Sunday, June 20, 2021

ทรงอนุญาตบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทรงอนุญาตบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ 



อาจารโคจรสมฺปนฺนา ( ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร ) 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

อภิสมาจาริกาสิกขา : ระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม ประเพณี อันดีงามของสงฆ์ 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

คัมภีร์ มหาวรรค : เรื่องสำคัญ ที่ต้องทำเสมอ 

มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 ) 


มหาวรรค ภาค 2 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 5 ) 



คัมภีร์ จุลวรรค : เรื่องระเบียบกระบวนการสงฆ์ 

จุลวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 6 ) 

จุลวรรค ภาค 2 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 7 ) 



อริยวินัย ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ : อริยวินัย ที่มาในสุตตันตปิฎก 


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *  

คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 )  


มหาวรรค ภาค 1 : แบ่งเป็น 4 ขันธ์  มี 1,189 สิกขาบท 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

ขันธ์ที่ 1 : มหาขันธกะ หมวดใหญ่ 


ทรงอนุญาตบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 34 ) 


       ...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ณ ที่นี้ ได้มีใจปริวิตกเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า

       บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายพากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชา และผู้มุ่งอุปสมบทมาจากทิศต่างๆ จากชนบทต่างๆ ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคจักให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท

       ในเพราะเหตุนั้น ทั้งพวกภิกษุ ทั้งกุลบุตรผู้มุ่งบรรพชา และกุลบุตรผู้มุ่งอุปสมบท ย่อมลำบาก

       ผิฉะนั้น เราพึงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่นแหละ จงให้กุลบุตรทั้งหลายบรรพชาอุปสมบทในทิศนั้นๆ ในชนบทนั้นๆ เถิด 

       1.ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราอนุญาตพวกเธอนั่นแหละ จงให้กุลบุตรทั้งหลายบรรพชาอุปสมบทในทิศนั้นๆ ในชนบทนั้นๆ เถิด 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงให้กุลบุตรบรรพชาอุปสมบทอย่างนี้ 

       ชั้นแรก พวกเธอพึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชา และผู้มุ่งอุปสมบทปลงผมและหนวด แล้วให้ครองผ้ากาสายะ ให้ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วให้นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี สั่งว่าเธอจงว่าอย่างนี้

       แล้วให้ว่าสรณคมน์ ดังนี้ 

       ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

       ( พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ )  


       ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง 

       ( ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ )  


       ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง 

       ( สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ) 



       แม้วาระที่ 2 ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง 

       ( ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ) 


       แม้วาระที่ 2 ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง 

       ( ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ) 


       แม้วาระที่ 2 ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง 

       ( ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ )  



       แม้วาระที่ 3 ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง 

       ( ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ) 


       แม้วาระที่ 3 ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง

       ( ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ) 


       แม้วาระที่ 3 ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง 

       ( ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ) 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบรรพชาอุปสมบท ด้วยไตรสรณคมน์นี้ * * * ( 1 ) 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

* * * ( 1 ) ภายหลังทรงยกเลิกการให้อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ทรงให้ใช้ญัตติจตุตถกรรม ดังปรากฏในหน้า 184 ของหนังสือเล่มนี้ – ผู้รวบรวม  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -     


การเป็นอยู่อย่างบรรพชิต

       ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผู้ทำการให้อุปสมบท พึงบอกนิสสัยสี่ ( แก่ผู้อุปสมบทแล้ว ) ดังนี้ว่า 

       “การบรรพชา อาศัยการบริโภคคำข้าวที่หาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำความอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต ลาภที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษที่พึงรับได้คือ อาหารที่ถวายสงฆ์ , อาหารที่เฉพาะสงฆ์ , การนิมนต์เพื่อฉันอาหาร , อาหารที่ถวายตามสลาก , อาหารที่ถวายในปักษ์ , อาหารที่ถวายในวันอุโบสถ และอาหารที่ถวายในวันขึ้นหรือแรมหนึ่งค่ำ

       การบรรพชา อาศัย ( การนุ่งห่ม ) ผ้าบังสุกุลจีวร เธอพึงทำความอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษที่พึงรับได้คือ ผ้าเปลือกไม้ , ผ้าฝ้าย , ผ้าไหม , ผ้าขนสัตว์ , ผ้าป่าน และผ้าแกมกันหลายอย่าง 

       การบรรพชา อาศัยโคนต้นไม้เป็นที่อยู่อาศัย เธอพึงทำความอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต ลาภที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษที่พึงรับได้คือ วิหาร , เรือนมุงแถบเดียว , เรือนชั้น , เรือนโล้น และถ้ำ

       การบรรพชา อาศัยยาอันประกอบขึ้นด้วยมูตรเน่า เธอพึงทำความอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต ลาภที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษที่พึงรับได้คือ เนยใส , เนยข้น , น้ำมัน , น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย” ดังนี้ 


-บาลี มหา. วิ. 4/106/87. 


* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : มหาขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ทรงอนุญาตบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 164 , 165 , 166 , 167 , 168 , 169


- END -