Friday, June 25, 2021

มหาขันธกะ : การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง มหาขันธกะ : การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม 



การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 85 ) 


       24.…ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราห้ามการอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ซึ่งเราได้อนุญาตไว้ * * * ( 1 )  


       25. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม 


วิธีให้อุปสมบท * * * ( 2 )

       26.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พวกเธอพึงให้อุปสมบทอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติจตุตถกรรม วาจา ว่าดังนี้


* * * กรรมวาจาให้อุปสมบท 

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะ ของท่านผู้มีชื่อนี้

       ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้วสงฆ์พึงอุปสมบท ผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ

       นี่เป็นญัตติ 

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะ ของท่านผู้มีชื่อนี้

       สงฆ์อุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ 

       การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด  


       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สอง

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า 

       ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้

       สงฆ์อุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ

       การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด


       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สาม

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ผู้มีชื่อนี้ ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้

       สงฆ์อุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ

       การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด 

       ผู้มีชื่อนี้ สงฆ์อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง

       ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ 


ภิกษุประพฤติอนาจาร


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 86 )  


       ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งพออุปสมบทแล้ว ได้ประพฤติอนาจาร

       ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวห้ามอย่างนี้ว่า

       อาวุโส คุณอย่าได้ทำอย่างนั้น เพราะนั่นไม่ควร 

       เธอกล่าวอย่างนี้ว่า กระผมมิได้ขอร้องท่านทั้งหลายว่า ขอจงให้กระผมอุปสมบท

       ท่านทั้งหลายมิได้ถูกขอร้องแล้ว ให้กระผมอุปสมบทเพื่ออะไร … ตรัสว่า 


       27.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มิได้รับการขอร้อง ไม่พึงอุปสมบทให้

       รูปใดอุปสมบทให้ ต้องอาบัติทุกกฏ 


       28.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ถูกขอร้องอุปสมบทให้ 


วิธีขออุปสมบท 

       29.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลอุปสัมปทาเปกขะพึงขออย่างนี้

       อุปสัมปทาเปกขะนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขออุปสมบท อย่างนี้ว่า 

       ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เจ้าข้า

       ขอสงฆ์โปรดเอ็นดูยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด เจ้าข้า 


       พึงขอแม้ครั้งที่สอง ... 


       พึงขอแม้ครั้งที่สาม ... 


       ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้ 


* * * กรรมวาจาให้อุปสมบท * * * ( 3 ) 

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ผู้มีชื่อนี้ ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้

       ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ

       ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ

       นี่เป็นญัตติ 


       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ผู้มีชื่อนี้ ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะ ของท่านผู้มีชื่อนี้

       ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ สงฆ์อุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ

       การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด


       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สอง ... 


       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สาม ... 


       ผู้มีชื่อนี้ สงฆ์อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง

       ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ 


* * * พราหมณ์ขออุปสมบท  

       ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนทั้งหลายได้จัดตั้งลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้ที่ในพระนครราชคฤห์  ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งได้มีความดำริว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ มีปกติเป็นสุข มีความประพฤติสบาย ฉันโภชนะที่ดี นอนบนที่นอนที่เงียบสงัด ถ้ากระไรเราพึงบวชในพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเถิด ดังนี้

       แล้วได้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย แล้วขอบรรพชา 

       ภิกษุทั้งหลายให้เขาบรรพชาอุปสมบทแล้ว

       ครั้นเขาบวชแล้ว ประชาชนให้เลิกลำดับภัตตาหารเสีย 

       ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า คุณจงมาเดี๋ยวนี้ พวกเราจักไปบิณฑบาตร

       เธอพูดอย่างนี้ว่า กระผมมิได้บวชเพราะเหตุนี้ว่า จักเที่ยวบิณฑบาต ถ้าท่านทั้งหลายให้กระผม กระผมจักฉัน ถ้าไม่ให้กระผม กระผมจะสึก ขอรับ 

       พวกภิกษุถามว่า อาวุโส ก็คุณบวชเพราะเหตุแห่งท้องหรือ

       เธอตอบว่า อย่างนั้นซิ ขอรับ 

       บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุจึงได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วอย่างนี้ …

       จริงหรือภิกษุ ข่าวว่า เธอบวชเพราะเหตุแห่งท้อง 

       จริง พระพุทธเจ้าข้า 

       ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้บวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งท้องเล่า

       ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... 


       30.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบทบอกนิสสัย 4 ว่าดังนี้ 

       1.บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต

       อดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ ภัตถวายในวันปาฏิบท


       2.บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต

       อดิเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. ( เช่นผ้าด้ายแกมไหม ) 


       3.บรรพชาอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต

       อดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ 


       4.บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต

       อดิเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -     


* * * ( 1 )  ดังปรากฏในหน้า 168 ของหนังสือเล่มนี้ – ผู้รวบรวม 


* * * ( 2 )  ภายหลังทรงบัญญัติเพิ่มเติมในรายละเอียด เกี่ยวกับการให้อุปสมบท ดังปรากฏในหน้า 247 ของหนังสือเล่มนี้ – ผู้รวบรวม


* * * ( 3 )  ภายหลังทรงบัญญัติเพิ่มเติมในรายละเอียด เกี่ยวกับกรรมวาจาให้อุปสมบท ดังปรากฏในหน้า 252 ของหนังสือเล่มนี้ – ผู้รวบรวม


* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : มหาขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : มหาขันธกะ : การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 184 , 185 , 186 , 187 , 188  



- END -