Wednesday, June 30, 2021

มหาขันธกะ : ติตถิยปริวาส

 

คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง มหาขันธกะ : ติตถิยปริวาส



ติตถิยปริวาส 


( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 100 ) 


       96.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ อันพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม ได้ยกวาทะของอุปัชฌายะเสีย แล้วเข้าไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม มาแล้ว

       ไม่พึงอุปสมบทให้ 


       97.แม้ผู้อื่นที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ พึงให้ปริวาส 4 เดือนแก่เธอ 


       98.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้ ติตถิยปริวาส อย่างนี้


วิธีให้ติตถิยปริวาส

       ชั้นต้น พึงให้กุลบุตรที่เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระหย่ง ให้ประคองอัญชลี สั่งว่า จงว่าอย่างนี้ 

       แล้วให้ว่าสรณคมน์ ดังนี้ 

* * * ไตรสรณคมน์ 

       พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

       ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง 


       ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

       ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง 


       สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ 

       ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง 


       ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

       ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สอง 


       ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

       ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สอง 


       ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ 

       ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สอง 


       ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

       ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สาม 


       ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ 

       ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สาม 


       ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ 

       ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สาม 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรที่เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขอติตถิยปริวาสอย่างนี้ ว่าดังนี้


* * * คำขอติตถิยปริวาส

       ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าผู้มีชื่อนี้ เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้

       ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้น ขอปริวาส 4 เดือนต่อสงฆ์ 

       พึงขอแม้ครั้งที่สอง 

       พึงขอแม้ครั้งที่สาม 

       ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ-ทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้ 


* * * กรรมวาจาให้ ติตถิยปริวาส

       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส 4 เดือนต่อสงฆ์

       ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ปริวาส 4 เดือน แก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์

       นี่เป็นญัตติ 


       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

       ผู้มีชื่อนี้ เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส 4 เดือนต่อสงฆ์

       สงฆ์ให้ปริวาส 4 เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์

       การให้ปริวาส 4 เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง

       ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

       ปริวาส 4 เดือน สงฆ์ให้แล้วแก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง

       ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ 


       99.ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็น อัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้ และ เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้ 


* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ มหาวรรค ภาค 1 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 4 )  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 1 : มหาขันธกะ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : มหาขันธกะ : ติตถิยปริวาส 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 218 , 219 , 220
 


- END -