Monday, June 28, 2021

มหาขันธกะ : อาจริยวัตร

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง มหาขันธกะ : อาจริยวัตร



อาจริยวัตร


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 93 ) 


       43.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิก พึงประพฤติชอบในอาจารย์ 


       44.วิธีประพฤติชอบในอาจารย์นั้น ดังต่อไปนี้ 

       อันเตวาสิกพึงลุกแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มผ้าเฉวียงบ่า แล้วถวายไม้ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูอาสนะไว้

       ถ้ายาคูมี พึงล้างภาชนะแล้วน้อมยาคูเข้าไปถวาย

       เมื่ออาจารย์ดื่มยาคูแล้ว พึงถวายน้ำ

       รับภาชนะมา ถือต่ำๆ อย่าให้กระทบกัน ล้างให้สะอาดแล้วเก็บไว้

       เมื่ออาจารย์ลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ

       ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดเสีย 

       ถ้าอาจารย์ประสงค์จะเข้าบ้าน พึงถวายผ้านุ่ง พึงรับผ้านุ่งผลัดมา พึงถวายประคตเอว พึงพับผ้าสังฆาฏิให้เป็นชั้นถวาย พึงล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำด้วย 

       ถ้าอาจารย์ปรารถนาให้เป็นปัจฉาสมณะ พึงปกปิดมณฑลสาม นุ่งให้เป็นปริมณฑล แล้วคาดประคตเอว ห่มสังฆาฏิทำเป็นชั้น กลัดดุม ล้างบาตรแล้วถือไป เป็นปัจฉาสมณะของอาจารย์

       ไม่พึงเดินให้ห่างนัก ไม่พึงเดินให้ชิดนัก

       พึงรับวัตถุที่เนื่องในบาตร 

       เมื่ออาจารย์กำลังพูด ไม่พึงพูดสอดขึ้นในระหว่าง

       อาจารย์กล่าวถ้อยคำใกล้ต่ออาบัติพึงห้ามเสีย

       เมื่อกลับ พึงมาก่อนแล้วปูอาสนะที่นั่งฉันไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งผลัด พึงรับผ้านุ่งมา 

       ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดไว้ครู่หนึ่ง แต่ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด

       พึงพับจีวร เมื่อพับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน 4 นิ้ว ด้วยตั้งใจมิให้มีรอยพับตรงกลาง

       พึงทำประคตเอวไว้ในขนดอันตรวาสก

       ถ้าบิณฑบาตมี และอาจารย์ประสงค์จะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาตเข้าไปถวาย

       พึงถามอาจารย์ด้วยน้ำฉัน

       เมื่ออาจารย์ฉันแล้ว พึงถวายน้ำ

       รับบาตรมา ถือต่ำๆ อย่าให้กระทบ ล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วผึ่งไว้ที่แดดครู่หนึ่ง แต่ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด 

       พึงเก็บบาตรจีวร

       เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง แล้วจึงเก็บบาตร แต่ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง

       เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวร หรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ทำขนดไว้ข้างใน แล้วจึงเก็บจีวร 

       เมื่ออาจารย์ลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า

       ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย 

       ถ้าอาจารย์ใคร่จะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย

       ถ้าต้องการน้ำเย็น พึงจัดน้ำเย็นถวาย

       ถ้าต้องการน้ำร้อน พึงจัดน้ำร้อนถวาย 

       ถ้าอาจารย์ประสงค์จะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุณ แช่ดิน หรือถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วเดินตามหลังอาจารย์ไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

       พึงถวายจุณ ถวายดิน ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงเข้าเรือนไฟ

       เมื่อเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้า ปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง แล้วเข้าเรือนไฟ

       ไม่พึงนั่งเบียดภิกษุผู้เถระ ไม่พึงห้ามกันอาสนะภิกษุใหม่ พึงทำบริกรรมแก่อาจารย์ในเรือนไฟ

       เมื่อออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง ออกจากเรือนไฟ 

       พึงทำบริกรรมแก่อาจารย์แม้ในน้ำ

       อาบเสร็จแล้ว พึงขึ้นมาก่อน

       ทำตัวของตนให้แห้งน้ำ นุ่งผ้าแล้วพึงเช็ดน้ำจากตัวของอาจารย์

       พึงถวายผ้านุ่ง พึงถวายผ้าสังฆาฏิ

       ถือเอาตั่งสำหรับเรือนไฟมาก่อน แล้วปูอาสนะไว้ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงถามอาจารย์ด้วย
น้ำฉัน 

       ถ้าประสงค์จะเรียนบาลี พึงขอให้อาจารย์แสดงบาลีขึ้น

       ถ้าประสงค์จะสอบถามอรรถกถา พึงสอบถาม * * * ( 1 )  

       อาจารย์อยู่ในวิหารแห่งใด ถ้าวิหารแห่งนั้นรก ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงปัดกวาดเสีย

       เมื่อปัดกวาดวิหาร พึงขนบาตรจีวรออกก่อน แล้ววางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

       พึงขนผ้าปูนั่งและผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง 

       เตียงตั่ง อันเตวาสิกพึงยกต่ำๆ อย่าให้ครูดสี อย่าให้กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนออกให้เรียบร้อย แล้วตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

       เขียงรองเตียง กระโถน พนักอิง พึงขนออกตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

       เครื่องปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม แล้วขนออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง 

       ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน 

       กรอบหน้าต่างและมุมห้องพึงเช็ดเสีย

       ถ้าฝาเขาทำบริกรรมด้วยน้ำมัน หรือพื้นเขาทาสีดำขึ้นรา พึงเอาผ้าเช็ดน้ำบิดแล้วเช็ดเสีย

       ถ้าพื้นเขามิได้ทำ พึงเอาน้ำประพรมแล้วเช็ดเสีย

       ระวังอย่าให้วิหารฟุ้งด้วยธุลี พึงกวาดหยากเยื่อทิ้งเสีย ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง 

       เครื่องลาดพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ เคาะ ปัด แล้วขนกลับปูไว้ตามเดิม 

       เขียงรองเตียงพึงผึ่งแดด ขัด เช็ด แล้วขนกลับตั้งไว้ที่เดิม

       เตียงตั่งพึงผึ่งแดดขัดสี เคาะเสีย ยกต่ำๆ อย่าให้ครูดสี กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนกลับไปให้ดีๆ แล้วตั้งไว้ตามเดิม

       ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน พึงผึ่งแดดทำให้สะอาด ตบเสีย แล้วนำกลับวางปูไว้ตามเดิม

       กระโถน พนักอิง พึงผึ่งแดด เช็ด ถูเสีย แล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม 

       พึงเก็บบาตรจีวร เมื่อเก็บบาตร

       พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง แล้วจึงเก็บบาตร แต่ไม่พึงเก็บบาตร บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง 

       เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ทำขนดไว้ข้างใน แล้วเก็บจีวร

       ถ้าลมเจือด้วยผงคลี พัดมาแต่ทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก

       ถ้าพัดมาแต่ทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก

       ถ้าพัดมาแต่ทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ

       ถ้าพัดมาแต่ทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้

       ถ้าฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน 

       ถ้าฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน

       ถ้าบริเวณ ซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟ วัจจกุฎี รก พึงปัดกวาดเสีย

       ถ้าน้ำฉัน น้ำใช้ไม่มี พึงจัดตั้งไว้

       ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำมาไว้ในหม้อชำระ 

       ถ้าความกระสันบังเกิดแก่อาจารย์ อันเตวาสิก พึงช่วยระงับ หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยระงับ หรือพึงทำธรรมีกถาแก่อาจารย์นั้น

       ถ้าความรำคาญบังเกิดแก่อาจารย์ อันเตวาสิก พึงช่วยบรรเทา หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือพึงทำธรรมีกถาแก่อาจารย์นั้น 

       ถ้าความเห็นผิดบังเกิดแก่อาจารย์ อันเตวาสิก พึงให้สละเสีย หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย หรือพึงทำธรรมีกถาแก่อาจารย์นั้น

       ถ้าอาจารย์ต้องอาบัติหนัก ควรปริวาส อันเตวาสิก พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อาจารย์

       ถ้าอาจารย์ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม อันเตวาสิก พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอาจารย์เข้าหาอาบัติเดิม 

       ถ้าอาจารย์ควรมานัต อันเตวาสิก พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อาจารย์

       ถ้าอาจารย์ควร อัพภาน อันเตวาสิก พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอสงฆ์พึง อัพภาน อาจารย์

       ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะทำกรรมแก่อาจารย์ คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม อันเตวาสิก พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อาจารย์ หรือสงฆ์พึงน้อมไปเพื่อกรรมสถานเบา

       หรืออาจารย์นั้นถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว อันเตวาสิก พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อาจารย์พึงประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงประพฤติแก้ตัว สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย 

       ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องซัก อันเตวาสิก พึงซัก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงซักจีวรของอาจารย์

       ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องทำ อันเตวาสิก พึงทำ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงทำจีวรของอาจารย์

       ถ้าน้ำย้อมของอาจารย์จะต้องต้ม อันเตวาสิก พึงต้ม หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงต้มน้ำย้อมของอาจารย์

       ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องย้อม อันเตวาสิก พึงย้อม หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงย้อมจีวรของอาจารย์

       เมื่อย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาให้ดีๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไปเสีย

       อันเตวาสิก ไม่บอกอาจารย์ก่อน ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงปลงผมให้ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำความขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งให้ภิกษุบางรูปทำความขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึงพาภิกษุบางรูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปให้ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปนำบิณฑบาตมาให้

       ไม่บอกลาอาจารย์ก่อน ไม่พึงเข้าบ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงหลีกไปสู่ทิศ

       ถ้าอาจารย์อาพาธ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าจะหาย


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

* * * ( 1 ) 
ในส่วนนี้ บาลีมีว่า “สเจ อุทฺทิสาเปตุกาโม โหติ อุทฺทิสาเปตพฺโพ สเจ ปริปุจฺฉิตุกาโม โหติ ปริปุจฺฉิตพฺโพ ฯ” ซึ่งในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาฯ พ.ศ.2435 แปลว่า “ถ้าอาจารย์ต้องการจะให้เรียน พึงเรียน ถ้าอาจารย์ต้องการจะให้สอบถามอรรถ พึงสอบถาม” – ผู้รวบรวม 
   

- END -