คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง มหาขันธกะ : ทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆิกาวาส
เรื่อง มหาขันธกะ : ทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆิกาวาส
ทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆิกาวาส
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 63 )
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
จึงพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงอังคาส ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ จนให้พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ห้ามภัตแล้ว จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท้าวเธอได้ทรงพระราชดำริว่า
พระผู้มีพระภาคพึงประทับอยู่ ณ ที่ไหนดีหนอ ซึ่งจะเป็นสถานที่ไม่ไกล ไม่ใกล้จากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคม ควรที่ประชาชนผู้ต้องประสงค์จะเข้าไปเฝ้าได้ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่กึกก้อง ปราศจากลมแต่ชนที่เดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด และควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย
แล้วได้ทรงพระราชดำริต่อไปว่า สวนเวฬุวันของเรานี้แล ไม่ไกลไม่ใกล้จากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคม ควรที่ประชาชนผู้ต้องประสงค์จะพึงเข้าไปเฝ้าได้ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่กึกก้อง ปราศจากลมแต่ชนที่เข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด และควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย
ผิฉะนั้น เราพึงถวายสวนเวฬุวันแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ดังนี้
ลำดับนั้น จึงทรงจับพระสุวรรณภิงคาร ทรงหลั่งน้ำน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคด้วยพระราชดำรัสว่า หม่อมฉันถวายสวนเวฬุวันนั่นแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงรับอารามแล้ว และทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอม เสนามาคธราชทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ
ต่อมา พระองค์ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
2.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : มหาขันธกะ / หัวข้อย่อยรองลงมา : มหาขันธกะ : ทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆิกาวาส
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 169 , 170
- END -