อัญญเดียรถีย์ ( อ่านว่า อัน-ยะ-เดีย-ระ-ถี ) คือ ผู้ถือลัทธินอกพระพุทธศาสนา
ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://dekgenius.com/dictionary/religion/buddhism-1614.htm
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
อัญเดียรถีย์
บางทีก็แฝงอยู่ในพระศาสนานี้เอง
อ่านว่า อัน-ยะ-เดีย-ระ-ถี
ประกอบด้วยคำว่า อัญ + เดียรถีย์
( 1 ) “อัญ”
บาลีเป็น “อญฺญ” ( อัน-ยะ , ญหญิง 2 ตัว ) รากศัพท์มาจาก น ( คำนิบาต = ไม่ , ไม่ใช่ ) + ญา ( ธาตุ = รู้ ) + อ ( อะ ) ปัจจัย , แปลง น เป็น อ , ซ้อน ญฺ ระหว่างนิบาตกับธาตุ ( น + ญฺ+ ญา ) , “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ญา ( ญา > ญ )
: น > อ+ ญฺ + ญา = อญฺญา > อญฺญ + อ = อญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาไม่รู้”
“อญฺญ” ( คุณศัพท์ ) หมายถึง อื่น , ไม่เหมือนกัน , ต่างกัน , อันอื่น , คนอื่น ( other , not the same , different , another , somebody else )
“อญฺญ” ภาษาไทย ถ้าเป็นส่วนหน้าของคำสมาส ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อัญ-”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัญ- , อัญญะ : ( คำวิเศษณ์ ) อื่น , ต่างไป , แปลกไป ( ป. อญฺญ; ส. อนฺย )”
( 2 ) “เดียรถีย์”
บาลีเป็น “ติตฺถิย” รากศัพท์มาจาก ติตฺถ + อิย ปัจจัย
( ก ) “ติตฺถ” ( ติด-ถะ ) รากศัพท์มาจาก ตรฺ ( ธาตุ = ข้าม ) + ถ ปัจจัย , แปลง อะ ที่ ต- ( รฺ ) เป็น อิ , แปลง ร เป็น ต ( ตรฺ > ติรฺ > ติตฺ )
: ตรฺ + ถ = ตรถ > ติรถ > ติตฺถ แปลตามศัพท์ว่า ( 1 ) “ที่เป็นเครื่องข้ามฟาก” ( 2 ) “ที่เป็นที่ข้ามฟาก” ( 3 ) “ความเห็นเป็นที่ให้สัตว์ทั้งหลายกระโดดดำผุดดำว่ายอยู่ในทิฐิหกสิบสอง”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ ( ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ , ราชบัณฑิต ) แปล “ติตฺถ” ว่า ท่าน้ำ , ครูอาจารย์ , เหตุ , ลัทธิ , ทิฐิ , น้ำศักดิ์สิทธิ์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ติตฺถ” ดังนี้ –
( 1 ) a fording place , landing place , which made a convenient bathing place ( สถานที่ลุยน้ำข้ามฟาก , ท่าน้ำซึ่งเป็นสถานที่อาบน้ำอย่างเหมาะเจาะ )
( 2 ) a sect ( นิกายทางศาสนา )
ในที่นี้ “ติตฺถ” ซึ่งแต่เดิมหมายถึง ท่าน้ำ แต่ความหมายโดยนัยกลายเป็นนิกายทางศาสนา
( ข ) ติตฺถ + อิย ปัจจัย
: ติตฺถ + อิย = ติตฺถิย แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบในลัทธิ”
บาลี “ติตฺถิย” ภาษาไทยใช้เป็น “เดียรถีย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เดียรถีย์ : ( คำนาม ) นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล ( ส. ตีรฺถิย ; ป. ติตฺถิย )”
อญฺญ + ติตฺถิย = อญฺญติตฺถิย( อัน-ยะ-ติด-ถิ-ยะ ) แปลตามศัพท์ว่า “พวกประกอบในลัทธิอื่นโดยอาการที่ไม่รู้” หมายถึง ผู้ถือลัทธิอื่น , ผู้มิใช่ชาวพุทธ , เดียรถีย์ ( an adherent of another sect , a non-Buddhist )
“อญฺญติตฺถิย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อัญดิตถีย์” ( อัน-ยะ-ดิด-ถี ) และ “อัญเดียรถีย์” ( อัน-ยะ-เดีย-ระ-ถี )
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554บอกไว้ว่า –
“อัญดิตถีย์, อัญเดียรถีย์ : ( คำนาม ) พวกที่มีความเชื่อถืออย่างอื่น , พวกนอกพระพุทธศาสน. ( ป. อญฺญติตฺถิย ; ส. อนฺย + ตีรฺถฺย )”
อภิปรายขยายความ :
“ติตฺถ” ตามตัวแปลว่า “ข้ามไป” ความหมายที่เข้าใจกันคือ ท่าน้ำ , ท่าเรือ , ฝั่ง , ท่าลง , ช่องลง , อวตาร ( การลงมาแก้ปัญหา ) , ผู้สอน , ครู , อุบาย , ทฤษฎี , ลัทธิ , ความเชื่อถือ
แนวคิดเชิงปรัชญามองว่า
- ปัญหาชีวิตเปรียบเหมือนฟากฝั่งที่กำลังยืนอยู่
- การแก้ปัญหาได้สำเร็จหรือหลุดพ้นจากปัญหาเปรียบเหมือนการข้ามไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง
- ผู้ทำหน้าที่ชี้ทางแก้ปัญหาเปรียบเหมือนท่าน้ำอันเป็นที่ข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง
“ติตฺถิย” มีความหมายตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ในฐานะเป็นท่าน้ำ” ( เป็นความหมายเชิงปรัชญา )
“ติตฺถิย- เดียรถีย์” คำเดิมจึงหมายถึง “เจ้าลัทธิ”
พระศรีศากยมุนีโคดมทรงศึกษาคำสอนของเจ้าลัทธิทั้งปวงจบสิ้นแล้วจึงทรงประกาศพระพุทธศาสนาอันมีคำสอนที่แตกต่างจากลัทธิทั้งหลายโดยสิ้นเชิง คำว่า “เดียรถีย์” จึงมีความหมายว่า “เจ้าลัทธินอกพระพุทธศาสนา”
เรามักใช้คำว่า “เดียรถีย์” ในความหมายว่า ผู้กระทำการลบหลู่จ้วงจาบพระพุทธศาสนาหรือแสดงคำสอนที่วิปริตผิดธรรมวินัย
เส้นแบ่งความหมายที่น่าจะชัดเจน คือ -
1 ผู้กระทำการลบหลู่จ้วงจาบพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นบุคคลภายนอก เรียกว่า “เดียรถีย์” ถ้าเป็นบุคคลภายในก็ขาดจากความเป็นชาวพุทธทันที
2 พระสงฆ์ที่ประพฤติล่วงละเมิดหรือแสดงคำสอนที่วิปริตผิดธรรมวินัย มีคำเรียกอยู่แล้วว่า “อลัชชี” ( ผู้ไร้ยางอาย )
“เดียรถีย์” และ “อัญเดียรถีย์” มีความหมายเหมือนกัน
ภาษาไทยมักพูดกันว่า “เดียรถีย์” และแทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “อัญเดียรถีย์”
ความจริงเตือนใจ :
- พระพุทธศาสนาไม่มีคำสอนและไม่เคยมีประวัติที่ทำลายหรือทำร้ายต่างศาสนา
- เคยมีแต่ถูกทำลายหรือถูกทำร้ายโดยต่างศาสนา รวมทั้งโดยผู้ที่อยู่ในพระพุทธศาสนาด้วยกันนี่เอง-โดยเฉพาะที่มีความเห็นและความประพฤติวิปริผิดจากคำสอนที่ถูกต้อง
ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : http://dhamma.serichon.us/2020/09/23/อัญเดียรถีย์-บางทีก็แฝง/
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
- จบ -