Sunday, September 18, 2022

คืน/ทำคืน

 




ถาม : คำว่า "ทำคืน" ในพระไตรปิฎก มีความหมายโดยละเอียดอย่างไรบ้างคะ


ตอบ : ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น 

       ดูก่อนภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาดซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้วบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้ว ทำคืน ตามธรรม เราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ

       ทำคืน คือ การที่บุคคลรู้ว่าตนเองทำผิด เมื่อทำผิดแล้ว ก็ทำคืนตามธรรม คือโดยถูกต้อง การทำคืน จึงหมายถึงการแสดงโทษของตนเองว่าตนเองทำผิดเพื่อที่จะได้แก้ไขตนเองและประพฤติในสิ่งที่ดีต่อไปครับ 

       การทำคืน จึงเป็นการยอมรับโทษและแสดงโทษให้ผู้อื่นทราบเพื่อแก้ไข ครับ  

       สำหรับเพศพระภิกษุ ท่านย่อมล่วงอาบัติ ข้อบัญญัติของพระภิกษุ เมื่อทำผิดแล้วรู้ว่าตนเองทำผิดย่อมจะต้องมีการทำคืน คือ การแก้ไขในสิ่งที่ทำผิดไปแล้ว เช่น หากต้องอาบัติเล็กน้อย

       การทำคืนที่ถูกต้อง ก็คือ การปลงอาบัติ นี่คือ การทำคืนที่ถูกต้อง คือ การกระทำที่แก้ไขให้ออกจากอาบัติ

       และ หากอาบัติหนัก มีสังฆาทิเสสก็ต้องทำการทำคืนที่ถูกต้อง สมควรแก่กรรมนั้น คือ การอยู่ปริวาส 

       แต่ถ้าเป็นการทำปาราชิก มีการเห็นโทษได้ แต่กรรมนั้น ทำคืนไม่ได้ คือ ไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาได้เป็นเพศพระภิกษุได้ครับ 

       ดังนั้น การทำคืนตามธรรม คือ การประพฤติแก้ไขตนเองให้เหมาะสมกับกรรมที่ได้ทำผิดไปครับ ทำคืน คืนจากผิดมาสู่สิ่งที่ถูก ครับ

       ชีวิตประจำวันของปุถุชน เป็นธรรมดาที่ย่อมมีการทำผิดไปบ้างด้วยอำนาจกิเลส แต่เมื่อทำผิดแล้ว ผู้ที่เป็นบัณฑิต ย่อมเห็นโทษของกิเลสนั้น และตั้งใจประพฤติสิ่งที่ดีใหม่ด้วยการแก้ไขพฤติกรรม ก็ชื่อว่า เป็นการทำคืน

       ทำคืนจากที่เคยกระทำผิด มาสู่การกระทำที่ถูกขึ้น ก็จะเป็นผู้เจริญในพระศาสนา เพราะ ผู้ที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืน ประพฤติสิ่งที่ดีใหม่ กุศลย่อมเจริญขึ้น เพราะเห็นโทษของกิเลส แม้กิเลสจะเกิดอยู่เป็นธรรมดา แต่ปัญญาก็ค่อยๆ เห็นโทษกิเลสนั้น กุศลก็เกิดสลับด้วย ครับ และเมื่อมีผู้อื่นทำผิด แล้วผู้นั้นขอโทษ ผู้ที่เป็นบัณฑิต ก็ย่อมรับโทษของผู้นั้นโดยธรรม คือให้อภัย เพราะเขาได้สำนึกและเห็นโทษในการกระทำของเขาแล้ว ครับ 

       ความเป็นผู้ที่เห็นโทษในการกระทำผิด และ ทำคืน แก้ไขในสิ่งที่ถูกต้อง และให้อภัยผู้อื่น เมื่อผู้อื่นรับผิด แสดงโทษ จึงเป็นคุณธรรมของบัณฑิตและสิ่งเหล่านี้จะเกิดเจริญขึ้นได้ ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น เพราะปัญญานั่นเองที่จะรู้ว่าอะไรเป็นโทษ ไม่เป็นโทษ และจะปรับปรุงแก้ไข ทำคืนถูกต้องอย่างไร ครับ 



ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://www.dhammahome.com/webboard/topic/20996  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  




- จบ -