันเตวาสิก อย่างนี้ว่า

       ฉันประณามเธอ เธออย่าเข้ามา ณ ที่นี้ เธอจงขนบาตรจีวรของเธอออกไปเสีย หรือพึงประณามว่า เธอไม่ต้องอุปัฏฐากฉัน

       ดังนี้ก็ได้ 

       อาจารย์ย่อมยัง อันเตวาสิก ให้รู้ด้วยกายก็ได้ ให้รู้ด้วยวาจาก็ได้ ให้รู้ด้วยทั้งกายและวาจาก็ได้

       อันเตวาสิก ชื่อว่าเป็นอันถูกประณามแล้ว

       ถ้ามิให้รู้ด้วยกาย มิให้รู้ด้วยวาจา มิให้รู้ด้วยทั้งกายและวาจา 

       อันเตวาสิก ไม่ชื่อว่าถูกประณาม 


       สมัยต่อมา พวก อันเตวาสิก ถูกประณามแล้ว ไม่ขอให้อาจารย์อดโทษ

       ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

       พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 

       50.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ อันเตวาสิก ขอให้อาจารย์ อดโทษ 


       51.…ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก ถูกประณามแล้ว จะไม่ขอให้อาจารย์อดโทษไม่ได้

       รูปใดไม่ขอให้อาจารย์อดโทษ ต้องอาบัติทุกกฏ 


       สมัยต่อมา อาจารย์ทั้งหลายอันเหล่า อันเตวาสิก ขอให้อดโทษอยู่ ก็ไม่ยอมอดโทษ … ตรัสว่า 

       52.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาจารย์อดโทษ 


       53.…ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์อันพวก อันเตวาสิก ขอให้อดโทษอยู่ จะไม่ยอมอดโทษไม่ได้

       รูปใดไม่ยอมอดโทษ ต้องอาบัติทุกกฏ 


       สมัยต่อมา อาจารย์ทั้งหลายประณาม อันเตวาสิก ผู้ประพฤติชอบ ไม่ประณาม อันเตวาสิก ผู้ประพฤติมิชอบ … ตรัสว่า 

       54.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก ผู้ประพฤติชอบ อาจารย์ไม่พึงประณาม

       รูปใดประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ 


       55.แต่ อันเตวาสิก ผู้ประพฤติมิชอบ อาจารย์จะไม่ประณามไม่ได้

       รูปใดไม่ประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ 


* * * องค์แห่งการประณาม 

       56.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณาม อันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วย องค์ 5 คือ

       1.หาความรักใคร่อย่างยิ่งในอาจารย์มิได้ 

       2.หาความเลื่อมใสอย่างยิ่งมิได้ 

       3.หาความละอายอย่างยิ่งมิได้ 

       4.หาความเคารพอย่างยิ่งมิได้ 

       5.หาความหวังดีต่ออย่างยิ่งมิได้ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณาม อันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล 


       57.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณาม อันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วยองค์ 5 คือ 

       1.มีความรักใคร่อย่างยิ่งในอาจารย์ 

       2.มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง 

       3.มีความละอายอย่างยิ่ง 

       4.มีความเคารพอย่างยิ่ง

       5.มีความหวังดีต่ออย่างยิ่ง 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณาม อันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล 


       58.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วยองค์ 5 ควรประณามคือ 

       1.หาความรักใคร่อย่างยิ่งในอาจารย์มิได้ 

       2.หาความเลื่อมใสอย่างยิ่งมิได้

       3.หาความละอายอย่างยิ่งมิได้ 

       4.หาความเคารพอย่างยิ่งมิได้ 

       5.หาความหวังดีต่ออย่างยิ่งมิได้ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล ควรประณาม 


       59.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วยองค์ 5 ไม่ควรประณาม คือ

       1.มีความรักใคร่อย่างยิ่งในอาจารย์ 

       2.มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง 

       3.มีความละอายอย่างยิ่ง 

       4.มีความเคารพอย่างยิ่ง 

       5.มีความหวังดีต่ออย่างยิ่ง 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล ไม่ควรประณาม 


       60.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ 5 อาจารย์เมื่อไม่ประณาม มีโทษ เมื่อประณาม ไม่มีโทษ คือ

       1.หาความรักใคร่อย่างยิ่งในอาจารย์มิได้ 

       2.หาความเลื่อมใสอย่างยิ่งมิได้ 

       3.หาความละอายอย่างยิ่งมิได้ 

       4.หาความเคารพอย่างยิ่งมิได้

       5.หาความหวังดีต่ออย่างยิ่งมิได้ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล อาจารย์เมื่อไม่ประณาม มีโทษ เมื่อประณาม ไม่มีโทษ 


       61.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ 5  อาจารย์เมื่อประณาม มีโทษ เมื่อไม่ประณาม ไม่มีโทษ คือ

       1.มีความรักใคร่อย่างยิ่งในอาจารย์

       2.มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง 

       3.มีความละอายอย่างยิ่ง 

       4.มีความเคารพอย่างยิ่ง 

       5.มีความหวังดีต่ออย่างยิ่ง 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก ผู้ประกอบด้วยองค์ 5 นี้แล อาจารย์เมื่อประณาม มีโทษ เมื่อไม่ประณาม ไม่มีโทษ 


* * * การให้นิสสัย 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 92 ) 


       62.…ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ไม่พึงให้นิสสัย รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฏ 


       63.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ มีพรรษาได้ 10 หรือมีพรรษาเกิน 10 ให้นิสสัย 


* * * นิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์และอาจารย์ 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 97 ) 


       64.…ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌายะ 5 อย่างดังนี้ คือ 

       1.อุปัชฌายะหลีกไป 

       2.สึกเสีย 

       3.ถึงมรณภาพ 

       4.ไปเข้ารีดเดียรถีย์ 

       5.สั่งบังคับ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌายะ 5 อย่างนี้แล 


       65.ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ 6 อย่าง ดังนี้ คือ 

       1.อาจารย์หลีกไป 

       2.สึกเสีย

       3.ถึงมรณภาพ 

       4.ไปเข้ารีดเดียรถีย์ 

       5.สั่งบังคับ 

       6.ไปร่วมเข้ากับอุปัชฌายะ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ 6 อย่างนี้แล 


* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : มหาขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : มหาขันธกะ : ว่าด้วยการประณาม 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 199 , 200 , 201 , 202 , 203 



- END -