Wednesday, June 30, 2021

มหาขันธกะ : ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง มหาขันธกะ : ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี 



ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี 

       1.ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าบ้านไม่เช้าเกินไป กลับไม่สายเกินไป แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี 


       2.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ ไม่เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ไม่มีหญิงหม้ายเป็นโคจร ไม่มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร ไม่มีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี 


       3.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อน สพรหมจารี ทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาพิจารณาสอดส่องในการนั้น อาจทำได้ อาจจัดการได้ แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี 


       4.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ เป็นผู้สนใจในการเรียนบาลี ในการเรียนอรรถกถา ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา* * * ( 1 )  แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี 


       5.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์

       ตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวติครูคนนั้น ติความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือ ของครูคนนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ

       เมื่อเขากล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ

       ก็หรือตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูคนนั้น สรรเสริญความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือ ของครูคนนั้น ย่อมโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ

       เมื่อเขากล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ ร่าเริง ชอบใจ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในข้อปฏิบัติที่ชวนให้สงฆ์ยินดี แห่งกุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี


       กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีเช่นนี้แล มาแล้วพึงอุปสมบทให้ 


       100.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ เปลือยกายมา ต้องแสวงหาจีวรซึ่งมีอุปัชฌายะเป็นเจ้าของ

       ถ้ายังมิได้ปลงผมมา สงฆ์พึงอปโลกน์ เพื่อปลงผม 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชฎิลผู้บูชาไฟเหล่านั้นมาแล้ว พึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้ปริวาสแก่พวกเธอ

       ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร

       ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะชฎิลเหล่านั้น เป็นกรรมวาที กิริยวาที


       101.ถ้าศากยะโดยกำเนิดเคยเป็น อัญญเดียรถีย์ มา เธอมาแล้วพึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้ปริวาสแก่เธอ

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราให้บริหารข้อนี้เป็นส่วนพิเศษเฉพาะหมู่ญาติ 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

* * * ( 1 ) ในส่วนนี้มีบาลีว่า “ติพฺพจฺฉนฺโท โหติ อุทฺเทเส ปริปุจฺฉาย อธิสีเล อธิจิตฺเต อธิปญฺญาย ฯ” ซึ่งในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาฯ พ.ศ.2535 แปลว่า เป็นผู้มีฉันทะแรงกล้าในอุทเทส ในปริปุจฉา ในอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา – ผู้รวบรวม



* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : มหาขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : มหาขันธกะ : ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 222 , 223



- END -